สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนรอย! คดีทุจริต กรุงไทย ปล่อยกู้ กฤษดามหานคร

ย้อนรอย! คดีทุจริต'กรุงไทย'ปล่อยกู้'กฤษดามหานคร'

โดย :

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ย้อนรอย คดีทุจริตแบงก์"กรุงไทย"ปล่อยกู้"กฤษดามหานคร" จำคุก"ร.ท.สุชาย-วิโรจน์"เป็นเวลา 18 ปี

ถูกลงโทษหนักทีเดียว .. เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก ร้อยโท สุชาย เชาว์วิศิษฐ์  อดีตประธานบอร์ดบริหารธนาคารกรุงไทยและ วิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย เป็นเวลา 18 ปี จากการอนุมัติสินเชื่อกว่า 8 พันล้าน ให้กับบริษัทในเครือของบริษัทกฤษฎามหานคร พร้อมให้ร่วมกันชดใช้เงินคืนให้กับ ธ.กรุงไทย ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เป็นกรรมการอนุมัติสินเชื่อ และกลุ่มเอกชนที่ทำการขอสินเชื่อให้จำคุกคนละ 12 ปี โดยคดีนี้ มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นจำเลยที่1 แต่ศาลได้สั่งให้จำหน่ายคดีในส่วนของ พ.ต.ท. ทักษิณ ไว้ชั่วคราว เนื่องจากหลบหนีคดี

สำหรับพฤติการณ์ของเรื่องนี้มีว่า  ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)ในขณะนั้นได้ให้สินเชื่อกับ กลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ

1. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวนเงิน 500 ล้านบาท

2. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400 ล้านบาท)

และ 3. การอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวนเงิน 1,185,735,380 บาท ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร เป็นประโยชน์ส่วนตนกับพวก

และหากมองย้อนกลับไปในชั้นการตรวจสอบของ “ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.)” จะพบว่า เมื่อตอนที่ คตส. สรุปสำนวนคดีส่งให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนต่อนั้น  ในสำนวนของ คตส. มีผู้กระทำความผิดถึง 31 คน  

ครั้งนั้น กรรมการคตส. ท่านหนึ่ง เคยระบุว่าการดำเนินการปล่อยกู้มีการดำเนินการเป็นขั้นตอนตั้งแต่การอนุมัติ สินเชื่อโดยเร่งด่วน มีเงินที่นำไปให้พวกพ้อง มีการโอนเงินให้ลูกชายของหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นผู้สั่งการให้ อนุมัติสินเชื่อ จากนั้นก็โอนเงินให้บิดาของอดีต ส.ส.ลูกพรรค และโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของบิดา, เลขาฯ ส่วนตัว ของภรรยาหัวหน้าพรรค เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยเสียหาย 4.5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ คตส. เคยกล่าวหาว่า มีกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง 5 ส่วนด้วยกัน ได้แก่  

1.กลุ่มนักการเมืองกับพวก คือ  พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร, นายพานทองแท้  ชินวัตร,นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ และนายมานพ ทิวารี 

2.กลุ่มคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย อาทิ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย 

3.กลุ่มคณะกรรมการสินเชื่อธนาคารกรุงไทย 

4.กลุ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ของแบงก์ 

5.กลุ่มนิติบุคคลและผู้บริหารบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเงินทั้งหลาย 

คดีนี้ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณ , กรรมการบริหาร, กรรมการสินเชื่อ, เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย และกลุ่มบริษัทเอกชน รวม 27 ราย เมื่อวันที่ 13 มิ.ย 2555  โดยมี 4 คน ที่เคยถูก คตส. กล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่อัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนายพานทองแท้  รวมอยู่ด้วย 

คดีนี้ศาลใช้เวลาใช้การพิจารณาคดีเป็นเวลา 3 ปี  จึง มีคำพิพากษาได้ 

สำหรับขั้นตอนตามกฎหมาย ผู้ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก ยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้  หากมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญของคดี  แต่ต้องอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่มีคำพิพากษา แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยปรากฏว่าผู้ที่อุทธรณ์ชนะคดี เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานใหม่มาสู้คดีได้ 

ส่วน พ.ต.ท. ทักษิณ ที่หลบหนีคดีนั้น ยังสามารถติดตามตัวมาขึ้นศาลได้ภายในอายุความ 15 ปี  โดยต้องมีการสืบพยานกันใหม่ในส่วนของ พ.ต.ท. ทักษิณ 


วิษณุ'เผยคดีบิ๊กกรุงไทย ปมปล่อยกู้เอกชนมิชอบถือว่าโทษหนัก

โดย :

