สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทัศนะ อานันท์ ปันยารชุน 4องค์ประกอบสู่บริบทใหม่ในการพัฒนาประเทศ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "บริบทใหม่ของประเทศด้วยธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย" ภายในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 58 โดยมีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

ขณะนี้เราอยู่ระหว่างรอยต่อที่สำคัญทางการเมืองทำให้คาดเดาได้ยากว่า ผ่านรอยต่อนี้ไปแล้วบริบทใหม่ หรือ  New Normal ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ผมเองก็ไม่สามารถคาดได้ดีกว่าท่าน แต่ที่ผ่านมาในอดีต กระแสโลกาภิวัตน์ ความฟุ้งเฟ้อ ความไม่สื่อสัตย์สุจริต และการใช้จ่ายโดยไม่ประมาณตน เป็นต้นเหตุของการบริหารประเทศของทั้งภาคราชการ ธุรกิจ ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องจริงจังปรับบทบาทและจิตสำนึกของเราสู่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เผชิญกับปัญหาและวิกฤตต่างๆได้ พร้อมหาทางคำตอบและทางออกของปัญหาในบริบทใหม่เหล่านี้ได้

ผมขอเสนอองค์ประกอบ 4 ประการที่ขาดไม่ได้ในบริบทหรือบรรทัดฐานใหม่ของเส้นทางการพัฒนาประเทศไทย ที่จำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและทรงพลัง

องค์ประกอบในการเตรียมความพร้อมรับบริบทใหม่ที่อยากเสนอ คือ

องค์ประกอบที่ 1 บริบทใหม่ของประเทศไทยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึง ที่ผ่านมาเรามักมุ่งที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)เป็นหลัก ให้ความสำคัญกับตัวเลข ละเลยมิติด้านคุณภาพและการแบ่งสรรผลประโยชน์และรายได้ให้ทั่วถึง วิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมาเป็นสิ่งเตือนใจถึงอันตรายของการขยายตัวแบบสุดโต่ง และได้เห็นแล้วว่าการขยายตัวแบบอัดฉีดมาตรการประชานิยมที่ไร้วินัยทางการคลังนั้น เป็นการขยายตัวที่ไม่ยั่งยืน และสร้างปัญหามากมายในภายหลัง โครงการรถคันแรกและโครงการรับจำนำข้าวเกินราคาตลาด เป็นเพียงตัวอย่างของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบชั่วครู่ชั่วขณะ ที่รัฐบาลหลายรัฐบาลทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ ได้ใช้เพื่อคะแนนนิยมระยะสั้นโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ทั้งที่การจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนในระยะยาว ควรมุ่งเสริมโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐหรือราชการ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การพัฒนาแรงงาน รวมทั้งการยกระดับการศึกษาและงานวิจัย

การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันต้องอาศัยแรงกระตุ้น ผ่านกลไกตลาดที่มีประสิทธิภาพ ภาครัฐมีหน้าที่ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาของภาคเอกชน สิ่งที่รัฐ “ต้องทำ” คือ เป็นผู้กำกับดูแล ในการป้องกันการผูกขาด และคุ้มครองผู้บริโภค และสิ่งที่ “ต้องไม่ทำ” คือ ประกอบกิจการที่แข่งขันกับเอกชน หรือ ออกกฎหมายกฎเกณฑ์ที่บั่นทอนกลไกตลาด ซึ่งเรื่องนี้เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และใน พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าตั้งแต่ปี 2542 แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่เคร่งครัดพอ ขณะเดียวกันการพัฒนาที่มีความยั่งยืน ต้องแบ่งสรรผลประโยชน์ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำเป็นบ่อเกิดความยุ่งยากของหลายๆปัญหา หรือเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้

