สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

New Normal เศรษฐกิจไทยบริบทใหม่

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ, ศิริกัญญา ตันสกุล

เวลานี้เศรษฐกิจไทยกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่จะโตด้วยอัตราการเติบโตที่ต่ำและช้าลงกว่าเดิม การจะหวังให้เศรษฐกิจโตเร็วเหมือนเมื่อก่อนนั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะเศรษฐกิจได้เข้าสู่ "บริบทใหม่" (New normal) ที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจตามสถานการณ์ปกติ ก็จะไม่เป็นเหมือนเดิม เพราะปัจจัยที่จะมาขับเคลื่อนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม มาจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากทศวรรษที่ผ่านมา บางปัจจัยเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงตามวัฏจักรของมันเอง แต่บางเรื่องก็เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง บางเรื่องเปลี่ยนไปในทางที่จะเอื้อต่อการเจริญเติบโต หรือ Tailwinds แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลมด้าน หรือ Headwinds

ปัจจัยพื้นฐาน : ประชากรสูงวัย ความสามารถในการแข่งขันลดลง

ประเทศหนึ่งจะสามารถผลิตสินค้าได้มากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่ามีแรงงานมากเท่าไหร่ และแต่ละคนสามารถผลิตสินค้าได้เท่าไหร่ ปัญหาของประเทศไทย คือ ประชากรเข้าสู่ช่วงสูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้กำลังแรงงานโตช้าลงเรื่อย ๆ จากที่เคยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.2% ต่อปี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ในทศวรรษนี้ขยายตัวลดลงเหลือเพียง 0.2% ต่อปี และกำลังแรงงานเริ่มลดลง (-0.6% ต่อปี) ในทศวรรษหน้า นอกจากนี้ ผลิตภาพแรงงานของไทยโตลดลงจากปีละ 2.3% เหลือเพียงปีละ 1.7% สาเหตุหลักประการหนึ่ง คือ ระดับการลงทุนที่ไม่ค่อยขยายตัว

ค่าจ้างโตเร็วกว่าประสิทธิภาพแรงงาน ทำให้ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยเพิ่มขึ้น แต่ความสามารถในการแข่งขันลดลง ค่าจ้างเฉลี่ยที่แท้จริงของแรงงานภาคเอกชน (หักผลของเงินเฟ้อ) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเพียง 2% ต่อปี แต่ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมากลับเพิ่มขึ้นถึงกว่า 10% ต่อปี ทำให้ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยจากที่เคยลดลงเฉลี่ย 1% ต่อปี เมื่อทศวรรษที่แล้ว กลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2554

เผชิญการแข่งขันสูงจากหลายประเทศในภูมิภาค

สมัยก่อนเวียดนามยังไม่เป็นที่รู้จักของนักลงทุนระดับโลกแต่มาในปัจจุบันเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดทั้งเงินลงทุนโดยตรง และตลาดส่งออกของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เงินลงทุนโดยตรงที่ไหลเข้าเวียดนามจากที่เคยคิดเป็นแค่ 30% ของเงินลงทุนโดยตรงที่เข้าไทยเมื่อปี 2543 ก็เพิ่มสัดส่วนเป็น 70% ในปี 2556 ส่วนการส่งออก จากที่คิดเป็นเพียง 17% ของมูลค่าการส่งออกไทย ก็เพิ่มสัดส่วนเป็น 70% เช่นกันเมื่อปี 2557 ทั้ง ๆ ที่ขนาดเศรษฐกิจเวียดนามเป็นแค่ครึ่งหนึ่งของไทย

อุปสงค์ภายในประเทศไม่สดใส

เนื่องจากแรงงานเกินครึ่งมีกำลังซื้อที่อิงกับราคาสินค้าเกษตรไม่ทางตรงก็ทางอ้อมเช่นกลุ่มชาวไร่ ชาวนา (38%ของกำลังแรงงาน) พ่อค้าแม่ค้า (15%) ต้องพึ่งกำลังซื้อจากชาวไร่ชาวนาอีกต่อหนึ่ง แต่ราคาสินค้าเกษตรตัวหลักอย่างข้าวและยางพารา ปรับตัวลงจากปี 2554 ราว 20% และ 60% ตามลำดับ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง (85% ของจีดีพีจาก 46% ในปี 2543) ยิ่งทำให้การบริโภคขยายตัวได้ยากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ อัตราความเป็นเมืองของไทยแทบจะต่ำสุดในภูมิภาค สูงกว่าแค่ลาวกับกัมพูชา การขยายตัวของชนชั้นกลางในเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัว อย่างที่เห็นปรากฏการณ์นี้ ในประเทศจีนและอินโดนีเซีย

