สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลิกกฎหมาย ปปง. ต้นตอแบงก์ไม่รับฝากเงิน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พรสวรรค์ นันทะ ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

สร้างความฮือฮาและความฉงนให้ผู้ฝากเงินทั่วไปไม่น้อย กรณี อดิศร เพียงเกษ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ในคดียุบพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2549 ถูกปฏิเสธจากพนักงานธนาคารออมสินในการทำธุรกรรมการฝากเงิน เนื่องจากเป็นนักการเมืองที่มีความเสี่ยงระดับ 3

กรณีนี้ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ชี้แจงว่า เป็นความเข้าใจผิดของพนักงานสาขาที่อาจเข้มงวดมากเกินไปในการทำตามกฎหมายของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้ลูกค้าใหม่ซึ่งเปิดธุรกรรมใหม่ต้องกรอกข้อมูลตามเกณฑ์เกี่ยวกับการรู้จักลูกค้า (Know Your Customer : KYC) และตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า เพื่อดูความเสี่ยงที่ธนาคารจะรวบรวมไว้รายงานต่อ ปปง. และบังเอิญว่าโดยปกติแล้ว อาชีพนักการเมืองอยู่ในความเสี่ยงระดับ 3 ที่ตามหลักจะรับฝากเงินไม่ได้ แต่ก็อนุโลมได้หากเคลียร์ข้อมูลของเงินและธุรกรรมได้ว่า ไม่เข้าข่ายมีเหตุอันควรสงสัย

จากการสอบถามไปยังสายงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน ธปท. ได้ชี้แจงว่า การดูความเสี่ยงของธุรกรรมไม่ได้มีเพียงด้านเงินกู้อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่จะดูด้านเงินฝากและเงินโอนด้วย ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติตามกฎหมาย ปปง. เพื่อให้ตรวจสอบดูได้ว่าไม่ได้เป็นเงินจากการฟอกเงิน รวมทั้งมีการแยกกลุ่มความเสี่ยงบุคคลต้องห้ามและอาชีพไว้ด้วย เพื่อป้องกันเงินที่มาจากสิ่งผิดกฎหมายมาฟอกผ่านสถาบันการเงิน เช่น นักการเมืองที่อาจนำเงินจากการซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้งมาทำธุรกรรม จึงถูกจัดอยู่ในประเภทความเสี่ยงระดับ 3 โดย ปปง.จะมีบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ระบุมาว่ามีใครบ้าง นอกจากนี้ยังมีเงินผิดกฎหมายอื่นๆ เช่น เงินจากการพนัน ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ยักยอก ฉ้อโกง และการก่อการร้าย เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการเปิดทำธุรกรรมครั้งแรก สถาบันการเงินต้องทำตามเกณฑ์ KYC ที่ลูกค้าต้องกรอกข้อมูลและแสดงบัตรประชาชน ซึ่งหากลูกค้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือติดแบล็กลิสต์ สถาบันการเงินจะขอเอกสารเพิ่มเติม หรือหากเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงจะเป็นปัญหาจริงๆ ก็อาจปฏิเสธไม่รับทำธุรกรรมก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่คนทั่วไปไม่รู้ เพราะส่วนใหญ่สามารถทำธุรกรรมได้ปกติ

วิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ปปง. กล่าวว่า พนักงานออมสินเข้าใจผิดเรื่องห้ามทำธุรกรรมกับบุคคลที่มีสถานะทางการเมือง ความจริงสามารถทำธุรกรรมได้ เพียงแต่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เป็นไปตามกฎและแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของ “คณะทํางานเฉพาะกิจเพื่อดําเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน” (FATF) หากไทยไม่ดำเนินการก็อาจถูกประเมินว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงการฟอกเงิน

ทั้งนี้ FATF กำหนดให้บุคคลที่มีความเสี่ยงในการฟอกเงิน เช่น บุคคลที่มีสถานะทางการเมือง นักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงข้าราชการระดับสูงในองค์กรของรัฐ ตั้งแต่ระดับอธิบดีขึ้นไป โดย ปปง.ได้ประสานให้รายงานบุคคลที่มีชื่อที่ต้องจับตาเป็นพิเศษด้วย ซึ่ง ปปง.จะแบ่งกลุ่มลูกค้าตามระดับความเสี่ยง 3 ระดับ แต่ธนาคารจะไม่เปิดเผยชื่อ เพราะจะมีความผิดที่เอาความลับลูกค้าไปเปิดเผยได้

กรณีความเข้าใจผิดของธนาคารออมสิน ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนได้ถึงการปฏิบัติตามกฎหมายของไทยที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยเพิ่งหลุดพ้นจากแบล็กลิสต์บัญชีรายชื่อประเทศเสี่ยงต่อการฟอกเงิน-ก่อการร้าย ของ FATF เมื่อปี 2556 และไทยก็จะต้องได้รับการทบทวนอันดับครั้งต่อไปในปีหน้า 2559 พร้อมกับสามารถการันตีให้โลกเชื่อมั่นต่อได้ว่า มีมาตรฐานที่เข้มงวดจริงและไม่มีอภิสิทธิ์ให้แม้แต่นักการเมือง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พลิกกฎหมาย ปปง. ต้นตอ แบงก์ ไม่รับฝากเงิน

view