องค์ประกอบที่ 2 การเปลี่ยนแปลงต้องนำไปสู่สังคมที่เปิดและมีส่วนร่วมของคนในสังคม โดยนอกจากการกระจายรายได้อย่างเสมอภาคแล้ว ต้องให้สิทธิเสรีภาพ และโอกาสที่ทัดเทียมกันแก่ทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกศาสนา และทุกพื้นที่ในสังคม ในการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ และพร้อมที่จะตรวจสอบการทางานของภาครัฐตลอดเวลา แต่สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันนั้นมิได้หมายถึงเพียงแค่ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้ง แต่รวมไปถึงการให้ความสำคัญและรับฟังความเห็นหรือข้อเรียกร้องของทุกๆ ฝ่าย ไม่ใช่แค่ฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้ง หรือคนส่วนใหญ่

ระบบการปกครองโดยเสียงข้างมากไม่ได้หมายถึงการปกครองลักษณะผู้ชนะกินรวบ หรือ ดำเนินการทุกอย่างได้ตามที่ต้องการ แต่กลุ่มเสียงข้างน้อยต้องได้รับผลประโยชน์อย่างเที่ยงธรรมจากกระบวนการการเลือกตั้งด้วย สิ่งที่ท้าทายเราคือ จะทำอย่างไรให้มีการยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ การชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย ของความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ควรมองทุกเรื่องเป็นขาวและดำ ผิดหรือถูก เพราะในความเป็นจริงหลายเรื่องไม่มีผิดไม่มีถูก มีแค่มุมมองหรือวิจารณญาณที่แตกต่าง เพื่อไปสู่การเป็นสังคมที่เปิดและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เราต้องหัดที่จะเดินหน้าไปด้วยกันบนพื้นฐานของความแตกต่างโดยไม่สร้างความแตกแยก หรือก่อให้เกิดการเกลียดชัง ที่อาจนำไปสู่การใช้กำลังอาวุธ และความรุนแรงในด้านต่างๆ

องค์ประกอบที่ 3 การทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปกครองโดยหลักนิติธรรม ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ตัวบทกฎหมาย แต่ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์แห่งกฎหมายและความเป็นธรรมด้วย จริงอยู่หลักนิติธรรมต้องอาศัยกฎกติกาที่รัดกุมและมีหลักการ แต่กฎกติกาเหล่านั้นต้องบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมากับทุกๆ คนโดยไม่มีกรณียกเว้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งตัวรัฐบาลเอง ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

นอกจากนี้ กระบวนการร่างและบังคับใช้กฎหมายต้องมีความโปร่งใสและเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมซึ่งรวมทั้งกระบวนการตุลาการ ต้องมีอิสระ มีคุณภาพ ไม่ลำเอียง มีความเที่ยงธรรม และไม่ชักช้า ที่สำคัญ กฎหมายไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง รัฐบาลไม่ควรดำเนินการตามอำเภอใจ จับกุมผู้คนที่คัดค้านนโยบายของตน และลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่บุคคลเหล่านั้นพึงมีตามกฎหมาย สิทธิมนุษยชนของราษฎรทุกคนควรได้รับการปกป้องอย่างเคร่งครัดและเท่าเทียมกัน ซึ่งการปกครองด้วยหลักนิติธรรมนั้นต่างจากการปกครองด้วยกฎหมาย คือ ต้องมี rule of law ไม่ใช่ rule by law ตรงนี้มีความละเอียดอ่อนที่สำคัญ

