สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปรียบเทียบปี 40-50

ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปรียบเทียบปี’40-50

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปรียบเทียบปี’40-50

ตลอดสัปดาห์นี้ต้องจับตาความเคลื่อนไหวสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เนื่องจากจะมีการลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ถ้า สปช. 124 คน จากทั้งหมด 247 คน ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ แต่ถ้า สปช.ลงมติไม่เห็นชอบ ทุกอย่างต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ภายใต้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 คน

อย่างไรก็ตาม เวลานี้เกิดข้อถกเถียงมากว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์มีความก้าวหน้าหรือถอยหลังกันแน่ เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งหลายประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1.มาตรา 7 ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดการจุดประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 มีถ้อยคำในมาตรา 7 เหมือนกันว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เวลานั้นเกิดการถกเถียงกันอย่างมากว่ามีความเป็นไปได้ในทางกฎหมายหรือไม่

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน จึงได้แก้ไขใหม่โดยยังคงถ้อยคำข้างต้นไว้เหมือนเดิม แต่ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้เกิดผลในทางปฏิบัติว่า “ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยกรณีใด สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนก็ได้ แต่สำหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดให้กระทำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี และเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด”

2.คณะรัฐมนตรี อาจเรียกได้ว่าการเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เนื่องจากที่มาของนายกรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 บัญญัติมาเป็นแนวทางเดียวกันว่านายกฯ ต้องเป็น สส.และมาจากการเลือกแบบเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่อยู่ในมือ สปช.กำหนดให้นายกฯ ยังคงต้องเลือกกันในสภาตามเดิม ทว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น สส.ก็ได้เพียงแต่ต้องได้เสียงจาก สส.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ สส.ในสภา

ไม่เพียงเท่านี้ ในส่วนอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ค่อนข้างเข้มงวดกับการไม่ให้รัฐบาลใช้นโยบายประชานิยมพอสมควร

โดยกำหนดในมาตรา 189 ว่า “เพื่อป้องกันการดำเนินนโยบายที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว การอนุมัติ นโยบาย มาตรการ หรือโครงการใดๆ ให้มีการวิเคราะห์ภาระงบประมาณและภาระทางการคลัง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม และให้ระบุปริมาณและแหล่งที่มาของเงินในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายดังกล่าว”

ผิดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 ที่ไม่ได้กำหนดแนวทางการควบคุมการใช้นโยบายประชานิยม เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตจะเน้นไปที่กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายแต่ละปีที่ต้องมีการแสดงฐานะการเงินการคลังของประเทศเท่านั้น

ขณะเดียวกัน คณะ กมธ.ยกร่างฯ ยังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 283 ของร่างรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อเป็นมาตรการควบคุมให้รัฐบาลต้องเร่งออกกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

3.สภาผู้แทนราษฎร อย่างที่ทราบกันดีว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้นำระบบการเลือกตั้งสส.แบบสัดส่วนผสมมาใช้ โดยให้มี สส.จำนวน 450-470 คน แบ่งเป็น สส.ระบบเขตเลือกตั้ง 300 คน และ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ 150-170 คน ถ้าอธิบายกันง่ายๆ ก็คือ หากพรรค ก.ได้คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 40% และจำนวน สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเกิน 40% จากทั้งหมด 300 คนแล้ว พรรคการเมืองนั้นจะไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่ออีก

ต่างจากระบบการเลือกตั้ง สส.ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 ซึ่งรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับมีการใช้ สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตรงที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 กำหนดให้มี สส. 500 คน ปี 2540 ให้มี สส.แบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน ส่วนปี 2550 ให้มี สส.แบ่งเขต 375 คน และบัญชีรายชื่อ 125 คน

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับในอดีตยังกำหนดให้พรรคการเมืองได้จำนวนแบบไม่มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเหมือนการเลือกตั้งระบบสัดส่วนผสมหมายความว่า ถ้าพรรค ก.ได้ สส.บัญชีรายชื่อ 70 คน และ สส.ระบบเขต 200 คน ก็ให้พรรคการเมืองมี สส.270 คน ไปโดยปริยาย

ขณะเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ลงมือปฏิรูปเอกสิทธิ์คุ้มครองของ สส. คือ กำหนดให้พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการฟ้องร้อง สส.ได้ทันที ถ้าเป็นกรณีที่ สส.คนนั้นกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดอื่นที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 ที่ได้มีการบัญญัติเอาไว้ เพราะได้ให้เกราะคุ้มครอง สส.พอสมควร

4.วุฒิสภา เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันว่าวุฒิสภาตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีความเป็นประชาธิปไตย หลังจากคณะ กมธ.ยกร่างฯ ออกแบบให้วุฒิสภามีจำนวน 200 คน แบ่งเป็น สว.สรรหาจากหลากหลายวิชาชีพ 123 คน และ สว.เลือกตั้ง 77 คน แต่ให้ สว.สรรหาชุดแรกมาจากการเลือกของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันและมีวาระ 3 ปี ส่วนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ให้ สว.มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว 200 คน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ให้ สว.มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และสรรหา 73 คน รวม 150 คน

นอกเหนือไปจากที่มาของ สว.จะแตกต่างกันพอสมควรแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ของ สว. โดยเฉพาะการถอดถอนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากอดีต โดยร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน สว.มีหน้าที่ถอดถอนเฉพาะตุลาการศาล ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยการใช้เสียงถอดถอนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ สว.

ส่วนการถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สส. และ สว.ให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภา (สภาและวุฒิสภา) โดยใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา ต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีตทั้งปี 2540 และ 2550 ที่ให้ สว.มีอำนาจถอดถอนบุคคลในทุกตำแหน่งข้างต้น โดยต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของวุฒิสภา

ทั้งหมดเป็นเพียงแค่จุดต่างและจุดเหมือนบางส่วนระหว่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่รอ สปช.ลงมติ แต่บทสรุปของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะผ่านสภาเหมือนรัฐธรรมนูญในอดีตหรือไม่คงต้องรอดูกันในวันที่ 6 ก.ย.


พท.-ปชป. ปลุกคว่ำ รธน. สัญญาณการเมืองแตกหัก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ลุ้นกันยกแรก 6 ก.ย.นี้ ว่าที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่รายละเอียดเนื้อหารายมาตรา ไปจนถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง และทิศทางอนาคตหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” ความเห็นชอบ

จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ “เนื้อหา” ที่ยัดเข้ามาในช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งห่วงกันว่าอาจเป็นการต่อท่ออำนาจให้มีมือที่มองไม่เห็นเข้ามาแทรกแซงการบริหารราชการได้เมื่อจำเป็น

เมื่ออำนาจพิเศษในมือคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหวังว่าจะเป็นช่องทางสำหรับยุติปัญหาไม่ให้บานปลายออกไปนั้น กำลังจะกลายเป็นปัญหาที่ฉุดให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ และอาจเป็นชนวนวิกฤตได้

กระแสคว่ำรัฐธรรมนูญที่เคยพูดถึงในแวดวง สปช.จึงกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ไม่อาจยอมรับในเนื้อหาได้ หรืออีกด้านหนึ่งที่ต้องการยื้อเวลาอำนาจพิเศษออกไปเกินกว่าโรดแมปเดิมที่วางไว้

ทว่า ประเมินสุ่มเสียงตั้งแต่ระดับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจนถึงหัวแถวในแม่น้ำแต่ละสายแล้ว มีความเห็นสอดคล้องต้องการเห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เดินหน้าไปจนสุดทาง

ดังนั้น แม้จะเห็น สปช.หลายคนออกมาส่งเสียงขู่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งในแง่เนื้อหาเรื่องระบบการเลือกตั้งที่เห็นว่าไม่ตอบโจทย์การเมือง และจะยิ่งสร้างปัญหาในอนาคต ไปจนถึงประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี ที่มา สว.ที่ถูกถล่มอย่างหนัก

แต่หากวิเคราะห์แนวโน้มเบื้องต้นเวลานี้เป็นไปได้สูงที่เสียงเกิน 124 จากทั้งหมด 248 เสียงของ สปช. จะลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

จุดเสี่ยงของร่างรัฐธรรมนูญจึงอยู่ที่ “ยกสอง” ในขั้นตอนการทำประชามติ ที่จะต้องใช้เสียงของประชาชนเป็นตัวชี้วัดตัดสินชี้ขาด

