สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (1)

ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (1)
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ขออนุญาตก้าวถอยออกมาจากการประเมินภาวะเศรษฐกิจโดยรวม แล้วกลับมาคุยเรื่องของการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

หรือความกินดีอยู่ดีของประชาชนว่า มีหลักการและแนวทางอย่างไรบ้าง ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำถามพื้นฐานที่วิชาเศรษฐศาสตร์พึงจะหาคำตอบมาเป็นเวลา 400 ปีมาแล้ว โดยผมใช้หนังสือ The Wealth of Nations ของ Adam Smith เป็นจุดตั้งต้นของวิชาเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าปัญหาเศรษฐกิจนั้นมีมาตราบเท่าที่มนุษย์อยู่ร่วมกันและต้องพึ่งพาอาศัยกัน

แม้แต่สมมุติฐานหลักของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนกันมานั้น ก็เป็นสมมุติฐานที่เป็นข้อถกเถียงกันได้ กล่าวคือ เหตุที่เราต้องร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์ ก็เพราะโลกของเรามีความขาดแคลนไม่จบสิ้น หรือมองอีกทางหนึ่งคือ มนุษย์มีความต้องการที่ไม่มีขีดจำกัด แต่ทรัพยากรนั้นมีอยู่จำกัด (ซึ่งรวมถึงเวลาของแต่ละคนที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ด้วย) ดังนั้น พื้นฐานของเศรษฐศาสตร์คือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด ให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์สูงสุด มาถึงตรงนี้ก็จะตั้งประเด็นค้านได้อย่างน้อย 2 ข้อคือ

1.เป็นการตั้งสมมุติฐานว่า มนุษย์ไม่มีความเพียงพอ ซึ่งแย้งกับคำสอนของศาสนาพุทธ ที่ต้องการให้สละความโลภ และลดความต้องการของตน

2.การจัดสรรทรัพยากรให้ผลิตอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น เป็นคำตอบแบบกว้างๆ โดยมิได้คำนึงถึงความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ทรัพยากรนั้นจะทุ่มเทไปทำจรวด เพื่อให้ยิงไปถึงดวงจันทร์ อย่างมีประสิทธิภาพก็ได้ แต่จะเสียโอกาสในการนำเอาทรัพยากรดังกล่าว ไปพัฒนาชีวิตของประชาชนที่ยากจน เป็นต้น กล่าวคือเศรษฐศาสตร์ได้พยายามตอบคำถามว่า จะทำให้เค้กใหญ่ขึ้นได้อย่างไร แต่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า เค้กนั้นควรจะแบ่งปันกันอย่างไร

การจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุด ในการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ที่มีอยู่อย่างไม่มีขอบเขตจำกัดนั้น เป็นปัญหาของมนุษย์มาหลายพันปีแล้ว แต่วิชาเศรษฐศาสตร์กำเนิดขึ้นมาเพียง 400 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ส่วนหนึ่งเพราะในช่วงก่อนหน้านั้น ระบบบริหารประเทศและบริหารเศรษฐกิจส่วนใหญ่ เป็นการถูกบัญชาการมาจากผู้ปกครองแผ่นดิน (command economy) ซึ่งมีอำนาจเต็ม ชาวบ้านมีหน้าที่ผลิตอาหารจ่ายภาษี และต้องถูกเกณฑ์เป็นทหารไปรบเป็นครั้งคราว แลกกับการคุ้มครองของผู้ที่มีอำนาจปกครองแคว้นหรือประเทศนั้นๆ นอกจากนั้น ก็ยังมีช่างฝีมือและผู้ที่มีอาชีพและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่อยู่ภายใต้อำนาจและการอุปถัมภ์ของผู้ปกครองแผ่นดิน กล่าวคือ “กลไกตลาด” ที่เรามักจะกล่าวถึงในการศึกษาระบบเศรษฐกิจปัจจุบันนั้น มีเป็นส่วนน้อย คือมีตลาดค้า-ขายแบบตลาดสด โดยระบบตลาดในสมัยก่อนนั้นเป็นตลาดค้า-ขาย “ระหว่างประเทศ” คือมีพ่อค้าซื้อของจากเมืองหนึ่งไปขายอีกเมืองหนึ่งเป็นหลัก โดยการค้า-ขายดังกล่าว ก็มีส่วนในการสร้างระบบสื่อสารและการแลกเปลี่ยนกัน ในด้านของวัฒนธรรมและเทคโนโลยีอีกด้วย (ซึ่งบางครั้งก็เป็นพาหะของโรคร้าย ที่ระบาดไปทั่วโลกได้อีกด้วย)