หากพิจารณาตัวเลขวัดความสมบูรณ์ของหลักนิติธรรมของประเทศทั่วโลก โดย World Justice Project ล่าสุดในปี 2558 พบว่า 4 อันดับต้นได้แก่กลุ่มประเทศนอร์ดิกคือ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน และ ฟินแลนด์ ส่วนประเทศไทยได้คะแนนเพียง 0.52 จากคะแนนเต็ม 1 นับเป็นลำดับที่ 56 จาก 102 ประเทศ และลำดับที่ 11 จาก 15 ในภูมิภาค เราต่ำกว่าประเทศฟิลิปปินส์ กรีซ และกานา จะเห็นได้ว่าหนทางสู่การพัฒนาหลักนิติธรรมของเรายังอีกยาวไกลและเมื่อการบังคับใช้หลักนิติธรรมอ่อนแอ การฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริตคอรัปชั่นก็เฟื่องฟู ประชาธิปไตยจะผิดเพี้ยนไม่ทำงาน เมื่อนักการเมือง ข้าราชการ ภาคเอกชน ตำรวจ และทหารล้วนใช้อำนาจที่ตนมีอยู่ เพื่อสร้างความร่ารวยให้กับตนเอง และเอื้อประโยชน์ส่วนตัวบนความทุกข์ยากของประชาสังคม ซึ่งหลักยุติธรรมที่ตกต่ำเสื่อมเสีย จะเซาะกร่อนความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล

หลักนิติธรรมย่อมเกิดขึ้นควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และความโปร่งใสของสถาบันรัฐและบุคคลในสถาบันเหล่านั้น ซึ่งกระบวนการตัดสินใจจะต้องโปร่งใสและเปิดต่อการตรวจสอบ ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับนโยบายและโครงการสาธารณะ และทันกับเหตุการณ์ การถ่วงดุลและคานอำนาจเช่นนี้เป็นหัวใจของความรับผิดชอบที่รัฐจะพึงมีต่อสังคม

องค์ประกอบที่ 4 คือการปรับสมดุลในโครงสร้างเชิงอำนาจระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน รัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนเป็นผลลัพธ์ของการมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ การรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางไม่สามารถรองรับความสลับซับซ้อนของสังคมที่นับวันจะทวีสูงขึ้นได้ การกระจายอำนาจการปกครองจะช่วยเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายมากขึ้น และลดอิทธิพลของกลุ่มพลังทางการเมือง

ไม่ได้หมายถึงการกระจายอำนาจให้กับองค์กรท้องถิ่นที่ควบคุมจากส่วนกลาง แต่หมายถึงการให้อำนาจประชาชนหรือกลุ่มตัวแทนประชาชนที่แท้จริง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดสิ่งที่กระทบเขาโดยตรงมากที่สุด ในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด แต่ละภาค ความต้องการในการแก้ปัญหาอาจจะเหมือนกัน และอาจจะต่างกัน การกำหนดนโยบายหรือแผนงานต่างๆ จึงควรให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่มีส่วนร่วมในการออกแผนแม่บทของตัวเอง โดยรัฐเป็นเพียงผู้ให้ความรู้ และการสนับสนุนงบประมาณ และสนองความต้องการอื่นๆ ตามความจำเป็นเท่านั้น ส่วนนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ นโยบายป้องกันประเทศ นโยบายต่างประเทศ หรือนโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลังมหภาคต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

แต่เรื่องที่กระทบประชาชนโดยตรงควรให้ประชาชนมีส่วนกำหนด เช่นระบบการศึกษา ไม่จำเป็นต้องให้กระทรวงศึกษากำหนดหลักสูตรเหมือนกันทุกหมู่บ้าน ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด รวมถึง การบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ระบบคมนาคม หรือการรักษาความปลอดภัย ก็คสรกระจายไปสู่ท้องถิ่น เพื่อช่วยลดภาระให้กับรัฐบาลส่วนกลาง ไม่อย่างนั้นทุกครั้งที่มีปัญหาหรือเกิดความขัดแย้งคนต้องยกขบวนมาที่ทำเนียบหรือกระทรวงต่างๆ เป็นต้น

