สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หนี้เสียแห่งปี สหวิริยา แบงก์ป่วน เศรษฐกิจป่วน

หนี้เสียแห่งปี "สหวิริยา" แบงก์ป่วน เศรษฐกิจป่วน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เสาวรส รณเกียรติ

ถือเป็นสินเชื่อที่มีปัญหาก้อนใหญ่แห่งปีก็ว่าได้ เมื่อบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ประกาศหยุดผลิตเหล็กแท่งแบนที่โรงงานเอสเอสไอทีไซด์ ซึ่งเป็นธุรกิจโรงถลุงเหล็กของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค (SSI UK) บริษัทย่อยของ SSI

การปิดโรงงานดังกล่าวส่งผลให้ธนาคาร 3 แห่ง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทิสโก้ ประกาศกันสำรองหนี้ที่ปล่อยกู้ให้ SSI UK วงเงินรวม 2.64 หมื่นล้านบาท แบบเต็มจำนวนหนี้ที่ปล่อยกู้ หรือ 100% และจะมีการตัดหนี้สูญด้วย

ยังไม่นับผลกระทบที่เกิดกับเม็ดเงินที่ปล่อยกู้ให้ SSI บริษัทแม่ของ SSI UK ด้วย ทั้งในฐานะผู้ค้ำประกันเงินกู้และความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงจากรายได้ที่หายไปจากการปิดโรงงานถลุง ทำให้ธนาคารทั้ง 3 แห่ง อาจจะต้องจัดชั้นหนี้ SSI ให้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล

โดยธนาคารทั้ง 3 แห่งปล่อยกู้ให้ทั้ง SSI และ SSI UK รวมแล้วประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์จากคำแถลงของ ญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ระบุว่า การตั้งสำรองเต็มจำนวนหนี้ที่ปล่อยกู้ให้ SSI UK ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า “หลักประกันที่มีอยู่จะถูกตีมูลค่าเป็นศูนย์” ทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองหนี้สองบริษัทเต็มจำนวนประมาณ 1.0-1.1 หมื่นล้านบาท

เช่นเดียวกับ อรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ ระบุว่า การตั้งสำรองหนี้เต็ม 100% ของธนาคารในส่วน  SSI UK ราว 3,570 ล้านบาทนั้น หลักประกันถูกกำหนดมูลค่าเป็นศูนย์ เพราะไม่สามารถประเมินราคาได้

และหากย้อนไปเมื่อปี 2555 ที่มีการปล่อยสินเชื่อก้อนใหญ่ให้ SSI ไปซื้อโรงถลุงเหล็กที่อังกฤษนั้น ธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มี วิชิต สุรพงษ์ชัย ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหาร กับ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ที่เป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทยในขณะนั้น และปัจจุบันเป็น รมว.คลัง ได้ร่วมกันพิจารณาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้โครงการนี้อย่างไร รวมทั้งมีระบบคัดกรองลูกค้าเพื่อปล่อยสินเชื่อมากน้อยแค่ไหน จึงยอมปล่อยกู้ลูกค้ารายนี้จนต้องตัดหนี้สูญ 100% และไม่สามารถยึดหลักทรัพย์มาขายทอดตลาดเพื่อลดความสูญเสียของธนาคารได้

ทั้งที่ ธุรกิจของ SSI UK เป็นโรงถลุงเหล็ก ที่มีโรงงาน ที่ดิน อุปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ เป็นหลักประกันให้ธนาคารยึดเพื่อชำระหนี้ได้ ซึ่งจะลดความสูญเสียในการตั้งสำรอง

การตีมูลค่าประกันเป็นศูนย์แสดงว่าโรงงานถลุงเหล็ก ที่ดิน เครื่องจักรอุปกรณ์ในโรงถลุงเหล็กของ  SSI UK ไม่มีมูลค่าเหลือเลย ซึ่งอาจจะเป็นด้วยหลายสาเหตุ เช่น ติดกฎหมายการซื้อกิจการหรือขายทอดตลาดสินทรัพย์ของอังกฤษ ปัญหากฎหมายแรงงาน หากมีการยึดโรงงานมา ฯลฯ