“วิษณุ” เผยคดีบิ๊กกรุงไทย ติดคุกปมปล่อยกู้เอกชนมิชอบ ถือว่าโทษหนัก ชี้คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อไปคนทำหน้าที่คงเข็ดหลาบ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีศาลฎีกานักการเมืองสั่งจำคุกนายสุชาย นายเชาว์วิศิษฐ วิโรจน์ นวลแข อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย พร้อมพวกรวม 4 คน คนละ 18 ปี เหตุปล่อยเงินกู้ให้กลุ่มกฤษดามหานครโดยมิชอบจนทำให้ธนาคารเสียหายนับหมื่น ล้านบาทว่า จากข่าวที่ได้ติดตามความผิดที่บรรยายฟ้องนั้น มาจากกฎหมายหลายฉบับ อาทิ กฎหมายธนาคาร กฎหมายความผิดองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่องค์กรของรัฐ กฎหมายบริษัทมหาชน ซึ่งต่างจากสมัยนายตามใจ ขำภโต อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย มีกฎหมายเพียงบางฉบับที่สามารถเอาผิดได้ เช่น ความผิดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ในองค์กรของรัฐ ต่างจากกรณีนี้ที่จำเลยโดนกฏหมายทั้งหมด ทั้งพ.ร.บ.ธนาคาร บริษัทมหาชน องค์กรของรัฐ เพราะหลังจากสมัยของนายตามใจ มีกฎหมายใหม่ออกมาเรื่อยๆ เวลาฟ้องจึงฟ้องหมด แต่เวลาลงโทษจะลงโทษบทที่หนักที่สุด แต่ยอมรับว่าครั้งนี้ถูกลงโทษหนักมากทั้งพนักงานและระดับบิ๊กถูกจำคุก 12 ปี และ 18 ปี ซึ่งถือเป็นดุลพินิจของศาล ศาลคงพิจารณาแล้ว และคดีนี้ไม่สามารถทำอะไรต่อไปได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ต่อไปคงเกิดความเข็ดหลาบ ผู้ที่รับผิดชอบด้านการปล่อยสินเชื่อคงต้องระมัดระวังการทำงานมากขึ้น


ศาลฯสั่ง บ.เอคิว ร่วมคืนเงิน KTB กว่า 1 หมื่นล้านบาท

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ศาลฯสั่ง บ.เอคิว ร่วมคืนเงิน KTB กว่า 1 หมื่นล้านบาท ฟาก AQ ชี้ไม่กระทบบริษัทมาก เชื่อมูลค่าที่ดินค้ำประกันเพียงพอชำระหนี้ได้

บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) (AQ) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ตามที่ในวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2555 โดยมีอัยการสูงสุด โจทก์ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 27 คน จำเลย เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ โดยพิพากษาซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัท ให้มีความผิดให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

โดยในส่วนของบริษัทให้ปรับเป็นจำนวนเงิน 26,000 บาท ซึ่งจำนวนเงินค่าปรับดังกล่าว ทางบริษัทได้ดำเนินการจ่ายค่าปรับกับศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้วและศาลยังตัดสินให้ทางบริษัทร่วมกันคืนเงินจำนวน 10,004,467,480บาท (หนึ่งหมื่นสี่ล้านสี่แสนหกหมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยแปดสิบบาทถ้วน) แก่ธนาคารผู้เสียหาย โดยเงินในส่วนนี้ถ้าธนาคารผู้เสียหายได้รับชำระคืนแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้หักออกจากจำนวนที่สั่งให้ใช้คืนตามส่วน จากข้อมูลของมูลหนี้เงินกู้ของธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ผู้กู้คือ บริษัท โกลเด้น อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (โกลเด้น) ได้มีที่ดินจดจำนองที่เป็นหลักประกันจำนวน 4,323 ไร่ 1 งาน 55.90 ตารางวา ซึ่งบริษัทได้รับแจ้งจากโกลเด้นว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวโกลเด้นได้ว่าจ้างให้บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

ซึ่งเป็นบริษัทประเมินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน กลต.ได้ประเมินราคาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 โดยใช้วิธีประเมินมูลค่าเป็นวิธีเปรียบเทียบกับข้อมูลตลาด ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวมีมูลค่าตลาดเท่ากับ 12,321,000,000 บาท (หนึ่งหมื่นสองพันสามร้อยยี่สิบเอ็ดล้านบาทถ้วน) ซึ่งเป็นการประเมินราคาเมื่อปี 2555 ซึ่งได้ประเมินเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และทางบริษัทก็เชื่อว่าด้วยทำเลที่ตั้งและศักยภาพของที่ดินดังกล่าวปัจจุบันคงมีราคาเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้นจึงถือได้ว่าความรับผิดในส่วนของบริษัทที่ถูกตัดสินให้ร่วมกันคืนเงินจำนวน10,004,467,480 บาท (หนึ่งหมื่นสี่ล้านสี่แสนหกหมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยแปดสิบบาทถ้วน) นั้น มีหลักทรัพย์ที่คุ้มค่าหรือเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ ซึ่งหากธนาคารผู้เสียหายสามารถขายหลักประกันดังกล่าวได้ ทางบริษัทก็ไม่จำต้องรับผิดในการคืนเงินจำนวนดังกล่าว

ดังนั้นในการ พิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวในเบื้องต้นแล้วความรับผิดในการร่วมกันคืนเงินดัง กล่าวไม่น่าจะมีผลกระทบกับบริษัทอย่างไรก็ตาม ทางบริษัทจะได้ประสานงานกับโกลเด้นจัดให้มีการประเมินที่ดินดังกล่าวเสีย ใหม่เพื่อให้ทราบถึงมูลค่าที่แท้จริงในปัจจุบันว่ามีมูลค่ายุติธรรมเท่าใด หากมีมูลค่ายุติธรรมต่ำกว่าจำนวนเงินที่บริษัทต้องรับผิดตามคำพิพากษาแล้ว บริษัทจะได้ทำการตั้งสำรองเผื่อการสูญเสียต่อไปซึ่งหากมีความคืบหน้าประการ ใดทางบริษัทจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ AQ เดิมชื่อ บมจ.กฤษฎามหานคร (KMC) และปัจจุบัน AQ มีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 คือ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) สัดส่วน 19.73% ล่าสุด 10.55 น. ราคาหุ้นอยู่ที่ 0.22 บาท ลดลง 0.07บาท หรือ 24.14%


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ย้อนรอย #คดีทุจริต #กรุงไทย #ปล่อยกู้ #กฤษดามหานคร

view