สรุปแล้ว ภาพ New Normal ของประเทศไทยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย หรือ Democratic Governance เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงบนพื้นฐานของความชอบธรรม ซึ่งในมุมมองของผม ประเทศไทยไม่เคยมี เรามีแต่ประชาธิปไตยที่เน้นรูปแบบมากกว่าสาระ มีการเลือกตั้งแล้วก็จบ ไม่ได้มีการใส่ใจในการพัฒนาสถาบันต่างๆ ที่จำเป็นของประชาธิปไตย สิ่งที่เรากำลังเผชิญตอนนี้ หากมองลึกลงไปแล้วมีต้นตอมาจากการที่เราไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นเพียงการตกแต่งผิวเผิน เป็นเพียงเหล้าใหม่ในขวดเก่า หรือไม่ก็เหล้าเก่าขวดเก่าแต่จุกใหม่ ที่สำคัญเรายังไม่พยายามค้นหาเหตุที่แท้จริงของความแตกแยกในเมืองไทย

มาถึงบัดนี้ เราจึงตระหนักว่าสถาบันหลายอย่างของเราไม่พร้อมที่จะเผชิญความท้าทายของยุคโลกาภิวัตน์ ขณะที่โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าสถาบันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของเรากลับก้าวตามไม่ทัน ธรรมาภิบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะเป็นฐานในการพัฒนาประเทศในทิศทางที่สมดุลกว่าที่ผ่านมา การที่เรารับฟังความเห็นที่หลายหลายจากกลุ่มประชาชนที่กว้างขวาง จะทำให้รัฐบาลให้น้ำหนักกับการพัฒนาที่รอบด้านและยั่งยืนมากกว่า เราคนไทยมักใฝ่ฝันให้มีอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยเมื่อประเทศเราประสบปัญหา แต่ยุคแห่งการตัดสินใจแบบ “ฉันรู้ดีที่สุด” ได้หมดไปแล้ว แม้ว่ารัฐจะมีข้อมูลและอำนาจที่กว้างขวาง แต่ก็ไม่ได้รู้ดีไปทุกอย่าง โดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจที่ในยุคปัจจุบันความสลับซับซ้อนได้ทวีสูงขึ้นมาก แต่ธรรมาภิบาล คือ กุญแจดอกสำคัญ

สำหรับการบริหารเศรษฐกิจที่ดี จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาในรัฐวิสาหกิจโดยเร็ว เนื่องจากรัฐวิสาหกิจเป็นชิ้นส่วนที่ใหญ่และมีอิทธิพลมากต่อประสิทธิภาพของเศรษฐกิจโดยรวม การที่กิจการรัฐวิสาหกิจมักมีลักษณะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นต้นธารของธุรกิจอื่นๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้าประปา คลื่นความถี่ ระบบขนส่ง สนามบิน หรือท่าเรือ รัฐวิสาหกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ จึงไม่เพียงจะบั่นทอนผลประกอบการของตัวเอง แต่จะเหนี่ยวรั้งธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ย่อมไม่เอื้อให้เอกชนนาไปต่อยอดเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขันที่ดีได้ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่กำลังดาเนินการอยู่ รวมทั้งการจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” จึงอาจเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ

การปฏิรูปนั้นควรมองเป็นองค์รวม ในช่วงที่ผ่านมาเราได้มุ่งการแก้ไขปัญหาทั้งปวงไปที่รัฐธรรมนูญเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เราเป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญค่อนข้างเปลือง ปัจจุบันก็ถึงฉบับที่ 19 แล้วในเวลา 83 ปี ซึ่งควรเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาทั้งปวงของสังคมได้ และการปฏิรูปไม่ใช่การกระทำที่จะสำเร็จไปในครั้งเดียว ได้ แต่เป็น "กระบวนการ" ที่อาจเริ่มขึ้นด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา และมีกระบวนการที่พัฒนาต่อไป

เราต้องไม่ตกหลุมของการใช้ทางลัดต่างๆ นานาในการบรรลุเป้าหมายสูงสุด หรือการคิดว่าการกระทำใดๆ ที่หากสามารถทำได้ในวันนี้ จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างถาวร ทุกอย่างต้องปรับปรุง และปรับตัวให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่ได้อยู่นิ่ง ต้องปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทัศนะ อานันท์ ปันยารชุน องค์ประกอบ บริบทใหม่ การพัฒนาประเทศ

view