สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ว่าด้วย กรอบความคิด Mindset (2)

ว่าด้วย “กรอบความคิด” Mindset (2)
โดย : พอใจ พุกกะคุปต์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




“ความคิดนั้นสำคัญมาก ถือได้ว่าเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำทั้งปวง”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2540

ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกครั้ง เพื่อเป็นหลักน้อมนำในการคิดค่ะ

John C. Maxwell หนึ่งในกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้นำ ย้ำว่า สิ่งหนึ่งที่ผู้ที่ประสบความสำเร็จ มีเหมือนกันคือ

“How they think”

วิธีคิดของพวกเขา

ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุด ที่หยุดความสำเร็จของเราได้อย่างชะงักนัก คือ “กรอบความคิด” ของเรานั่นเอง

หากคิดว่า “ทำได้” หรือ “น่าจะลองทำดู” “น่าจะลองสู้ใหม่”

เท่ากับยังไม่จนหนทาง

หากคิดว่า “ทำไม่ได้”

คำตอบนี้ ฟันธงง่าย ว่าจะไปถึงไหน

เพราะหนทางที่แสนสั้นนั้น ลงเอยได้สองสถาน

คือ ทำไม่ได้! หรือ ไม่ได้ทำ!

แม้วงการแพทย์ อาทิ Mayo Clinic กลุ่มองค์กรชั้นแนวหน้าสุดของโลกในเรื่องการรักษาพยาบาลและการวิจัยด้านสุขภาพ ยังระบุว่า การคิดเชิงบวกสำคัญยิ่ง เพราะส่งผลดีมากมายต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น

ระดับความเครียดที่ต่ำลง

สุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีขึ้น

ลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือด

และแน่นอน ทำให้อายุยืนยาวขึ้น

Mayo Clinic และกูรูด้านจิตวิทยา แนะนำว่า เราต้องหมั่นฝึกทำลาย ANT ซึ่งย่อมาจาก Automatic Negative Thought นั่นคือ การคิดอะไรเป็นร้ายได้หมดจดอย่างอัตโนมัติจัดเต็ม คิดจนเครียดเพราะความทุกข์เบียดบัง

หากไม่มั่นใจว่ากรอบความคิดของฉัน มันไปอยู่แนวบวก หรือแนวลบแบบ ANT ให้ลองใคร่ครวญ ตั้งใจฟังความคิดของตนเอง ว่ายามมีปัญหา เราคิดอย่างไร พูดกับตนเองว่าอะไร โดยใช้หลัก 3 Ps

มาดูกันว่าเจ้า 3 Ps มีอะไรบ้างค่ะ

1. เราคิดว่าสิ่งที่เกิด Permanent ยืนยง ตลอดไป..หรือไม่

สำหรับมนุษย์กรอบลบ ยามที่พบความผิดพลาด หรือความยากลำบากในชีวิต เขามักฟันธงว่า ฉันไม่มีทางทำมันได้ ฉันไม่มีทางทำเป็น (ไม่ว่าเมื่อใด ไม่ว่าอย่างไร)

เมื่อถูกต่อว่าในที่ประชุม เขาก็จะบ่นกับตนเองว่า “ฉันซวยตลอดชีวิต”

คนกรอบบวก จะบอกตนว่าไม่มีอะไรยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องร้าย เมื่อเจองานยากที่ไม่คุ้นเคย เขาบอกตัวเองว่า

“แค่ยังทำไม่เป็น” “แค่ยังทำไม่ได้”

นั่นหมายถึงว่า ขอเวลา ขอโอกาส ครั้งหน้าไม่น่าพลาดเหมือนครั้งนี้

ถูกดุในที่ประชุม เขาคิดหาสาเหตุได้ว่า “เมื่อคืน พักผ่อนไม่พอ เลยตอบคำถามไม่ดี ครั้งหน้าต้องเตรียมการเนิ่นๆ จะได้ไม่ต้องนอนดึก”

2. เราคิดว่าสิ่งที่เกิด Pervasive ครอบคลุม เหมารวม..หรือไม่

คนกรอบลบ มักเหมารวม

ถูกน้อง Pretty เบี้ยวงาน ส่งผลให้คิดว่า “พวกสวยแบบหัวทั้งกลวงทั้งเก๊ไว้ใจไม่ได้”

ขณะที่คนกรอบบวก จะเว้นที่ไว้ให้โลกมีโอกาสสวยบ้าง

“ครั้งหน้าจะเลือกจ้างใครต้องเช็คผลงานให้ดี เพราะบางคนมีประวัติทิ้งงานกลางคัน”

เมื่อมีปัญหา เขาตระหนักว่า ย่อมมีสาเหตุ แยกแยะได้เป็นกรณีๆไป ไม่เหมารวมจนโลกเฉาเหงาตามไปด้วย

3. เราคิดว่าสิ่งที่เกิดเป็นเรื่อง Personal เป็นเพราะเรา..หรือไม่

คนกรอบลบ เมื่อเกิดความผิดพลาด จะเริ่มขลาดและหวาดหวั่น ว่าฉันดีไม่พอ

เช่น ยามมีปัญหาหย่าร้าง เขาจะบอกตนว่า “ฉันมันโง่จริงๆ (Personal) ปล่อยให้ผู้ชายทั้งโลก (Pervasive) หลอกตลอดชาติ (Permanent)..” กระหน่ำทั้ง 3Ps ให้เห็นในประโยคเดียวเลย!

ขณะที่คนมองบวก ไม่กระหน่ำซ้ำเติมตนยามมีปัญหา

เขาแยกแยะได้ว่า มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจรวมถึงตนเอง

“ผู้ชายคนนี้ไม่จริงใจ ขอยืมเงินแล้วไม่ใช้ตั้งแต่จีบกัน ฉันเองก็พลาดที่เร่งตัดสินใจ เป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่สำหรับครั้งหน้า (ถ้ามี)”

ลองหันไปดูวงการอื่น อาทิ มืออาชีพขั้นเทพ แบบนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิค ก็ต้องฝึกใช้ทักษะ 3Ps อย่างมีวินัย

จากการวิจัยเชิงจิตวิทยา พบว่า คนเราพูดหรือคิดกับตัวเอง หรือ Self Talk นาทีละ 300-1000 คำ!

หากคำเหล่านั้น ตอกย้ำความผิดพลาด ความโง่เง่า และทุกสิ่งที่อับเฉาในชีวิต

ลองคิดดูว่านักกีฬาที่ต้องผ่านอุปสรรคนานับประการ คงตัดสินใจได้ง่ายว่า ไปขายกาแฟ ปลอดภัยกว่า ไม่เหนื่อย ไม่หน้าแตก แถมไม่ต้องผิดหวัง

ดังนั้น นักกีฬาโอลิมปิค จึงถูกฝึกให้ Self Talk จากกรอบบวก ว่า “ฉันพร้อมที่สุดแล้ว” “ฉันจะทำอย่างเต็มที่” “วันนี้ฉันทำให้ดีที่สุดได้”

แม้ระหว่างการแข่งขันจะเริ่มเป็นรอง แต่ก็ต้องกลับมามีสติกับปัจจุบัน สั่งตัวเองได้ว่า “ต้องทำให้ดีที่สุด”

ที่ผ่านแล้ว ผ่านไป ที่ยังมาไม่ถึง ไม่ต้องกังวล แต่นาทีนี้ ต้องดีที่สุด

ตอนนี้ท่านผู้อ่าน Self Talk ว่าอะไร ได้ยินบ้างไหมคะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ว่าด้วย กรอบความคิด Mindset (2)

view