สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Venture Capital ไหมล่ะ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดย ชาย มโนภาส (คนขายของ)

ทุนที่ใช้ในการก่อตั้งบริษัทแบบดั้งเดิม มักเริ่มด้วยการใช้เงินออมของผู้ก่อตั้ง หรือไม่ก็มีบางกรณีที่ผู้ก่อตั้งใช้ทั้งเงินส่วนตัว และเงินกู้จากธนาคารในการเริ่มต้นกิจการ

คำว่า "Venture Capital" (VC) นั้น เพิ่งมาเป็นที่รู้จักกันจริงจังหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นชื่อเรียก "การระดมทุนเพื่อการร่วมลงทุน" ซึ่งโดยมากเน้นลงทุนในธุรกิจที่เพิ่งก่อตั้ง (Startup) โดยกลุ่มทุนนี้จะคอยสนับสนุนเงินทุนให้แก่ผู้ก่อตั้งบริษัท พร้อมทั้งคอยให้คำแนะนำในการทำธุรกิจ และใช้สายสัมพันธ์ที่มีอยู่ช่วยเกื้อหนุน เพื่อแลกกับการเป็นหุ้นส่วนของบริษัท


กลุ่มทุนนี้มักจะรอคอยจนถึงวันที่บริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วค่อยขายทำเงิน หรือไม่ก็รอถึงวันที่บริษัทขนาดใหญ่มาซื้อไป

Instagram เป็นแอปพลิเคชั่นเพื่อการแชร์รูปถ่ายทางโทรศัพท์มือถือ ก่อตั้งโดยนักศึกษาสแตนฟอร์ด 2 คน นามว่า Kevin Systrom และ Mike Krieger ในเดือนตุลาคมปี 2010 ภายใน 3 เดือนมีผู้ใช้งานถึง 1 ล้านคน และกลายเป็น 15 ล้านคนในเดือนมกราคม 2012

เว็บไซต์ crushbase.com ได้รวบรวมข้อมูลการระดมทุนของ Instagram ตั้งแต่ก่อตั้งว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 รอบ รอบแรกในปี 2010 ได้เงิน 500,000 เหรียญสหรัฐ รอบสองในปี 2011 ได้เงินไป 7 ล้านเหรียญสหรัฐ และรอบสุดท้ายในปี 2012 ได้เงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมสามรอบบริษัทระดมทุนไป 57.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากนั้นไม่นาน Facebook ได้ประกาศซื้อกิจการ Instagram เป็นเงินถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ สร้างผลตอบแทนจำนวนมหาศาลให้กับ Venture Capital อย่าง Baseline Ventures ซึ่งร่วมลงทุนมาตั้งแต่รอบแรก

Rob Hayes หนึ่งในหุ้นส่วนของ "First Round Capital" รู้จัก "Uber" (แอปเรียกรถแท็กซี่ทางโทรศัพท์มือถือ) โดยบังเอิญเพราะเห็นข้อความที่ Garrett Camp ผู้ก่อตั้ง Uber ได้ทวีตไว้ หลังจากนั้น เขาได้ศึกษากิจการของ Uber มากขึ้น และเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ร่วมลงทุนกับ Garrett โดยเงินก้อนแรกที่กองทุน "First Round Capital" ใส่ลงไปมีมูลค่าแค่ 5 แสนเหรียญในปี 2010

นิตยสารฟอร์จูนประเมินในเดือนมิถุนายน2014 ว่า เงินตั้งต้นของผู้ร่วมลงทุนใน Uber โตขึ้นมาถึง 2,000 เท่า ซึ่งในตอนนี้Uber เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง และมีผู้ร่วมลงทุนชื่อดังถือหุ้นกันมากมาย เช่น Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon.com, Google Ventures, Microsoft และ Baidu ของจีน

ถึงแม้ตัวเลขผลตอบแทนจะดูน่าเย้ายวนมาก แต่จากการศึกษา VC โดยอาจารย์ Shikar Ghosh ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งทำการศึกษาบริษัทสตาร์ตอัพ 1,000 บริษัทที่ได้รับเงินอย่างต่ำ 1 ล้านเหรียญสหรัฐจาก VC ในช่วงปี 2004-2010 พบว่าการลงทุนในสตาร์ตอัพนั้นล้มเหลวถึง 75%

Diane Mulcahy ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ VC ลงใน Harvard Business Review ระบุว่า จากการศึกษาการลงทุนของ Kauffman Foundation ที่ลงทุนใน 100 กองทุน VC ในรอบ 20 ปี พบว่ามีถึง 62 กองที่แพ้การลงทุนในดัชนีหุ้นขนาดเล็ก แต่ถึงกระนั้นก็ตามมหาเศรษฐีของโลก เช่น Bill Gates, Richard Branson เจ้าของ Virgin Group และ Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba.com ก็ล้วนแต่มีการลงทุนใน VC ทั้งสิ้น

ก่อนที่จะลงทุนใน VC นักลงทุนควรทำความเข้าใจก่อนว่า การลงทุนใน VC นั้นถือเป็นการลงทุนประเภทเสี่ยงสูง และให้ผลตอบแทนสูง จากผลการศึกษาการลงทุนในสตาร์ตอัพมีถึงประมาณ 30-40% ที่ผู้ลงทุนต้องสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดไปแบบไม่ได้คืน กรณีประสบความสำเร็จก็พอมีให้เห็นอยู่ แต่ที่ให้ผลตอบแทนแบบเป็นร้อยเป็นพันเท่า คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มีไม่มาก ส่วนหลายบริษัทมีเรื่องราว มีกลยุทธ์เล่ากันได้เป็นวัน แต่เพิ่มทุนหลายรอบและไม่มีกำไรสักที นักลงทุนต้องทนกับการขาดสภาพคล่องเพราะหุ้นไม่อยู่ในตลาดจะขายต่อก็ยาก

ดังนั้น หากท่านใดสนใจลงทุนแนวนี้ก็ขอให้ศึกษาเกี่ยวกับบริษัทที่ VC ของท่านจะไปลงทุนให้มาก มี Startup หลายบริษัทที่ผู้ก่อตั้งขึ้นเวทีบรรยายแผนงานทางธุรกิจให้แก่นักลงทุนฟัง ถ้าเป็นไปได้ควรเข้าร่วม

แต่ถ้าท่านจะลงทุนแบบเสี่ยงโชค ไม่ศึกษาหาข้อมูล ไม่ติดตามข่าวสารการลงทุนของ VC ถ้าเป็นแบบนั้นคงไม่เรียกว่า "การลงทุน" แต่ออกแนวเป็น "การพนัน" มากกว่า


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Venture Capital

view