สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สูตรสำเร็จซีพี-ทียูเอฟ ใช้ M&A ก้าวข้ามขีดจำกัด

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

การเร่งฟื้น "ความเชื่อมั่น" ให้กลับคืนมา หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์ เป็นสิ่งที่ภาครัฐและภาคธุรกิจต่างร่วมมือกันเร่งดำเนินการเพื่อให้ส่งผล กระทบต่อยอดรายได้อันมหาศาลที่ต้องสูญเสียไปให้น้อยที่สุดโดยเฉพาะรายได้จาก นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งถือเป็นความหวังสุดท้ายในยามนี้และรายได้จากนัก ธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ที่สำคัญเหตุการณ์ดังกล่าวถือว่า ได้เพิ่มความบอบช้ำซ้ำเติมประเทศไทยยามนี้ค่อนข้างหนักหนาสาหัสทีเดียวหลัง จากที่กำลังเผชิญมรสุมจากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวและ มรสุมทางการเมืองประกอบกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวสงคราม ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันปรับลดลง ส่งผลกระทบให้การส่งออก ซึ่งถือเป็นรายได้หลัก 75-80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) คาดว่าจะติดลบถึง 3% หรือกว่านั้น

ทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่มีฐานที่มั่นการผลิตหลักเฉพาะภายในประเทศไทย ต่างทำได้แค่พยายามประคับประคองตัว ลดต้นทุน ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้... ซึ่งเวลาอีกเกือบ 5 เดือนที่เหลือก่อนสิ้นปี 2558 หวังว่าภาพเหตุการณ์ "ปลดพนักงาน" ในการตัดแขนขา รักษาชีวิต ของบรรดาภาคธุรกิจที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งช่วงปี 2540 คงไม่หวนกลับคืนมาให้เห็น

แต่ในอีกมุมหนึ่ง หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย เช่น กรณีบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ซึ่งถือเป็น 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร ต่างใช้กลยุทธ์ในการ "พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส" โดยไม่ต้องหวั่นเกรงเรื่องความเชื่อมั่นภายในประเทศ ปัญหาการเมืองภายในประเทศไทย

โดยการก้าวข้ามขีดจำกัด ภายใต้โลก "การค้าเสรี" ด้วยการกระโดดข้ามกำแพง "กฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศ" ที่แต่ละประเทศต่างตั้งขึ้นมากีดกัน ด้วยการใช้กลยุทธ์การเข้าไปลงทุนซื้อกิจการ หรือควบรวมธุรกิจ (Mergers and Acquisitions หรือ M&A) ในประเทศที่มีโอกาส และจังหวะที่เหมาะสมในการลงทุน ตั้งโรงงานผลิตสินค้าครบวงจรขายในประเทศเหล่านั้น รวมทั้งใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก โดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการค้าของประเทศนั้น ๆ ส่งออกไปสู้กับประเทศคู่แข่งในตลาดโลก

"อดิเรก ศรีประทักษ์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ บอกชัดเจนว่า ที่ผ่านมาซีพีเอฟในประเทศไทยมีการผลิตสินค้าส่งออกไปยัง 40 ประเทศทั่วโลก แต่ยังครอบคลุมได้ไม่หมด ดังนั้นในช่วงหลังจึงอาศัยการเติบโตโดยขยายการลงทุนไปยัง 14 ประเทศ โดยปี 2557 มียอดขาย 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากโรงงานที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ และผลิตขายในต่างประเทศ 60% ส่วนอีก 40% นี้แบ่งเป็น 35% ผลิตจากโรงงานในไทย และขายในไทย ที่เหลืออีก 5-6% ผลิตจากโรงงานในไทยส่งออกไปขาย 40 ประเทศทั่วโลก และนับจากนี้ไป ซีพีเอฟกำลังใช้กลยุทธ์ M&A มาเป็นเป้าหมายหลักในการเติบโต โดยเฉพาะการขยายฐานเข้าไปในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย แอฟริกา ฯลฯ

ขณะที่ ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทียูเอฟ ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ระดับโลก ตั้งเป้าหมายยอดรายได้ปี 2558 ที่ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และวางแผนเป้าหมายจะมียอดรายได้ถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 ทียูเอฟได้ใช้กลยุทธ์ M&A ขยายการเติบโตทางธุรกิจมาหลายปีแล้ว ด้วยการเลือกมองหาการลงทุนในต่างประเทศที่เป็นกลุ่มธุรกิจใกล้เคียงกัน มองหาแบรนด์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น โดยแบรนด์ที่จะเข้ามาต้องช่วยตอบโจทย์ให้ธุรกิจเติบโตและยั่งยืนขึ้น หลังจากนั้นการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ที่ต่างประเทศ 7 แห่ง โรงงานในต่างประเทศอีก 9 แห่ง ไม่รวมสำนักงานใหญ่ โรงงานในไทย

ปัจจุบันทียูเอฟครอบครองแบรนด์สินค้าชั้นนำระดับโลก 6 แบรนด์ ตามการจัดลำดับ The Best Seafood Brands 25 อันดับในปี 2012 ได้แก่ คิง ออสการ์ อันดับที่ 10 ส่วน StarKist อันดับที่ 3 John West อันดับที่ 11 Bumble Bee อันดับที่ 12 Chicken of the Sea อันดับที่ 13 และ Petite Navire อันดับที่ 14

สิ่งที่ทียูเอฟคำนึงถึงตลอดในการดำเนินธุรกิจคือ เมื่อซื้อกิจการใหญ่ในต่างประเทศได้แล้ว ธุรกิจประสบความสำเร็จ จะรีบมองหากิจการใหม่ ๆ ที่นำมาควบรวมอีก แต่สิ่งที่ทำคือต้องบริหารความเสี่ยงได้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดความเสี่ยงกับอนาคตได้ หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า ทียูเอฟจะเข้าซื้อกิจการในช่วงวิกฤต เพราะถือว่าในช่วงวิกฤตยังมีโอกาสเสมอ

อย่างไรก็ตามการปรับตัวของบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยกระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศทั่วโลก ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี หากตลาดใดมีปัญหา จะมีรายได้จากอีกตลาดมาทดแทนกันเห็นได้ชัดจากกรณีการเกิดปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัทสามารถใช้ฐานการผลิตกุ้งในประเทศอื่นส่งออกได้ แถมยังได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจีเอสพีของประเทศเวียดนามในการส่งออก

ขณะที่บริษัทที่มีฐานการผลิตเฉพาะภายในประเทศไทยบางรายกระอักเลือดต้องปิดกิจการ ไม่สามารถปรับตัวได้ ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมเดียวกัน ต้องร่วมแรงร่วมใจผนึกกำลังช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ใช่คอยแทงข้างหลังกันอย่างที่ผ่านมา มิเช่นนั้น ประเทศไทยคงไปไม่รอดแน่ !


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สูตรสำเร็จ ซีพี ทียูเอฟ M&A ก้าวข้ามขีดจำกัด

view