สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินกำลังจะหมุนไป

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ oilday@yahoo.com

"เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน" เสียงเพลงนี้จะต้องฟังกันยาวไปอีกราว 2-3 ปีข้างหน้าทีเดียวเพราะความหวังจะเห็นการเลือกตั้งในครึ่งหลังของปี 2559 ได้ถูกเลื่อนไป ลุ้นปี 2560 แทนซะแล้ว หลังผลการลงมติไม่ผ่าน "ร่างรัฐธรรมนูญ" หรือร่าง รธน.ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 6 ก.ย.58

ย้อนดูการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" หรือ
"บิ๊กตู่" ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 มาถึงวันนี้ ซึ่งมีทีมเศรษฐกิจชุดแรกคือ รองนายกรัฐมนตรี "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" หรือ "หม่อมอุ๋ย" ที่เข้ามาถางทางอัดแพ็กเกจชุดใหญ่ช่วยคนจนโดยเฉพาะเกษตรกรเงินขาดมือ รวมไปถึงภาคธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งมาตรการระยะสั้นใส่เงินแก้ปัญหาก็ราว ๆ 3.6 แสนล้านบาท ด้านการลงทุนก็ขุด ๆ กลบ ๆ สร้างถนนในชนบท ตามด้วยแพ็กเกจเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ต่อลมหายใจบรรดาเอสเอ็มอีทั้งหลาย ถ้าวัดผลงานออกมาคร่าว ๆ ผ่านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในช่วงไตรมาส 4/57 ก็อยู่ที่ราว 2.1% และส่งผลต่อเนื่องไปยังไตรมาส 1-2 โดยจีดีพีโตราว 3% และ 2.8% ตามลำดับ (แต่ส่วนหนึ่งจีดีพีโตได้เพราะผลจากฐานที่ต่ำของเศรษฐกิจในไตรมาส 4/56 ด้วย) ทำให้จีดีพีในครึ่งปีแรกโตได้ 2.9%

ทว่าเสียงร้องระงม"เศรษฐกิจไม่ดี เศรษฐกิจฝืดซบเซา" ดูจะยังดังหนักขึ้นถึงวันนี้ กลายเป็นแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรี ปรับทีมเศรษฐกิจ ดึง "ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ เข้ามาแทนที่ พร้อมทำการตลาดอัดยาชุดใหญ่ที่เป็นมาตรการที่ไม่ต่างจากเดิม คือ ใส่เงินรากหญ้าผ่านกองทุนหมู่บ้าน-ตำบล และต่อท่อน้ำเลี้ยงเอสเอ็มอี โดยใช้กลไกสถาบันการเงินในเครือข่ายรัฐเข้ามาช่วยทั้งดอกเบี้ย ซึ่งโครงการต่าง ๆ รวมคร่าว ๆ ก็ราว 3 แสนล้านบาท ท่ามกลางความหวังว่า "เงินกำลังจะหมุนไป"

เงินรัฐที่ใส่รอบนี้ ทาง สศค.เองถึงกับประมาณการด้วยว่า รัฐใส่เงินใช้จ่ายรอบนี้จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น ดันจีดีพีไทยโตอีก 0.4% บวกกับเสียงของรองนายกฯ "ดร.สมคิด" ที่จัดแพ็กเกจมาเพียบ มั่นใจเศรษฐกิจปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 3% แน่ เสียงเอกชนก็มีแต่บอกว่าให้กำลังใจเพราะเข้ามาทำงานหนักต่อจาก "หม่อมอุ๋ย" ที่ช่วยไประดับหนึ่งพร้อมให้เวลาทำผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรม

นักธุรกิจส่วนใหญ่ก็จะพูดตรงกันว่า ไทยน่าห่วงอยู่ 2 ส่วนคือ ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีจำนวนมากและมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่น้อย และภาคประชาชนที่มีหนี้ติดพัน ทำให้ขาดแรงซื้อสำคัญ

