สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สังคมอุดม หนี้

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มุมคิดคนข่าว โดย อังศุ angsu_tu@gmail.com

เรื่องนี้เกิดจากประสบการณ์ตรง หลังจากได้กลับบ้านเกิดในจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือ อำเภอเล็ก ๆ ที่แต่เดิมการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาจากการค้าขาย ทำนา ทำไร่ยาสูบ

วันนี้เศรษฐกิจในพื้นที่นั้น แม้ยังพึ่งพาการเกษตรควบคู่การพาณิชย์ แต่ก็มีตัวเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจชั้นดี หลังจากมีวิทยาเขตมหาวิทยาลัยด้านการเกษตรชื่อดังของภาคเหนือ เข้าไปตั้งในพื้นที่เมื่อประมาณ 15 ปีก่อน

เวลาที่ผ่านมา ทำให้มีหอพัก ร้านค้า ร้านซักผ้า ร้านเหล้า ร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ ร้านกาแฟผุดขึ้นพรึ่บพรั่บ สร้างความคึกคักให้อำเภอเล็ก ๆ ที่เคยเป็นแค่ทางผ่านข้ามเขตจังหวัด ให้มีชีวิตชีวา มีผู้คนต่างถิ่น มีคนรุ่นใหม่วัยนักศึกษาจากทั่วประเทศเข้ามาพักอาศัย แม้เพียงชั่วคราว 4-5 ปี ตามวัฏจักรชีวิตมหาวิทยาลัย แต่ก็มีคนใหม่ ๆ หมุนเวียนเข้ามาอยู่ทุกปี

อีกมุมหนึ่งของความคึกคักต้อนรับสิ่งใหม่ ธุรกิจเงินกู้ก็เบ่งบานในพื้นที่มีธุรกิจเช่าซื้อ (ลีสซิ่ง) ระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น ร้านเงินกู้เงินด่วน เกิดขึ้นเรียงรายเป็นทิวแถวยึดพื้นที่อาคารพาณิชย์ยาวกว่า 8-9 คูหา แปะป้ายออกคำโฆษณาจูงใจผู้คนที่ร้อนเงิน ขาดสภาพคล่องให้เข้ามาใช้บริการ เช่น แคมเปญต้อนรับเปิดเทอม ดอกเบี้ยเพียง 0.99% แต่บนป้ายโฆษณาไม่บอกว่า อัตราดอกเบี้ยนี้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อปี หรือต่อเดือน หรือสินเชื่อทะเบียนมอเตอร์ไซค์ ดอกเบี้ย 1.19% รถยนต์ 0.95% เป็นต้น

ป้ายโฆษณาแบบนี้ เห็นจนชินตาและชาชินในสังคมเมืองใหญ่และในกรุงเทพฯ จนแทบไม่ได้สะดุดใจอะไร

แต่เมื่อเห็นในอำเภอเล็ก ๆ ที่ส่วนตัวมีภาพจำเปรียบเทียบกับสัก 20 ปีก่อน ก็ทำให้เกิดความรู้สึกวูบไหวในความเปลี่ยนแปลงอยู่

เมื่อคิดดูว่าในอำเภอที่มีคนรุ่นใหม่วัยนักศึกษา ที่พ่อแม่คงซื้อมอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะหลักให้ขับขี่ไปเรียน มีธุรกิจเงินกู้แปะป้ายรับจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์เกิดขึ้น และดูกิจการน่าจะคึกคักดี เพราะสามารถยึดพื้นที่ตึกแถวได้หลายคูหา...เห็นป้ายโฆษณาเหล่านี้แล้วก็น่าคิดว่า "หนี้สิน" ของคนในอำเภอนั้นจะพอกพูนเติบโตตามการขยายตัวของธุรกิจเงินกู้ขนาดไหน

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับภาพใหญ่ข้อมูลระดับประเทศที่พบว่า ตอนนี้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 79.9% ซึ่งแม้จะลดลงจาก 1-2 ปีก่อน แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ ถ้าประเทศไทยทั้งประเทศมีรายได้ 100 บาท ภาคครัวเรือนไทยก็มีหนี้สินเกือบ 80 บาท ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจซึมอย่างปีนี้ ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประจำไตรมาส 2/58 เปิดเผยว่า การผิดนัดชำระหนี้ในส่วนของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.5% สินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 28% ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในไตรมาส 2/58 สินเชื่ออุปโภคบริโภคมียอดคงค้าง 3,568,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2557 จำนวน 75,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน มากถึง 94,400 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้า 13% หรือ 10,900 ล้านบาท

จนดูเหมือนว่าหนี้สินภาคครัวเรือนไทย ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะทุเลา...ซึ่งคงต้องใช้ทั้งเวลา วินัย และความอดทนอีกมาก กว่าจะหลุดออกจากสังคมอุดม "หนี้สิน" และไม่เป็นข้อจำกัดต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างที่ประสบในเวลานี้

ดูตัวอย่างเงินรัฐที่เติมให้ชาวนา ชาวสวนยาง 4 หมื่นล้านเมื่อ ต.ค. 57 ส่วนใหญ่ก็เอาไปใช้หนี้มากกว่าจะใช้เป็นเงินทุนผลิตของใหม่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สังคมอุดมหนี้

view