สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่า10ประเด็นร้อน ชี้ชะตาร่างรธน

ผ่า10ประเด็นร้อน ชี้ชะตาร่างรธน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับสมบูรณ์ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวันที่ 6 ก.ย.

สำหรับขั้นตอนในวันลงมติ “เทียนฉาย กีระนันทน์” ประธาน สปช. กำหนดให้ลงคะแนนแบบเปิดเผยด้วยการขานชื่อสมาชิก สปช.เป็นรายบุคคล โดยการตัดสินว่าร่างรัฐธรรมนูญจะได้รับความเห็นชอบหรือไม่จะใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิก สปช. เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน คือ 124 เสียงจากสมาชิก สปช. 248 คน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครรู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่าน สปช.หรือไม่ เนื่องจาก สปช.เพิ่งได้รับเอกสารเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่มีปัจจัยที่เป็นประเด็นร้อนในร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 10 ข้อที่อาจเป็นตัวชี้ขาดร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป

1.ที่มานายกรัฐมนตรี อาจเรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดเลยก็ได้ เดิมทีรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 บัญญัติให้นายกฯ ต้องเป็น สส. แต่มาครั้งนี้คณะ กมธ.ยกร่างฯ ออกแบบให้นายกฯ มีที่มาจาก 2 ทางด้วยกัน ประกอบด้วย 1.สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกจากบุคคล สส. โดยใช้มติเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา หรือ 235 เสียงจาก สส.เต็มจำนวนทั้งหมด 470 คน 2.สภาลงมติเลือกจากบุคคลที่ไม่ได้เป็น สส. แต่ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3  หรือ 313 เสียงจาก สส.ทั้งหมด 470 คน

หากเกิดกรณีสุดวิสัยที่สภาไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ภายใน 30 วัน ได้กำหนดให้ประธานสภานัดประชุมเพื่อเลือก นายกฯ อีกครั้งใน 15 วัน และถ้าสภายังไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ สภาต้องถูกยุบและจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน

2.การเลือกตั้ง สส. กมธ.ยกร่างฯ วางหลักให้มี สส.450-470 คน แบ่งเป็น สส.เขต 300 คน และ สส.บัญชีรายชื่อ 150-170 คน เป็นครั้งแรกที่นำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนจากประเทศเยอรมนีมาใช้ ซึ่งมีความซับซ้อน คือ ให้พรรคการเมืองได้จำนวนตามคะแนนความนิยมที่เป็นจริง

เช่น ถ้าพรรรค ก. ได้คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 40% และ จำนวน สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเกิน 40% จากทั้งหมด 300 คน แล้ว พรรคการเมืองนั้นจะไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่ออีก ซึ่งระบบดังกล่าวได้รับเสียงวิจารณ์ว่าทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

3.การได้มาซึ่ง สว. วุฒิสภาชุดใหม่ยังเป็นระบบสองน้ำเหมือนเดิม ได้แก่ 1.จากการเลือกตั้ง 77 คน (จังหวัดละ 1 คน) และ 2.สว.สรรหา จำนวน 123 คน แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันดำเนินการเลือก สว.สรรหาก่อน 123 คน โดยให้ สว.สรรหาที่มาจากช่องทางนี้มีวาระอยู่ในตำแหน่ง 3 ปี

4.การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในอดีตการถอดถอนจะเป็นของวุฒิสภาฝ่ายเดียว แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แยกอำนาจถอดถอนเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ให้รัฐสภา (สภาและวุฒิสภา) มีอำนาจถอดถอนนายกฯ รัฐมนตรี สส. และ สว. โดยใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา 2.ให้อำนาจวุฒิสภาถอดถอนตุลาการศาล ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ สว.

5.การดำเนินคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพราะในร่างรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ สส. และ สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกาเพื่อขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตั้งผู้ไต่สวนอิสระจำนวนไม่เกิน 3 คน ทำหน้าที่ไต่สวนกรณีการกล่าวหานายกฯ รัฐมนตรี ประธานสภา หรือประธานวุฒิสภา กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนคดีล่าช้าหรือไต่สวนแล้วแต่ไม่ชี้มูลความผิด

6.เครื่องมือป้องกันประชานิยม ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาพรรคการเมืองหลายพรรคได้ใช้นโยบายประชานิยมกันมหาศาลจนส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศ ด้วยเหตุผลนี้ทำให้คณะ กมธ.ยกร่างฯ บัญญัติในมาตรา 189 เพื่อป้องกันนโยบายที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ  การอนุมัติโครงการ ให้วิเคราะห์ภาระงบประมาณและภาระทางการคลัง ทั้งในระยะสั้นและยาว ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และให้ระบุปริมาณและแหล่งที่มาของเงินในการสนับสนุนการดำเนินนโยบาย