ขณะที่ วิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SSI บริษัทแม่ของ SSI UK ยังระบุว่า ธุรกิจของ SSI UK ที่บริษัทได้เข้าไปลงทุนเมื่อ 4 ปีก่อนประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง แม้จะพยายามลดต้นทุนไปแล้ว 30%

ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ธนาคารผู้ปล่อยกู้ทั้ง 3 แห่ง มีการวิเคราะห์สินเชื่อและความเป็นไปได้ของโครงการมากน้อยแค่ไหนจึงกล้าปล่อยกู้เป็นหมื่นล้านบาท แต่สุดท้ายสินทรัพย์หลักประกันอย่างโรงงาน ที่ดิน ที่อยู่ในอังกฤษกลับมีมูลค่าเป็นศูนย์ ขณะเดียวกันกิจการนี้ยังประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง แม้ว่าโดยปกติการซื้อกิจการในต่างประเทศจะประสบผลขาดทุนในช่วงต้น แต่ก็ต้องวิเคราะห์ระยะเวลาการคุ้มทุนและกำไรก่อนให้กู้ เพื่อให้กิจการสามารถชำระหนี้ได้

นอกจากนี้ ขนาดของความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อให้ SSI และ SSI UK ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 แห่งที่ล้วนมีปัญหาสินเชื่อชะลอตัวและคุณภาพสินเชื่อที่ย่ำแย่ลงจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว

ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ แม้หนี้เสียก้อนนี้คิดเป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่มีอยู่ แต่ก็ต้องขายเงินลงทุนในพอร์ตมาชดเชยการตัดหนี้สูญ 1.1 หมื่นล้านบาท ทำให้สูญเสียโอกาสการหาผลประโยชน์จากเงินลงทุนก้อนมหาศาลนั้น รวมทั้งธนาคารยังมีภาระต้องแก้ปัญหาโครงสร้างหนี้ของ SSI ที่ถูกกระทบจากการปิดโรงถลุงเหล็กและราคาเหล็กที่เป็นธุรกิจหลักของ SSI ลดต่ำลงด้วย

และต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านั้นภาพลักษณ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ถูกกระทบจากการที่ต้องกันเงินไว้ 1,500 ล้านบาท เพื่อดูแลความเสียหายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หลังจากพบว่ามีพนักงานของธนาคารเมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตใน สจล.

สำหรับธนาคารกรุงไทยเองต้องตัดหนี้สูญและกันสำรองหนี้เพิ่มขึ้นอีก 9,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อธนาคารกรุงไทยพอสมควร เพราะต้องใช้เงินกันสำรองส่วนเกินที่มีอยู่มากันสำรองหนี้ส่วนนี้ ทำให้สัดส่วนอัตราเงินสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญ (Coverage Ratio) ที่เดิมมีอยู่ 125% ลดลงเหลือกว่า 90% ธนาคารจึงต้องตั้งสำรองเพิ่มพิเศษในช่วงที่เหลือของปี เพื่อให้สัดส่วนสำรองปรับเพิ่มขึ้นมาเป็นไม่ต่ำกว่า 100% ภายในปีนี้

ขณะเดียวกันเอ็นพีแอลของธนาคารกรุงไทยก็เพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท จาก 6.3 หมื่นล้านบาท เมื่อสิ้นเดือน ส.ค. ส่งผลให้สัดส่วนเอ็นพีแอลปรับขึ้นจาก 2.9% ของสินเชื่อรวมเมื่อสิ้นไตรมาส 2 เป็น 3.5% ในสิ้นไตรมาส 3 และเอ็นพีแอลสุทธิปรับขึ้นจาก 1.5% ในไตรมาส 2 เป็น 1.7% ณ สิ้นไตรมาส 3

เช่นเดียวกับธนาคารทิสโก้ที่นอกจากต้องตั้งสำรองหนี้ 3,750 ล้านบาทแล้ว ยังทำให้เอ็นพีแอลของธนาคารเพิ่มขึ้นประมาณ 0.34% ด้วย