เสียงสะท้อนของคุณปั้นหรือ "บัณฑูร ล่ำซำ" นายแบงก์ใหญ่ค่ายกสิกรไทย ก็ให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้าว่า ตอนนี้ปัญหาใหญ่ของภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีคือ ผลิตสินค้าแล้วขายไม่ได้ แต่ก็ต้องช่วย แม้ไม่รู้ว่าจะรอดหรือไม่รอด ก็ใส่เงินเข้าไปช่วยเหลือก่อน ให้เขาไปตายเอาดาบหน้า

สอดคล้องไปกับตัวเลขหนี้เสียทั้งระบบ สะท้อนผ่านตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้นไตรมาส 2/58 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ระบุว่า ยอดคงค้างของสินเชื่อค้างชำระเกิน 3 เดือน (Gross NPL) อยู่ที่ 6.73 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นหลัก ๆ มาจากลูกหนี้เสียรายใหม่ราว 4.7 หมื่นล้านบาท และลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้วแต่กลับมาเป็นหนี้เอ็นพีแอล (Reentry NPL) อีก 1.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้เสียงจากแบงก์เอกชนก็ยังบอกว่า หนี้เสียเหล่านี้ยังมาจากภาคธุรกิจเอสเอ็มอีและสินเชื่อบุคคลเป็นหลักอยู่

เมื่อมาดูข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขยาดย่อม(สสว.)ที่รายงานจากสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เดือนพฤษภาคม 2558 ระบุว่า "การจัดตั้งกิจการใหม่" ของธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ที่ 4,523 ราย ลดลง 1.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ "การยกเลิกกิจการ" เพิ่มขึ้น 17.3% หรือมีการยกเลิกกิจการจำนวน 977 ราย สะท้อนมีคนตกงานเพิ่มขึ้น

ทาง "ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส" ก็ระบุว่าเอสเอ็มอีมีอาการน่าเป็นห่วง และมองสถานการณ์ในครึ่งปีหลัง ไม่น่าจะแตกต่างจากช่วงครึ่งปีแรกได้

ฟากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ก็มีข้อมูลปี 2556 ว่า เอสเอ็มอีไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 37.4% ของเศรษฐกิจไทย ขณะที่มีคนทำงานในเอสเอ็มอีราว 11.4 ล้านคน หรือราว 81% ของแรงงานทั้งหมด แม้ว่าตัวเลขนี้จะล่า 2-3 ปีก่อน แต่ก็ยังพอสะท้อนได้ถึงภาพรวมว่า คนงานเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย

เมื่อรวมกับข้อมูลภาคเกษตรจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ช่วงครึ่งปีแรกนี้ รายได้เกษตรกรหดตัวเฉลี่ยราว 12.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ภาระหนี้สินของเกษตรกรยังอยู่ในระดับสูงราว 197,000 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ 187,000 บาท หรือหากคิดเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนภาคเกษตรต่อจีดีพีภาคเกษตรของไทย ในปีนี้อาจอยู่ที่ระดับ 84.7% และถ้าหากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงและลากยาวกว่าคาด ย่อมส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรวงกว้างขึ้น ซึ่งจะยิ่งเป็นแรงฉุดจีดีพีภาคเกษตรปีนี้อีก ก็อาจทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนภาคเกษตรต่อจีดีพีภาคเกษตรขยับขึ้นไปอยู่ที่ราว 85.2%

ทำให้นึกถึง "ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" บอกว่า ไทยกำลังเผชิญวิกฤตครัวเรือน เพราะเกษตรกรเจอภาวะ ภัยแล้ง ราคาพืชผลตกต่ำ จนต้องไปหางานในเมืองทำ รายได้ก็ต่ำ จึงเห็นแต่ปัญหาคนขาดกำลังซื้อ ซึ่งจะกระทบเป็นลูกโซ่ภาคธุรกิจที่ขายของไม่ออก ปัญหาเศรษฐกิจดูจะแย่กว่าปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้งที่กระทบพวกแบงก์-เอกชน อีก 3 เดือน ข้างหน้า เงินภาครัฐที่อัดใส่หลายแสนล้านบาทในรอบล่าสุดนี้ จะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจหมุนรอบได้เแค่ไหน คงต้องตามดูกันต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินกำลังจะหมุนไป

view