7.อำนาจศาล คณะ กมธ.ยกร่างฯ ยังให้มีศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และศาลทหารเอาไว้ แต่ได้ปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่อย่างมีนัยสำคัญ เช่น ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาคดีเลือกตั้งสส.และการได้มาซึ่งสว. ทั้งการให้ใบเหลืองและใบแดง แต่ให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาสู้คดีใบแดงในชั้นศาลฎีกาได้อีกครั้ง รวมถึงให้มีศาลปกครองมีแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ เพื่อวินิจฉัยกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้เงินแผ่นดินจนสร้างความเสียหาย

8.มาตรการให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เช่น การออกกฎหมายสำคัญตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการได้รับประโยชน์จากรัฐ ซึ่งคณะ กมธ.ยกร่างฯ ได้แก้ไขโดยกำหนดให้การไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรรมนูญในเรื่องดังกล่าว ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรี สส. หรือ สว.จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

9.การแก้ไขรัฐธรรรมนูญ คณะ กมธ.ยกร่างฯ ออกแบบให้การแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศทำได้ยากกว่าเดิม เพื่อป้องกันการใช้เสียงข้างมากแก้ไขรัฐธรรมนูญตามใจชอบโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดว่าถ้าเป็นกรณีที่เป็นการแก้ไขที่หลักการพื้นฐาน เช่น โครงสร้างสถาบันการเมืองจะต้องผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไม่ได้กำหนดเอาไว้

10.คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เจตนารมณ์หลักของร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ คือ การผลักดันการปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรม แต่ไฮไลต์สำคัญกลับอยู่ที่อำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 280 ที่ระบุว่า

“ภายใน 5 ปีนับตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติ หรือมีกรณีที่เกิดความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการสถานการณ์ดังกล่าวแทนได้ หลังจากมีการปรึกษากับประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุด”

10 ประเด็นร้อนทั้งหมดนี้อาจไม่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคณะ กมธ.ยกร่างฯ แต่อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสปช.และประชาชนก็เป็นไปได้ จนส่งผลต่ออนาคตของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป


ผู้พิพากษาห่วงร่างรธน. ทำรัฐบาลใหม่อ่อนแอ

โดย :

ศรีอัมพร"ห่วงร่างรัฐธรรมนูญ ทำรัฐบาลใหม่อ่อนแอ ขาดเสถียรภาพ ให้อำนาจพิเศษคกก.ยุทธศาสตร์ฯ ตรากฎหมาย-ปลดนายกฯ

นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา กล่าววิเคระห์ร่าง รธน.ที่สปช.ได้รับมอบจากคณะกรรมาธิการร่างฯ ว่า น่าเป็นห่วงถ้ามีการบังคับใช้ร่าง รธน.นี้จริง ซึ่งอาจจะทำให้รัฐบาลใหม่มีความอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพ เช่น การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการยึดโยงรัฐธรรมนูญในหมวดวินัยการคลังซึ่งจำกัดกรอบในการใช้เงิน งบประมาณในการบริหารประเทศ โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่นโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือก่อสร้างถนน ที่ต้องใช้เงินในคลังจำนวนมาก จะต้องมีการกู้เงินจากต่างประเทศ จะทำได้ก็ต้องมีการเห็นพ้องต้องกันของหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน วุฒิสภา หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ การบริหารประเทศ ซึ่งการตัดสินใจลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจรัฐบาลหากไม่มีการปรึกษา หรือได้รับการฉันทานุมัติแล้วเป็นการเพิ่มมูลค่าหนี้ในประเทศ อาจเป็นเหตุในการตรวจสอบและร้องศาลปกครองแผนกวินัยการคลังได้ 

นายศรีอัมพร กล่าวถึงร่าง รธน.มาตรา 260 เรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติด้วยว่า การให้มีกรรมการทั้งหมด 22 คน ซึ่งประกอบไปด้วย ประเภทที่ 1 ประธานรัฐสภา , ประธานวุฒิสภา , นายกรัฐมนตรี , ผบ.สส , ผบ.ทบ, ผบ.ทร. , ผบ.ทอ. , ผบ.ตร. ประเภทที่ 2 ประกอบด้วย อดีตประธานรัฐสภา , อดีตนายกรัฐมนตรี , อดีตประธานศาลฎีกา ส่วนประเภทที่ 3 จะมี 11 คนแต่งตั้งโดยมติรัฐสภานั้น เห็นได้ว่าคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มที่มีการแต่งตั้งสืบเนื่องจาก คสช. ดังนั้นจึงเชื่อว่ากรรมการชุดนี้จะมีลักษณะคอเดียวกับ คสช. ขณะที่มาตรา 261 ระบุว่าหาก กก.ยุทธศาสตร์ฯ เสนอมาตรการหรือแนวทางแล้วรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ ก็ให้ชี้แจง กก.ยุทธศาสตร์ฯ และหาก กก.ยุทธศาสตร์ฯ เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ยังยืนยันตามมาตรการที่เสนอไป รัฐบาลจะต้องปฎิบัติตาม

ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นการฝ่าฝืนได้และรัฐบาล จะต้องถูกดำเนินคดีโดยคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) โดยในมาตรา 262 ยังกำหนดให้มีสภาดำเนินการปฎิรูปและสร้างความปรองดอง ซึ่งทำให้นอกจาก กก.ยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจสั่งรัฐบาลทำอะไรก็ได้แล้ว ยังมีองค์กรที่รองรับในคำสั่งนั้นอีกด้วย โดย กก.ยุทธศาสตร์ฯ จะสามารถแต่งตั้งเพิ่มสมาชิกของสภาดำเนินการปฎิรูปและสร้างความปรองดองได้ อีกด้วย 

นอกจากนี้ ในมาตรา 280 ยังให้ ประธาน กก.ยุทธศาสตร์ฯ โดยความเห็นชอบของ กก.ยุทธศาสตร์ฯ 2 ใน 3 มีอำนาจสั่งการ ระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหารและให้ถือ ว่าคำสั่งเป็นที่สุด ซึ่งนั่นหมายความว่า กก.ชุดนี้มีอำนาจในการตรากฎหมาย และปลดนายกรัฐมนตรีได้ 

นายศรีอัมพร กล่าวอีกว่า ร่างรธน.ฉบับนี้ ไม่ได้เขียนวาระการคงอยู่ของทั้ง กก.ยุทธศาสตร์ฯ และสภาดำเนินการปฎิรูปและสร้างความปรองดองไว้ จึงตีความได้ว่า กรรมการและสภาทั้ง 2 ชุดนี้จะมีวาระในการคงอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด เพียงแต่ว่าเมื่ออยู่ครบ 5 ปีแล้ว กก.ยุทธศาสตร์ฯ จะไม่สามารถใช้อำนาจทางนิติบัญญัติได้ตามมาตรา 280 เท่านั้น แต่ก็ยังสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 262 ในการเสนอนโยบายไปยังรัฐบาลและบังคับให้รัฐบาลทำตามนโยบายที่เสนอได้เรื่อยๆ โดยกรรมการชุดนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีการแก้ไข เพราะในร่าง รธน.นี้ ระบุถึงการข้อห้ามการแก้ไขไว้ว่า หากแก้แล้วไม่เป็นประชาธิปไตย และห้ามแก้ในรูปแบบของของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากจะแก้ ก็ต้องประกอบด้วยความเห็นชอบจากทุกภาคส่วน ซึ่งแน่นอนว่าต้องประกอบด้วยตัวกรรมการยุทธศาสตร์ด้วยนั่นเอง 

นายศรีอัมพร กล่าวว่า สุดท้ายแล้วถ้าต้องลงประชามติ ร่าง รธน.ฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่า จะมองร่าง รธน.ฉบับนี้อย่างไร ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในร่าง รธน.และให้ประชาชนผู้ใช้อำนาจตัดสินใจเลือกเองส่วนตนก็ได้แสดงความคิดเห็น และความห่วงใยในข้อกฎหมายแล้ว


สมบัติ' ชี้ร่างรธน.อาจได้รัฐบาลอ่อนแอ-บริหารปท.ยาก

โดย :

"สมบัติ" ปธ.กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ชี้ร่างรธน. จะทำให้ได้รัฐบาลอ่อนแอ บริหารประเทศได้ยาก แม้จะมีประเด็นปฏิรูปดีก็ตาม