อุปสงค์ต่างประเทศก็เช่นกัน การส่งออกสินค้าคิดเป็นสัดส่วนถึง 62% ของจีดีพี ดังนั้น อะไรก็ตามที่มากระทบการส่งออกจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมเช่นกัน ซึ่งอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าลดลงจากที่เคยขยายตัว 12% ต่อปี เมื่อทศวรรษที่แล้ว มาในทศวรรษนี้โตเพียง 1% เท่านั้น

ปัจจัยรายอุตสาหกรรม


หลายอุตสาหกรรมหลักกำลังประสบปัญหาทำให้ขยายตัวได้ยากขึ้นในอนาคตเช่นอิเล็กทรอนิกส์(15% ของมูลค่าส่งออก) ต้องเผชิญการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้าน มูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากไทยโตขึ้น 20% จากปี 2552 ในขณะที่เวียดนามเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ส่วน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (6% ของมูลค่าส่งออก) ต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านการส่งออกเพิ่มขึ้น เพราะประเทศที่เคยนำเข้าอย่างจีนได้เพิ่มกำลังการผลิตอย่างมหาศาลจนเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และกลายมาเป็นผู้ส่งออกเสียเอง

อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้าง (10.7% ของจีดีพี) สต๊อกของบ้านและคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังขายไม่ได้ในกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ยังต้องเผชิญกับภาวะของรถยนต์ล้นตลาดจากการดำเนินนโยบายรถยนต์คันแรก และจะขยายตัวได้ยากไปอีกสักพักใหญ่ บวกกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ธนาคารพาณิชย์เคร่งครัดเกณฑ์การปล่อยเงินกู้ยิ่งขึ้น การท่องเที่ยว ยังไปได้ดีแต่ก็พึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมียอดใช้จ่ายต่อทริปต่อคนน้อยกว่านักท่องเที่ยวจากยุโรปและออสเตรเลียราว 40%

New Normal ไทยเป็นอย่างไร ?

หน้าตาของ New normal ของไทยเป็นดังนี้ จีดีพีโตช้าลง จากราว 5% เหลือประมาณ 3% ต่อปี ดังนั้น การขยายตัวของจีดีพีจะลดลง 1-2% จากการที่กำลังแรงงานขยายตัวได้ลดลง การขยายตัวของผลิตภาพแรงงานก็ลดลง เพียงแค่นี้ก็ทำให้จีดีพีโตลดลงไปอย่างน้อย 1.6% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะทำให้จีดีพีโตช้าลงไปอีก

การขยายตัวของภาคส่งออก จากตัวเลข 2 หลักจะเหลือไม่ถึง 4% ด้วยสาเหตุเชิงโครงสร้างที่จะทำให้หน้าตาของภาคส่งออกไทยเปลี่ยนไป รายได้ครัวเรือนโตช้าลง จาก 3% ต่อปี เหลือไม่เกิน 2% ต่อปี ทั้งนี้เพราะรายได้ภาคเกษตรหดตัวเกือบ 10% ในช่วงต้นทศวรรษ ต่อให้รายได้ครัวเรือนโตได้เท่ากับอัตราสูงสุดเท่าที่เคยมีมา คือ ปีละ 5% จากนี้ไปจนถึงสิ้นทศวรรษ รายได้ครัวเรือน

ก็โตเฉลี่ยได้ไม่เกิน 2% ระหว่างปี 2554-2563 นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำทำให้ค่าจ้างภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นมากจนผลิตภาพแรงงานโตตามไม่ทัน จึงไม่เหลือที่ว่างให้ค่าจ้างเพิ่มได้มากนัก ทำให้รายได้ครัวเรือนโตช้าลงไปอีก

พื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เหลือน้อยลง จากที่เคยใช้งบฯประชานิยมได้เต็มที่กลายเป็นรัฐต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ตัดได้ยากทั้งหลาย เช่น เงินเดือน เงินชำระหนี้ เงินโอนตามที่กฎหมายบังคับ รวมกันราว 1.6 ล้านล้านบาท หรือกว่า 70% ของรายได้รัฐบาล ทำให้เราเหลือช่องที่จะใช้งบประมาณสำหรับการลงทุนภาครัฐโดยไม่ต้องทำงบประมาณขาดดุลมากนัก

ที่มาของการเติบโตของเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปจาก"ประเทศไทย"สู่"ลุ่มแม่น้ำโขง" จาก "กรุงเทพฯสู่ต่างจังหวัด" ไม่ใช่เพียงแต่เศรษฐกิจจะโตช้าลงเท่านั้น แต่ที่มาของการเติบโตของเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไป กลุ่มที่น่าจับตาคือเศรษฐกิจประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) รวมถึงจีนตอนใต้และประเทศไทย ภูมิภาคนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงกว่าเศรษฐกิจของไทย มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง รายได้ต่อหัวเฉลี่ย 17% ระหว่างปี 2544-2556 และมีประชากรรวมกันกว่า 300 ล้านคน รวมไปถึงอานิสงส์ที่จะมายังหัวเมืองตามชายแดนของไทยด้วย