ผลสะเทือนอีกประการ คือบทเรียนจากปัญหาหนี้เอ็นพีแอลรายใหญ่ก้อนนี้ เชื่อว่าจะทำให้หลังจากนี้ทุกธนาคารในระบบต้องหันมาเข้มงวดกับระบบคัดกรองลูกค้าสินเชื่อและความเป็นไปได้ของโครงการมากขึ้น รวมทั้้งความกังวลต่อคุณภาพสินทรัพย์ของระบบธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจที่ปล่อยกู้ไปก่อนหน้า จากเดิมที่ธนาคารต้องเผชิญกับปัญหาการด้อยค่าในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อบุคคล เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ซึ่งอาจส่งผลให้แต่ละธนาคารต้องกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น จนทำให้ธนาคารพาณิชย์ยิ่งต้องลดบทบาทในการเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการปล่อย
สินเชื่อ ซึ่งจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยซึมไปอีกนาน


โรงเหล็กเจ๊งส่อทำทิสโก้ขาดทุนยับ อาจฉุดกำไรทั้งกลุ่มทรุดฮวบกว่า 10%

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

โรงเหล็กเจ๊งส่อทำทิสโก้ขาดทุนยับ อาจฉุดกำไรทั้งกลุ่มทรุดฮวบกว่า 10% ธปท.ชี้ดันเอ็นพีแอลในระบบเพิ่ม 2.86%

คาดปิดโรงถลุงเหล็กสหวิริยายูเคฉุดกำไร 3 แบงก์วูบหนัก ทิสโก้หนักสุดอาจถึงขั้นขาดทุนไม่ต่ำกว่า 200 ล้าน ขณะที่กรุงไทยกำไรหายจ้อยกว่า 60% แถมฉุดกำไรกลุ่มแบงก์ลดฮวบ ธปท.เผยดันเอ็นพีแอลเพิ่มแต่ไม่กระทบภาพรวม

จากกรณีที่บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือเอสเอสไอ ประกาศให้บริษัทย่อย คือ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค จำกัด หยุดถลุงเหล็กแบนชั่วคราว เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกลดลงมากจนไม่สามารถทำกำไรได้ ทำให้ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของเอสเอสไอ 3 แห่ง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคากรุงไทย และธนาคารทิสโก้ ที่มีมูลหนี้รวม 5.27 หมื่นล้านบาท ได้รับผลกระทบและต้องตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นนั้น

นางอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด เปิดเผยว่า ธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากการสำรองหนี้จากกรณีที่เกิดขึ้นมากที่สุดคือธนาคารทิสโก้ เพราะยังไม่เห็นกลยุทธ์ที่จะนำรายได้อื่นมาชดเชยการตั้งสำรอง ซึ่งธนาคารจะต้องกันสำรองหนี้ประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะส่งกระทบต่อกำไรสุทธิไตรมาส 3/2558 แน่นอน โดยคาดว่าจะขาดทุนประมาณ 100-200 ล้านบาท จากที่ไตรมาส 1 และ 2 มีกำไร 1,100 ล้านบาท และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคาดว่าทั้งปี 2558 ทิสโก้จะมีกำไรเพียง 2,987 ล้านบาท ลดลง 29.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เชื่อว่าในปีหน้ากำไรจะพลิกกลับมาเติบโตที่ 47.3%

นางอุษณีย์กล่าวว่า ส่วนธนาคารกรุงไทยจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับ 2 คาดว่าในไตรมาส 3 กำไรจะหายไปไม่น้อยกว่า 64.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือมีกำไรเพียง 3,000 ล้านบาท แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 จะลดลง 67.6% แม้ว่าธนาคารจะสำรองหนี้ส่วนเกินอยู่ที่ 2.64 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิปี 2558 จะลดลง 33.2% หรืออยู่ที่ 22,764 ล้านบาท

"ธนาคารไทยพาณิชย์จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะมีแผนกันสำรองหนี้สูงสุดถึง 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารจะใช้ประโยชน์จากกำไรจากการขายเงินลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาทเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยคาดว่าไตรมาส 3/2558 จะมีกำไร 1.08 หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 18.2% และลดลงจากปีก่อนหน้า 18.4% กำไรทั้งปีจะหดตัว 11.6% โดยมีกำไรที่ 4.71 หมื่นล้านบาท" นางอุษณีย์กล่าว

นางอุษณีย์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรในปีนี้ของกลุ่มธนาคารใหม่ โดยคาดว่าจะลดลงอีก 3.5% ทำให้ปี 2558 กลุ่มธนาคารจะมีกำไร 183,108 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 11.5% แต่จะพลิกกลับมามีกำไรโต 17.6% ในปี 2559 เพราะแนวโน้มการตั้งสำรองหนี้ของกลุ่มกลับมาเป็นปกติ โดยจะมีกำไรที่ 215,381 ล้านบาท