อย่าลืมว่าตั้งแต่เริ่มลงมือร่างรัฐธรรมนูญเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น แม้จุดอ่อนหลายประเด็นที่ถูกถล่มจะได้รับการแก้ไข แต่โครงใหญ่และชนวนสำคัญหลายเรื่องยังคงอยู่

แถมล่าสุดท่าทีจาก 2 พรรคใหญ่ ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ยังพร้อมใจออกมาประสานเสียงไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่จะยิ่งทำให้กระแสคว่ำรัฐธรรมนูญมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

สำหรับ “เพื่อไทย” คงจะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งในแง่เนื้อหาที่ประเมินแล้วระบบการเลือกตั้งใหม่จะทำให้จำนวนเก้าอี้เดิมต้องลดน้อยลงไปตามวิธีคำนวณใหม่ หรือในแง่ขั้วอำนาจเก่าที่ถูก คสช.เข้ามายึดอำนาจ ย่อมไม่อาจเห็นดีเห็นงามไปกับกระบวนการต่างๆ ของคณะรัฐประหาร

ดังจะเห็นจากท่าทีที่แสดงออกชัดเจน ตั้งแต่การแถลงการณ์ “ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญ” ส่งถึงบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สะท้อนว่า มีการสืบทอดอำนาจ ทำให้ประชาธิปไตยล้าหลัง เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม

เปรียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เสมือนเป็นซูเปอร์บอร์ด มีอำนาจเหนือรัฐบาล ทำลายหลักกฎหมาย หลักการประชาธิปไตยและความชอบธรรมของระบบการเมือง

ต่อเนื่องด้วย อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่รับไม่ได้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะไม่ยึดโยงและไม่ให้อำนาจกับประชาชน “เหมือนอยู่ร่วมกันในบ้านหลังใหญ่ แต่ไม่ให้อำนาจประชาชน อยู่แล้วไม่สุขสบาย”

สอดรับกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ช่วงนี้เดินสายอยู่ต่างประเทศ เละเริ่มเปิดหน้าออกมาถล่มร่างรัฐธรรมนูญบ่อยขึ้น ล่าสุด ถล่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “เลวร้ายที่สุด” เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ

แต่สำหรับ “ประชาธิปัตย์” แม้จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญ แต่นี่อาจจะเป็นท่าทีชัดเจนครั้งแรกที่ระดับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ออกมาเรียกร้องให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญในชั้นการลงมติวันที่ 6 ก.ย.

เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในร่างรัฐธรรมนูญหลายจุด ไม่ใช่เพื่อการสืบทอดอำนาจ เพราะหากปล่อยไปอาจจะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต

นี่จึงเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อสองพรรคใหญ่ที่มีฐานมวลชนสนับสนุนทั้งสองพรรคอยู่จำนวนมาก หากต้องตัดสินด้วยการทำประชามติย่อมมีความเป็นไปได้ที่ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านความเห็นชอบ

ยิ่งช่วงก่อนทำประชามติจะต้องเปิดเวทีให้แต่ละฝ่ายได้นำเสนอข้อมูลข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ

ด้วยระบบพื้นที่และฐานมวลชนที่เหนียวแน่นของแต่ละพรรค ย่อมจะทำให้แต่ละพรรคมีช่องทางส่งข้อมูลตรงถึงชาวบ้านได้โดยตรง และมีประสิทธิภาพมากกว่าข้อมูลจากส่วนกลาง

แม้ทาง คสช.จะพยายามคุมสถานการณ์ไม่ให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหว ปลุกปั่น หรือสร้างปัญหาทางการเมือง แต่ในช่วงสุดท้ายก่อนทำประชามติย่อมไม่อาจปิดหูปิดตาไม่ให้มีความเคลื่อนไหวได้ เพราะจะยิ่งทำให้การทำประชามติไม่เป็นที่ยอมรับ

ทว่า แม้สุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจนสามารถประกาศใช้ได้ แต่เมื่อทั้งสองพรรคใหญ่ต่างประกาศไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในหลายแง่หลายมุม

ถึงวันนั้้น ปมปัญหาต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้คลี่คลาย ย่อมจะกลายเป็นชนวนสร้างปัญหาและอาจดึงให้ทุกอย่างกลับมาสู่วังวนความขัดแย้งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชำแหละ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปรียบเทียบปี 40-50

view