ทิศทางเงินลงทุนเปลี่ยนจากเงินลงทุน "จาก" ต่างประเทศ เป็นเงินลงทุน "ไปยัง" ต่างประเทศ (Outward Direct Investment: ODI) เศรษฐกิจภายในประเทศโตช้า เราจึงต้องหาโอกาสใหม่ ๆ ในต่างประเทศมากขึ้น เงินลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 7,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงระยะเวลา 10 ปีเท่านั้น ทักษะการบริหารจัดการเงินลงทุนในต่างประเทศจะยิ่งมีมูลค่าและเป็นที่ต้องการสำหรับบริษัทไทย

มลพิษที่มากขึ้นประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่22จาก 186 ประเทศทั่วโลปริมาณขยะของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 สูงถึง 27 ล้านตัน แต่กว่า 80% ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ถ้าต้องนำขยะทั้งหมดไปฝังกลบต้องใช้พื้นที่ราว 1 ใน 3 ของเกาะสมุย

ความมั่นคงด้านพลังงานน้อยลง ในด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เราติดอันดับรั้งท้ายอยู่ที่ 168 จาก 199 ประเทศ ใกล้เคียงกับประเทศอิหร่านและบาห์เรนที่เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ทั้ง ๆ ที่ไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงานในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะจากเมียนมาและลาว แต่ทั้ง 2 ประเทศกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และความต้องการพลังงานของทั้ง 2 ประเทศก็จะเพิ่มขึ้นตามมา นอกจากนี้ ก๊าซจากอ่าวไทยกำลังจะหมดไปในอีก 5 ปี แต่ 2 ใน 3 ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดมาจากก๊าซธรรมชาติ

โอกาสที่ความขัดแย้งจะยังคงมีอยู่ต่อไป ปัญหาความขัดแย้งเป็นปัจจัยที่น่ากังวลมากที่สุดของ New normal สำหรับประเทศไทย ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตดี โอกาสของทุกคนก็เปิดกว้างขึ้น ความแตกต่างเรื่องรายได้ จึงพอรับได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจไม่ค่อยโต มีโอกาสที่ทุกคนจะคอยจ้องว่าใครจะได้ส่วนแบ่งที่มากกว่าโดยไม่เป็นธรรมก็มีมากนำไปสู่ความคับข้องใจและความขัดแย้งในที่สุด

เราควรทำอย่างไร?

อย่างน้อยมี3เรื่องที่เราควรทำ คือ 1.อย่ากระตุ้นการบริโภคมากจนเกินไป ถ้าเราคิด (ผิด) ว่าศักยภาพเศรษฐกิจจะยังโตได้ที่ 5% เมื่อใดที่เศรษฐกิจโตต่ำกว่านั้น ก็จะรู้สึกว่าควรกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งที่ความจริงอัตราการเติบโตระยะยาวอยู่แค่ 3% สิ่งที่ควรทำมากกว่าการกระตุ้นการบริโภค คือ เร่งปรับปรุงศักยภาพโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

2.สร้างระบบความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) ที่ครอบคลุมและเป็นระบบมากขึ้น เพราะ New normal ในครั้งนี้ เต็มไปด้วยความเสี่ยง จึงควรมีระบบที่จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ต้องมีการกำหนดเกณฑ์และขอบเขตที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้กลายเป็นนโยบายประชานิยมหรือการเรียกร้องการเยียวยาที่ไม่มีวันจบ 3.มุ่งสู่ "แม่โขง" ไม่ใช่แค่ AEC ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่ที่โตเร็ว ไทยเองก็มีบทบาทสำคัญ เพราะส่งออกสินค้าไปแถบนี้ด้วยมูลค่ามากถึง 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (เฉพาะ CLMV) ใกล้เคียงกับที่ส่งออกไปญี่ปุ่น

สิ่งที่ควรส่งเสริมมากกว่าการสร้างถนนหรือรางรถไฟเชื่อมกัน คือ การอำนวยความสะดวกให้เกิดการค้าขาย การลงทุน เช่น บริการให้คำปรึกษากฎหมายและภาษี การใช้กฎระเบียบและมาตรฐานสินค้าเป็นมาตรฐานเดียว รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่จำเป็น เช่น ด้านภาษา เป็นต้น เหล่านี้เป็นคำตอบว่าเราควรทำอย่างไร !


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : New Normal เศรษฐกิจไทย บริบทใหม่

view