นายประสิทธิ์ รัตนกิจกมล นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาสที่ 3/2558 ของ เอสเอสไอ น่าจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ถึงแม้ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนในไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้นเพราะบริษัทยังต้องแบกรับผลขาดทุนของธุรกิจต้นน้ำคือโรงถลุงเหล็กที่อังกฤษ

นายรณดลนุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ประเมินผลกระทบจากกรณีดังกล่าวแล้วพบว่าจะทำให้ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบเพิ่มขึ้นจาก 2.46% มาเป็น 2.86% ซึ่งคาดว่าจะไม่กระทบต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินโดยรวม เพราะธนาคารทั้ง 3 แห่งมีการกันสำรองหนี้เพิ่มขึ้นมาเพียงพอรองรับภาระหนี้ดังกล่าว




ที่มา : นสพ.มติชน


โบรกหั่นกำไรแบงก์ปีนี้ต่ำ 2 แสนล. SSI พ่นพิษ 3 เจ้าหนี้ NPL กระฉูดแบกภาระสำรองหนัก

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

โบรกฯคาดการณ์กำไรสุทธิกลุ่มแบงก์ Q3/58 ร่วงหนัก สินเชื่อโตต่ำ 1% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิต่ำ 3% แบกภาระตั้งสำรองฯเพิ่มตาม NPL พุ่ง เผย 3 แบงก์อ่วมพิษ SSI ตั้งสำรองเพิ่ม ฉุดกำไรกลุ่มแบงก์ 2 โบรกฯปรับลดกำไรกลุ่มแบงก์ปี′58 ลงต่ำ 1.6-2 แสนล้านบาท

นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ กรรมการผู้จัดการสายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ในไตรมาส 3/58 คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มน่าจะลดลง เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2/58 ที่ทำได้ 51,572 ล้านบาท และจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 54,272 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของแต่ละแบงก์ที่เพิ่มมากขึ้น ตามปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารทิสโก้ (TISCO) ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ที่มีบริษัทย่อยในอังกฤษ ในชื่อ SSI UK ซึ่งต้องหยุดดำเนินการไป และมีหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เกิดขึ้น จนต้องตั้งสำรองเพิ่มจากปกติ ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับต่ำจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ

สินเชื่อรวม Q3 โตไม่ถึง 1%

การขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาส 3 /58 คาดว่าเติบโตไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตเพื่อการส่งออกยังได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวอย่างมาก และบางรายต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ทรงตัว จากโครงการภาครัฐของเดิมที่มีอยู่ ส่วนโครงการลงทุนภาครัฐใหม่ ๆ ถูกเลื่อนออกไป

ด้านเงินฝากมีการขยายตัวไม่มากเช่นกัน เนื่องจากแบงก์ยังไม่ได้เร่งระดมเงินฝากเข้ามา เพราะจะเป็นภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น

"จึงคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของทั้งระบบน่าอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 2.9% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 3.2% ส่วนเอ็นพีแอลภาพรวมน่าจะมีสัดส่วนราว 3.4% ของสินเชื่อทั้งระบบ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 3.2% ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งคาดว่าสถานการณ์หนี้เสียหรือเอ็นพีแอลจะทรงตัวในระดับนี้ไปถึงสิ้นปี และลดลงอย่างชัดเจนในปีหน้า" นายวรุตม์กล่าว

ส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) โดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นายวรุตม์ประเมินว่า กลุ่มบริษัทย่อยทั้ง บล. และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ก็ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากสถานการณ์ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่หดตัว

ลุ้นมาตรการรัฐหนุนผลงาน Q4

สำหรับทิศทางผลการดำเนินงานของกลุ่มแบงก์ในช่วงไตรมาส 4/58 คาดการณ์ว่ามีโอกาสที่กำไรจะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากแต่ละแบงก์จะสามารถปล่อยกู้ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของภาครัฐ อีกทั้งไตรมาส 4 ยังเป็นช่วงรับออร์เดอร์ของกลุ่มธุรกิจส่งออกที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้เอ็นพีแอลของสินเชื่อเอสเอ็มอีปรับตัวลดลงและกลับมาฟื้นตัวได้ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าในช่วงดังกล่าวแต่ละแบงก์ไม่น่าจะมีการตั้งสำรองพิเศษเข้ามากดดันเพิ่มเติมแล้ว

