สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Marketipulation

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร, อรกันยา เตชะไพบูลย์

ตั้งแต่ข่าวคราวการตกเหวของหุ้นจีนเมื่อเดือนก่อน ที่ทำให้แวดวงเศรษฐกิจโลกตื่นตระหนกมาแล้วระลอกหนึ่ง เดือนนี้ความร้อนแรงของประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนก็ไม่ได้เบาบางลงเลย หลังจากช่วงวันที่ 11-13 สิงหาคม 2558 ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดค่ากลางอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐประจำวันลงกว่าร้อยละ 4.7

โดยจากที่ปกติอัตราแลกเปลี่ยนทรงตัวอยู่ในระดับประมาณ 6.12 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ให้มาเป็น 6.23 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ซึ่งคิดเป็นการปรับลดลงถึงร้อยละ 1.9 ในวันเดียว เป็นการปรับลดลงภายใน 1 วัน ในอัตราสูงที่สุดในรอบกว่า 20 ปี และได้ปรับลดค่ากลางลงอย่างเห็นได้ชัดต่อเนื่องอีก 2 วัน คือลดลงร้อยละ 1.6 และร้อยละ 1.1 ในวันถัดมาตามลำดับ

และแล้วในวันที่ 14 สิงหาคม 2558 ธนาคารกลางจีนก็ได้หยุดการกำหนดค่ากลางของเงินหยวนให้อ่อนค่าลง และเริ่มกลับมากำหนดค่าเงินหยวนให้มีเสถียรภาพ โดยกำหนดให้ค่ากลางของวันดังกล่าวแข็งค่าขึ้นจากวันก่อนหน้าร้อยละ 0.1

คำถามที่ตามมาคือ เพราะเหตุใด ธนาคารกลางจีนทำเช่นนี้

จากคำให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการของโฆษกธนาคารกลางจีนที่ออกมาแถลง3 ครั้ง หลังจากการปรับลดค่ากลางเงินหยวน จะพบว่า เหตุผลหลักที่ธนาคารกลางจีนได้นำมาใช้เพื่ออธิบายการปรับลดค่าเงินหยวน คือ การปรับให้ค่าเงินหยวนมีความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับกลไกตลาดมากขึ้น

ธนาคารกลางจีนได้ประกาศปรับใช้วิธีการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐแบบใหม่โดยนับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมา อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนที่ธนาคารกลางจีนประกาศ (Reference Rate) ก่อนที่ระบบแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของจีนเปิดทำการทุกวัน จะขึ้นอยู่กับราคาปิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันก่อนหน้า (Previous Close) ซึ่งจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารกลางจีนประกาศรายวันมีความสอดคล้องกับกลไกตลาดมากขึ้น แตกต่างจากเดิมที่ธนาคารกลางจีนมักประกาศอัตราแลกเปลี่ยนรายวันให้สอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ประกาศในวันก่อน

การทำเช่นนี้นอกจากจีนได้ประโยชน์ตามที่หลายฝ่ายพูดถึง เกี่ยวกับการช่วยกระตุ้นการส่งออกของจีนที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในเดือนกรกฎาคม 2558 และหดตัวในช่วง 7 เดือนแรกของปีที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนแล้ว

ที่สำคัญคือยังช่วยเพิ่มโอกาสของจีนที่พยายามผลักดันให้เงินหยวนได้เป็นส่วนหนึ่งของตะกร้า SDR หรือ Special Drawing Rights ของ IMF ซึ่งจะมีการพิจารณาในปลายปีนี้ด้วย

การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้า SDR มีความสำคัญมากกับจีนที่ต้องการผลักดันให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักของโลก หรือ Internationalization of RMB เพราะการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้า SDR ที่ปัจจุบันประกอบไปด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินปอนด์ และเงินเยน ซึ่ง IMF ให้การรับรองว่าการถือครองเงินสกุลเหล่านี้สามารถนับเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกับการถือครองทองคำของประเทศนั้นได้

ย่อมหมายถึงการได้รับการรับรองสถานะพิเศษของเงินหยวนในตลาดเงินโลกให้มีความสำคัญอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม การที่ IMF จะรับรองเงินสกุลใดให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้า SDR เพิ่มเติมไม่ใช่เรื่องง่าย

เนื่องจากเงินสกุลนั้นนอกจากจะต้องผ่านกฎเกณฑ์ด้านปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังจะต้องผ่านกฎเกณฑ์เรื่องความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างเสรีตามกลไกตลาด และการสามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรีด้วย

ปัจจุบันเงินหยวนเป็นเพียง เงินสกุลเดียวที่ผ่านกฎเกณฑ์ด้านปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการค้าระหว่างประเทศ แล้วแต่ยังไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในตะกร้า SDR เนื่องจาก IMF ยังคงต้องพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างเสรีตามกลไก ตลาด และการสามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี โดยตามความเห็นของ IMF เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ที่ได้กล่าวว่า การพิจารณารับรองเงินหยวนให้เป็นส่วนหนึ่งของตะกร้า SDR ของ IMF จะมุ่งความสนใจไปที่ประเด็นความเสรีของเงินหยวนเป็นสำคัญ

ธนาคารกลางจีนทราบดีถึงข้อจำกัดของเงินหยวนในข้อนี้จึงได้พยายามปรับปรุงให้เงินหยวนมีความเสรีมากขึ้นเป็นระยะ

ตั้งแต่การเริ่มใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว แบบมีการจัดการ หรือ Managed Float System เพื่อให้เงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในปี 2548 มาจนถึงการผ่อนคลายการควบคุมค่าเงินหยวน โดยขยายกรอบอัตราแลกเปลี่ยนหรือ Trading Band จากเดิมที่ +/- 0.5% เป็น +/- 1.0% ในแต่ละวันในปี 2555 และอีกครั้งที่เพิ่มเป็น +/- 2.0% ในปี 2557 และมีความเป็นไปได้ที่จะขยายกรอบอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมอีกครั้งในปีนี้


มา จนถึงการประกาศปรับใช้วิธีการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ แบบใหม่ในครั้งนี้ซึ่งนับเป็นการปล่อยของที่สำคัญอีกรอบหนึ่งในช่วงเวลา สำคัญ ที่ทางการจีนต้องเร่งทำคะแนนให้ IMF ได้เห็น เพราะถ้าหากพลาดการพิจารณาตะกร้า SDR ในรอบนี้ จีนจะต้องรอไปอีกถึง 5 ปี จนกว่าที่ IMF จะถึงกำหนดพิจารณาส่วนประกอบตะกร้า SDR อีกครั้ง

การดำเนินการของธนาคารกลางจีนในลักษณะ Marketipulation ในครั้งนี้นับเป็นการเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด

เพราะในขณะที่ในทางหนึ่งสามารถแสดงความจริงจังในการปรับปรุงค่าเงินหยวนให้เสรีเข้าสู่กลไกตลาดมากขึ้น(Market Mechanism) ตามความนิยมของ IMF


ใน อีกทางหนึ่งนั้น ธนาคารกลางจีนยังดำรงความอิสระในการตัดสินใจในการกำหนดค่าอัตราแลกเปลี่ยน เงินหยวนรายวันและยังสามารถควบคุมค่าเงินหยวนไม่ให้ผันผวนมากจนเกินไปผ่าน กลไกควบคุมการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนภายในกรอบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด ไว้(Manipulation) โดยยังไม่ต้องลอยตัวค่าเงินหยวนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับไทยเราในช่วงวิกฤต ต้มยำกุ้ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Marketipulation

view