ต่อมาเทคโนโลยีโดยเฉพาะจากตะวันตก พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้สร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในด้านต่างๆ (แทนคำอธิบายที่ไร้เหตุผลแบบไสยศาสตร์) และมีผลให้มีสิ่งประดิษฐ์มากมายที่ทุ่นแรงมนุษย์ กล่าวคือเครื่องจักรต่างๆ ทำให้มนุษย์ผลิตสินค้าได้มากขึ้น ขนส่งสินค้าได้ทั่วโลก และสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะทาง

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการบัญชาจากผู้ปกครองแผ่นดิน ดำเนินต่อไปได้ยาก โครงสร้างเศรษฐกิจก็เปลี่ยนจากการที่มีภาคเกษตรเป็นพื้นฐาน มาเป็นการกำเนิดอุตสาหกรรมและเมืองใหญ่ๆ กล่าวคือพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กดดันให้ต้องมีการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจนั่นเอง ซึ่งประเด็นที่ตามมาในเชิงหลักการคือ การกระจายอำนาจดังกล่าวนั้นเป็นไปได้หรือไม่ และสมควรหรือไม่ เพราะผู้ที่มีอำนาจควบคุมเศรษฐกิจเดิม ก็คงจะไม่พอใจที่จะปล่อยให้มีการกระจายอำนาจของตนออก

ในความเห็นของผมนั้นหนังสือ The Wealth of Nations ของ Adam Smith จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำเสนอหลักปรัชญา ที่ทำให้เกิดการยอมรับการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยอาจพูดได้ว่าเป็นการสร้างพื้นฐานของประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจก็เป็นได้ เพราะข้อสรุปของ Adam Smith คือ ปล่อยให้ทุกคนมีเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ แม้ทุกคนจะพยายามรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก (มิได้มีคุณธรรมหรือต้องการส่งเสริมผลประโยชน์ของสาธารณะแต่อย่างใด) แต่ความพยายามที่จะเห็นแก่ตัวของทุกคนนั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งสูงสุดให้กับส่วนรวม กล่าวคือการแข่งขันของคนที่เห็นแก่ตัวภายใต้ระบบเสรีนั้น เป็นเสมือนกับมือที่มองไม่เห็น ซึ่งชี้นำให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับส่วนรวมได้อย่างที่คาดไม่ถึง

การยอมรับปรัชญาดังกล่าวของ Adam Smith ในที่สุดคือการนำมาซึ่งประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ การกระจายอำนาจไม่ต้องมีผู้วิเศษหรือผู้ที่มีอำนาจปกครองทางการเมือง เข้ามาวางแผนและบริหารจัดการการค้า หรือการผลิตแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะผู้บริโภค (ที่เห็นแก่ตัว) ย่อมต้องการใช้เงินของตนเองให้คุ้มค่าที่สุด จึงแสวงหาสินค้าคุณภาพดีราคาถูก ในขณะที่ผู้ผลิตก็จะต้องสร้างความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการในราคาที่ต่ำที่สุด และคุณภาพสูงสุด จึงต้องพยายามพัฒนาสินค้าเดิม และผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคต้องการ โดยแสวงหาวัตถุดิบที่ดีและราคาถูกเพื่อลดต้นทุน ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะผู้ผลิตต้องการเป็น “คนดี” แต่เพราะต้องการเพิ่มยอดขายและกำไร

ท่านผู้อ่านหลายคนคงจะมีข้อโต้แย้งแนวคิดดังกล่าวของ Adam Smith ซึ่งแน่นอนว่าระบบเศรษฐกิจจะเสรีอย่างไร้ขอบเขตไม่ได้ ซึ่งผมจะเขียนถึงข้อบกพร่องของระบบตลาดเสรี หรือที่บางครั้งเรียกว่าระบบทุนนิยมต่อไปในตอนหน้าครับ



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (1)

view