สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความยั่งยืนของธุรกิจวัดเป็นตัวเลขได้

ความยั่งยืนของธุรกิจวัดเป็นตัวเลขได้
โดย : เรวัต ตันตยานนท์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในปัจจุบัน เรื่องความยั่งยืนของธุรกิจ หรือการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของธุรกิจเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริหารธุรกิจเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทมหาชน ที่มอบอำนาจสูงสุดในการบริหารธุรกิจให้กับผู้บริหารรับจ้างเป็นผู้กำหนดทิศทางของธุรกิจในอนาคต

องค์กรที่ให้ความสนใจกับเรื่องของการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของธุรกิจต่างๆ ที่ได้ติดตามและพัฒนาดัชนีชี้วัดความยั่งยืนของธุรกิจต่างๆ มาเป็นเวลานานพอสมควร (เริ่มตั้งแต่ปี 1999) และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ได้แก่

ความร่วมมือระหว่างผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ระดับโลก คือ Dow Jones และ S&P

ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Index นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า ดัชนี DJSI จะได้มาจากการวิเคราะห์การดำเนินการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 2,500 ราย ใน 3 หมวดใหญ่ๆ คือ ความมั่นคงทางธุรกิจ การให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ การใส่ใจต่อสังคมและชุมชน

เช่น การประเมินการดำเนินการ และการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัท เกี่ยวกับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องบรรษัทภิบาล การบริหารความเสี่ยง การให้ความสำคัญเกี่ยวกับภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และสัญญลักษณ์หรือตราสินค้าที่เป็นตัวแทนของบริษัท ที่เรียกว่า การรักษาภาพลักษณ์ของ แบรนด์

กิจกรรมและความตั้งใจที่จะแสดงออกในเรื่องของการลดมลภาวะ และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก เช่น การรณรงค์เพื่อลดสภาวะโลกร้อน

รวมไปถึงแนวทางในการดูแลรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ถือหุ้น คู่ค้าที่ต้องร่วมมือกันในการทำธุรกิจ ที่มักเรียกกันว่า อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน ตลอดจนการดูแลพนักงานของตนเอง ให้มีการพัฒนาความเป็นอยู่ สภาพการทำงาน และการสนับสนุนให้มีโอกาสก้าวหน้าในการทำงาน

ดัชนี DJSI แบ่งการวัดความยั่งยืนของบริษัทในอุตสาหกรรมที่ต่างกัน ด้วยชุดตัววัดที่แตกต่างกันไปตามลักษณะและธรรมชาติของการดำเนินธุรกิจที่ต่างกัน ปัจจุบัน ได้พัฒนาตัวชี้วัดสำหรับธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวม 58 ประเภทอุตสาหกรรม และยังแบ่งออกเป็นดัชนีตามภูมิภาค

เช่น ดัชนีสำหรับ ยุโรป อเมริกาเหนือ กลุ่มประเทศนอร์ดิก เอเชียปาซิฟิก ออสเตรเลีย ฯลฯ เป็นต้น โดยมีดัชนีกลาง เรียกว่า DJSI World และขยายออกไปเป็นดัชนีสำหรับกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (Emerging Countries)

และอาจรวมไปถึงการวัดดัชนีในระดับประเทศด้วย เช่น ดัชนี DJSI ประเทศเกาหลี

เพื่อให้ใช้วัดความยั่งยืนของบริษัทที่ดำเนินการภายใต้สภาวะทางธุรกิจที่แตกต่างกันได้ชัดเจนและแม่นยำมากขึ้น

บริษัท ที่จะได้รับพิจารณาให้เข้าร่วมในการคำนวณดัชนีในแต่ละปี จะต้องตอบแบบสอบถามในหัวข้อต่างๆ ที่จะแสดงให้เห็นถึง เป้าหมายและการวางแผนระยะยาวของบริษัท ต่อการสร้างความเข้มแข็งในด้านผลประกอบการทางธุรกิจ การให้ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนช่วยเหลือสังคมชุมชน อย่างต่อเนื่อง

นอกจากการแสดงออกผ่านการตอบแบบสอบถาม DJSI ยังมีระบบการติดตามข่าวสารทางสื่อมวลชนต่างๆ ของบริษัทที่ร่วมอยู่ในการคำนวณดัชนี หากพบว่า มีเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบทางลบเกิดขึ้น ไม่ว่าในด้านใดก็ตาม บริษัทนั้นๆ อาจถูกพิจารณาให้ถอดออกจากการได้เข้าร่วมในการคำนวณดัชนี ทันที

การติดตามข่าวสารของบริษัทในกลุ่มที่เข้าคำนวณดัชนี อย่างตลอดเวลานี้ เป็นกระบวนการที่เรียกว่า MSA (Media and Stakeholders Analysis) ซึ่งเป็นการตรวจสอบผ่านแหล่งข่าวต่างๆ เสียงสะท้อนจากบรรดาผู้ถือหุ้นที่แสดงออกสู่สาธารณะ หรือสื่อต่างๆ ประจำวัน

มีศัพท์อีกคำหนึ่งที่นักบริหารธุรกิจสมัยใหม่ควรทราบ ก็คือ คำว่า “ESG” ซึ่งหมายถึง การรักษาสิ่งแวดล้อม (Environment) การดูแลสังคม (Social) และ การมีธรรมาภิบาลทางธุรกิจ (Governance) ซึ่งเป็นระบบการบริหารธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

สำหรับผู้บริหารที่สนใจพัฒนาธุรกิจของตนเองไปสู่แนวทางความยั่งยืน ควรให้ความสนใจกับหัวข้อต่างๆ ที่ ดัชนี DJSI ใช้สำหรับการประเมินและการคำนวณดัชนี ดังนี้

๐ การมีระบบธรรมาภิบาลหรือบรรษัทภิบาลที่ดี และมีการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมไปถึงการตรวจสอบระบบ และการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

๐ มีระบบการจัดการความเสี่ยงและระบบการจัดการวิกฤติที่เหมาะสมรัดกุม

๐ มีหลักปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจที่ประกาศชัดเจนและพนักงานรับทราบและเข้าใจ พร้อมนำไปปฏิบัติในการทำงานประจำวัน มีระบบกำกับดูแล ตรวจสอบการปฏิบัติงาน มีระบบและกฎเกณฑ์ในการป้องกันธุรกิจจากการคอร์รับชั่น หรือการให้สินบน เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ

๐ การรายงานกิจกรรมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ

๐ มีการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

๐ การพัฒนาพนักงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น

๐ มีระบบการรักษาพนักงานที่มีประสบการณ์และดึงดูดผู้ที่มีความสามารถในด้านต่างๆ เข้ามาร่วมงาน

๐ มีการดำเนินการด้านแรงงานสัมพันธ์ และปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด

๐ การแสดงความเป็นพลเมืองที่ดีของบริษัท การอาสาสมัคร และการบริจาคเพื่อช่วยเหลือสังคม

บริษัทหรือธุรกิจ จะดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืนไม่ได้ หากเจ้าของหรือผู้บริหารมุ่งแต่การสร้างกำไรจากธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจต่อผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชน สังคม ตลอดจนการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์โลกโดยรวม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความยั่งยืนของธุรกิจ วัดเป็นตัวเลข

view