สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทุ่มลงทุนดันไทย ประเทศรายได้สูง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ

ทุ่มลงทุนดันไทย "ประเทศรายได้สูง"

การประชุมประจำปี 2558 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา สศช.ระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) โดยตั้งเป้าให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2569

ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สศช. เปิดเผยในการประชุมกลุ่มย่อยในหัวข้อ “การลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศไทย” โดยระบุว่า หากต้องการให้ประเทศไทยพ้นจากรายได้ปานกลางไปสู่รายได้ระดับสูงภายใน 10 ปีข้างหน้า หรือในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12-13 เศรษฐกิจไทยจะต้องเติบโตปีละ 5% ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย เพราะในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวประมาณ 3% ต่อปีเท่านั้น และเมื่อไทยไม่สามารถคาดหวังการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มาจากภาคส่งออกได้แล้ว จึงมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องพึ่งพิงการลงทุนภายในประเทศอย่างมาก

“เราจะคาดหวังให้การส่งออกเติบโตสูงเหมือนในอดีตไม่ได้แล้ว โดยระหว่างปี 2560-2564 สศช.ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพียง 3.7% โดยเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญจะโตเพียง 6.6% เศรษฐกิจอาเซียนโต 5.5% ซึ่งจะทำให้ส่งออกเติบโตเฉลี่ยได้ปีละ 4% ในขณะที่การบริโภคก็พึ่งได้อย่างจำกัด เพราะกำลังแรงงานปรับตัวลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย” ปรเมธี กล่าว

ปรเมธี ระบุว่า ภายใต้สมมติฐานที่จะทำให้คนไทยมีรายได้ 12,735 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี หรือเป็นประเทศที่หลุดจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในช่วงปี 2560-2564 การส่งออกจะต้องขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4% การลงทุนเอกชนขยายตัวปีละ 7.5% การลงทุนภาครัฐขยายตัวปีละ 10% หรือจะต้องมีเม็ดเงินลงทุน 26.36 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนเอกชน 19.47 ล้านล้านบาท และการลงทุนภาครัฐ 6.89 ล้านล้านบาท คือ การลงทุนของรัฐบาล 4.13 ล้านล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 2.75 ล้านล้านบาท

สศช.ยังประเมินว่า หากเศรษฐกิจไทยปี 2558-2559 จะขยายตัวได้ที่ 5% ต่อปี การส่งออกจะต้องขยายตัวที่ระดับ 4% มีการลงทุนภาคเอกชน 5.45 ล้านล้านบาท และภาครัฐ 1.06 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนจะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12-13 สศช.ยึดกรอบและแผนลงทุนภายใต้โครงการลงทุนเพื่ออนาคตประเทศไทย 7 ยุทธศาสตร์

ประกอบด้วย 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศปี 2558-2565 เช่น รถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง รถไฟไทย-จีน รถไฟไทย-ญี่ปุ่น รถไฟฟ้า 10 เส้นทาง พัฒนาทางหลวงเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน มอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง มูลค่าลงทุนกว่า 1.6 แสนล้านบาท ตลอดจนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 สนามบินดอนเมือง สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือน้ำลึก

2.การลงทุนเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3.โครงการปรับปรุงกิจการประปา 1.21 แสนล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน 5.5 แสนล้านบาท 4.การลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที เช่น ลงทุนระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3.07 หมื่นล้านบาท และการลงทุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล 5.การลงทุนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งในช่วงปี 2558-2560 จะมีการลงทุนปีละ 1-1.3 แสนล้านบาท 6.การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มีเป้าหมายเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนวิจัยและพัฒนาเป็น 2% ต่อจีดีพี

และ 7.ขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อเพิ่มบทบาทของอุตสาหกรรมและบริการในยุคที่ 3 เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ การขนส่งทางราง อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง การบินและอากาศยาน วัสดุกลุ่มคาร์บอนไฟเบอร์ บริการทางการศึกษา และบริการทางการแพทย์ เป็นต้น

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มีเป้าหมายที่จะยกระดับประชาชนมั่งคั่งและยั่งยืนในอนาคต และต้องการให้ สศช.จัดทำแผนพัฒนาฯ ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้า และจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อวางรากฐานให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งจากภายใน

“เพื่อเป็นการวางรากฐานประเทศ จะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 18 โครงการ 1.76 ล้านล้านบาท เช่น รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง รถไฟไทย-จีน ปรับปรุงการขนส่งทางน้ำ ทางอากาศ ปรับโครงสร้างเอสเอ็มอีพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะการพัฒนาคนที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้จะมีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ซึ่งเป็นแผนวิสัยทัศน์ของประเทศ และชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งจะนำข้อเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 37 ประเด็น มาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาด้วย

“เพื่อให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มีการดำเนินการเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงการพื้นฐาน เช่น แผนแม่บทรถไฟ ระบบรางที่มีความชัดเจนแล้ว รวมถึงโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าที่มีการศึกษาผลกระทบต่อประชาชนชัดแล้ว แผนพัฒนาฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ (สนช.) เพื่อให้มีผลผูกพันกับทุกรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศ และในร่างรัฐธรรมนูญที่คว่ำไปแล้วก็ได้บรรจุเรื่องนี้ไว้เพื่อให้ผูกพันทุกรัฐบาลหากแผนพัฒนาฯ ผ่าน สนช.” อาคม กล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทุ่มลงทุนดันไทย ประเทศรายได้สูง

view