สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พิษหนี้ข้าวยึดทรัพย์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

พิษหนี้ข้าวยึดทรัพย์?

การเอาผิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีปล่อยทุจริตโครงการรับจำนำข้าว สร้างความเสียหายแก่รัฐมูลค่า 5 แสนล้านบาท นับวันยิ่งเข้มข้น

ขาหนึ่งตกเป็นจำเลยในศาลฎีกานักการเมือง ซึ่งเริ่มกระบวนการพิจารณาแล้ว คาดว่าจะตัดสินได้ต้นปีหน้า อีกขากำลังถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายร่วม 5 แสนล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวแม้ไม่เป็นทางการจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหาย และคณะกรรมการว่าด้วยการรับผิดทางแพ่งคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ปฏิเสธว่าไม่มากถึงขนาดนั้น แต่ก็เชื่อว่าอยู่ในระดับหลายแสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ตัวเลขที่จะเรียกค่าเสียหายจากยิ่งลักษณ์จะสรุปอีกครั้งในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ส่วนความเสียหายโครงการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ และข้าราชการ อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท

วิษณุ อธิบายว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจะสรุปค่าเสียหายเสนอนายกฯ ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ จากนั้นอธิบดีกรมบัญชีกลางในฐานะประธานคณะกรรมการฯ จะเรียกค่าเสียหายต่อไป

“เมื่อเรียกค่าเสียหายเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาฟ้องกลับรัฐบาลต่อศาลปกครองภายใน 30 วัน เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่ถ้าเขาไม่ฟ้องกลับ เราก็ยึดทรัพย์ตามจำนวนที่คณะกรรมการฯ สรุปมา” รองนายกฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม มนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ชี้แจงว่า กระบวนการขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้คณะกรรมการความรับผิดทางละเมิดส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการความรับผิดทางแพ่งพิจารณา ซึ่งประกอบด้วย กรมบัญชีกลาง ผู้แทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กฤษฎีกา โดยตั้งใจว่าจะเร่งให้เสร็จโดยเร็ว

“มีการพูดถึงว่าอยากให้เสร็จภายใน 3 เดือน หรือสิ้นปี ตอนนี้คงไม่ได้ แต่เชื่อว่าคณะกรรมการคงพยายามทำกันอย่างเต็มที่ หากมีเอกสารมากก็ต้องใช้เวลาพอสมควร” มนัส กล่าว

สำหรับอายุความคดีเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวตามที่วิษณุเคยชี้แจงกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะสิ้นสุดในเดือน ก.พ. 2560 แต่เชื่อว่ากระบวนการเรียกค่าเสียหายทั้งหมดจะเสร็จสิ้นอย่างช้าต้นปี 2559

เมื่อดูกลไกสำคัญที่จะเรียกค่าเสียหายจากยิ่งลักษณ์ คือ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้ควบคู่กัน ซึ่งจะเร็วกว่าการไปฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง

พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ในวงการ เพราะบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเรื่องความรับผิดทางแพ่งที่ทางราชการถือปฏิบัติในปัจจุบัน และเมื่อมีความเสียหายเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐจะต้องรับภาระชดใช้ไปก่อน

นอกจากนี้ ในมาตรา 8 ระบุว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้

กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นวิธีปกติที่หน่วยงานของรัฐจะเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่หากทำให้ทรัพย์สินทางราชการเสียหาย ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลายคดีที่ใช้กัน เช่น ตำรวจทำอาวุธที่ใช้ในราชการสูญหาย เพราะไปเมาก็ต้องชดใช้ ก็ใช้วิธีนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก

แก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กล่าวว่า หากนายกฯ ลงนามในคำสั่งให้ชำระ หากไม่ชำระก็ยึด แต่ไม่ใช่ว่าจะสามารถยึดทรัพย์ได้ทันที เพราะตามกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายอุทธรณ์ได้ ซึ่งคดีก็จะไปสู่ศาลปกครอง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้ขั้นตอนการพิจารณาเร็วขึ้นกว่าการฟ้องในคดีแพ่ง

อย่างไรก็ตาม หากพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลก็เป็นไปได้ที่จะออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม แต่คดีอยู่ที่ศาล ถามว่าจะกล้าทำอย่างนั้นหรือไม่ และอีกกรณีหนึ่ง หากในศาลปกครองกลางผู้ที่สร้างความเสียหายแก่รัฐเกิดชนะคดีขึ้นมา ก็มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อเปลี่ยนอำนาจแล้วจะไม่มีการสู้ต่อในชั้นศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้คดียุติ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากการฟ้องศาลแพ่ง เพราะถ้าแพ้แล้วรัฐไม่อุทธรณ์ต่อคดีก็จบเช่นกัน

ชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ตอบโต้ว่า หากพยายามตีความให้เข้าเกณฑ์ความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดละเมิดของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะต้องรอผลคดีอาญา แต่มติของคณะกรรมการฯ จะมาชิงฟ้องคดีแพ่งก่อนไม่ได้ คงเพราะกังวลว่าคดีอาญาจะหมดอายุความ

ชูศักดิ์ กล่าวว่า กรณีของยิ่งลักษณ์ไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิด แต่ทำตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อสภา ซึ่งความรับผิดชอบของรัฐบาลคือรับผิดชอบต่อรัฐสภา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พิษหนี้ข้าว ยึดทรัพย์

view