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สิ่งที่กมธ.การเมือง เป็นกังวลคือจุดประสงค์ของกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้มีรัฐบาลผสมที่ไม่เข้มแข็ง ซึ่งได้ใช้ระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสมแบบเยอรมัน ซึ่งจะทำพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่งเลย แต่ว่าการเมืองของประเทศเยอรมันมีความเข้มแข็ง แต่ของไทยนั้นไม่ใช่ ซึ่งประเทศเราเคยใช้รัฐบาลสัดส่วนผสมมาในอดีต นายกรัฐมนตรีไม่สามารถกำกับการทำงานของรัฐมนตรีของแต่ละกระทรวงได้ เพราะไม่สามารถเลือกคนในพรรคของตัวเองเป็นนายกได้ เนื่องจากเป็นโควต้าของแต่ละพรรค อีกทั้งยังจะส่งผลให้นโยบายการทำงานขาดความเป็นเอกภาพด้วย อีกทั้งจะนำไปสู่การตั้งฉายารัฐบาลว่า “บุพเฟต์ คาบิเนต” ซึ่งเป็นลักษณะของรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ทำให้มีการคอรัปชั่นอย่างกว้างขวาง หรือถ้าหากนายกฯไม่ได้เป็นคนโกง ก็จะถูกมองว่าพายเรือให้โจรนั่ง

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า การบริหารประเทศจะก้าวหน้าสำเร็จหรือไม่ก็ต้องอยู่ที่รัฐบาล เพราะถ้ารัฐบาลเข้มแข็ง การบริหารสำเร็จบรรลุผลก็จะมีสูง ถ้าหากเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ ถึงมีประเด็นปฏิรูปดีๆเต็มรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ ได้ เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลผสมต่างพรรคต่างมุ่งหาผลประโยชน์ของตัวเอง ก็จะทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ

“อยากจะให้คิดถึงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีเอกภาพและอำนาจเต็มร้อยในการแต่งตั้งและกำกับรัฐมนตรีทุกกระทรวง และมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แต่ก็ยังปรากฏปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินหลายประการ และจัดการปัญหาไม่ได้ทุกเรื่อง แล้วประเทศไทยจะมีความหวังอะไรกับรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ซึ่งกำลังจะมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้” นายสมบติ กล่าว

นาย สมบัติ กล่าวอีกว่า กลไกการตรวจสอบจากร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกลไกหลักมีแค่สองประการก็คือ 1.การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเราก็ทราบอยู่ดีว่า ฝ่ายค้านออกเสียงทีไรก็แพ้ทุกที 2.การถอดถอน

โดยรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 470 และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)200 คน ซึ่ง รธน. ได้หนดให้มีการใช้เสียงเกินครึ่ง คือ 335 คน หากรัฐบาลผสมสามารถตั้งรัฐบาลที่มีเสียงเกินครึ่งได้ จะทำให้ฝ่ายค้านถอดถอนไม่ได้ แต่รัฐบาลจะถอดถอนฝ่ายค้านได้ เพียงเท่านี้ก็เห็นแล้วว่ากระบวนการตรวจสอบนั้นอ่อนแอ ถึงแม้จะมีการกำหนดอีกว่า ปปช. ดำเนินการตรวจสอบแล้วไม่ได้ผล ก็ให้ ส.ส. หนึ่งในสิบ เสนอเข้าชื่อกันร้องต่อประธานศาลฎีกา ซึ่งกระบวนการนี้ก็ยืดยาวมาก ไม่สามารถรับมือกับการทุจริตที่มีมากในประเทศไทยได้ โดยทาง กมธ.การเมืองเคยเสนอกลไกที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ แต่ กมธ.ยกร่างฯ ไม่สนใจ พร้อมทั้งระบุว่าการเปิดช่องให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้นั้น ส่วนตัวมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้าหลังกว่าฉบับปี 40 และ ปี 50

“รัฐ ธรรมนูญเปรียบเหมือนร่างกายของเรา ถ้ารูปร่างภายนอกและอวัยวะภายในทุกส่วนดีหมด หัวใจอ่อนแอซึ่งเปรียบได้กับรัฐบาลผสม ก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งหมด ต่อให้ประเด็นปฏิรูปดีมากก็ตามที ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้” นายสมบัติ กล่าว

เมื่อ ผู้สื่อข่าวถามถึงเสียงของกมธ.การเมือง ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างไร นายสมบัติ ตอบว่า เป็นเรื่องความเห็นของบุคคลซึ่งมีหลากหลายกันไป อย่าไปคิดว่าทุกคนจะต้องคิดเห็นเหมือนกัน สำคัญที่สุดคือเหตุผลในการตัดสินใจ ซึ่งแม้ว่าสมาชิกจะอยากให้ผ่านก็ไม่ใช่ปัญหา ก็ต้องดูด้วยว่าประชาชนชนจะเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งจะเป็นด่านใหญ่ อย่างไรก็ดีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการร่วมกับ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ นั้นจะไม่นำไปหารือกับคณะอื่นแต่อย่างใด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผ่า ประเด็นร้อน ชี้ชะตา ร่างรธน

view