โบรกฯชี้SSI ฉุดกำไรแบงก์

บทวิเคราะห์ของ บริษัท ฟิลลิป แคปปิตอล ระบุว่า จากการหยุดการผลิตของ SSI UK ทำให้ธนาคารเจ้าหนี้ทั้ง 3 ราย คือ SCB KTB และ TISCO จะต้องจัดชั้นสินเชื่อที่ให้กับกลุ่ม SSI เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และต้องตั้งสำรองเพิ่มในไตรมาส 3/58 โดยเป็นการตั้งสำรอง 100% ในส่วนของสินเชื่อที่ให้กับ SSI UK และตั้งสำรองบางส่วนในสินเชื่อที่ปล่อยให้กับ SSI ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายหลังตั้งสำรองแล้วจะเห็นการตัดหนี้สูญออกจากงบการเงินเลย ซึ่งจะทำให้ NPL ไม่สูงมาก และหาก SSI สามารถขาย SSI UK ได้ และชำระหนี้คืน จะทำให้ทั้ง 3 ธนาคารมีกำไรพิเศษจากหนี้สูญ

"ผลกระทบทั้งหมดจะทำให้กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารลดลง 5.8% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.1 แสนล้านบาท จะเหลือ 2 แสนล้านบาท ซึ่งลดลง 2.6% จากปี 2557" บทวิเคราะห์บริษัท ฟิลลิป แคปปิตอลระบุ

ด้าน บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ระบุว่า ปัญหาหนี้ SSI กลับมาเป็นประเด็นลบต่อกลุ่มธนาคารอีกครั้ง จึงได้มีการปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิลง เพื่อสะท้อนประเด็นดังกล่าว โดย 3 ธนาคารเจ้าหนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด พร้อมกันนี้ยังระบุปัจจัยเสี่ยงจากคุณภาพสินเชื่ออ่อนแอกว่าที่คาด ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ ซึ่งจะนำมาสู่การตั้งสำรองที่สูงอันเซอร์ไพรส์เชิงลบต่อตลาด ทั้งนี้ คาดการณ์กำไรรวมของกลุ่มแบงก์ 8 แห่ง อยู่ที่ 1.67 แสนล้านบาท

กรุงไทยชงบอร์ดตั้งสำรองพิเศษ

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากกรณีหนี้กลุ่ม SSI ธนาคารได้ตีมูลค่าหลักประกัน SSI ในไทยได้แล้วกว่า 3,000 ล้านบาท รวมทั้งทยอยตั้งสำรองล่วงหน้าไว้ 10,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งยังเหลือภาระสำรองเพิ่มเติมอีกประมาณ 9,000 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 3 นี้

อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะพยายามรักษาระดับสำรองส่วนเกินให้ไม่ต่ำกว่า 100% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 125% และในไตรมาส 3/58 นี้จะพิจารณาตั้งสำรองทั่วไปเพิ่มเติม และอาจจะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิในไตรมาส 3/58 ให้ลดลงประมาณ 6,000 ล้านบาท และทำให้กำไรปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนที่ทำไว้ได้ที่ 33,100 ล้านบาท

"ทิศทางในครึ่งปีหลัง เราไม่เน้นขยายสินเชื่อ แต่จะโฟกัสคุมปัญหาหนี้ NPL มากขึ้น และเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มอีก ปีนี้สินเชื่อคงโตได้แค่ 3% และในปีนี้กำไรเราอาจไม่ดีกว่าปีก่อน โดย NPL ที่เพิ่มขึ้น อาจต้องตั้งสำรองมากขึ้นกว่าปกติ โดยธนาคารจะมีประชุมบอร์ดภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อสรุปตัวเลขกันสำรองอีกครั้ง และอาจตั้งสำรองพิเศษในช่วงเดือนนี้เลย จากเดิมที่คาดว่าจะทำในช่วงปลายปีนี้" นายวรภัคกล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หนี้เสียแห่งปี สหวิริยา แบงก์ป่วน เศรษฐกิจป่วน

view