สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตรวจสุขภาพอาเซียน เศรษฐกิจไหนอาการหนักสุด

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มายาการเงิน

โดย สันติธาร เสถียรไทย santitanrn.sathirathai@gmail.com

เมื่อค่าเงินในภูมิภาคนี้อ่อนค่าเร็วมากเหลือเกินในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คำถามที่นักลงทุนถามผมบ่อยที่สุดคงไม่พ้นคำถามที่ว่า "อาเซียนกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนครั้งต้มยำกุ้งอีกครั้งหรือไม่ และเศรษฐกิจของประเทศไหนในอาเซียนดูจะมีอาการน่าเป็นห่วงกว่ากัน"

ไม่ใช่วิกฤตแบบต้มยำกุ้ง

คำตอบของผมถ้าพูดสั้นๆ สถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้ของอาเซียนเข้มแข็งกว่าสมัยวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งอย่างน้อย 3 ข้อหลัก ๆ คือ ข้อแรก สมัยนั้นเราต้องพึ่งพาเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศมากกว่าตอนนี้มาก เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดของเกือบทุกประเทศติดลบอย่างมหาศาล อย่างเช่น ประเทศไทยเองก็ขาดดุลเกิน 5% ของ GDP มาเลเซียกับฟิลิปปินส์ก็ติดลบ 3-4% ซึ่งแปลว่าเราใช้เงินตราต่างประเทศมากกว่าที่เราหามาได้ หากเราต้องการให้ค่าเงินอยู่คงที่ แบงก์ชาติก็ต้องใช้เงินทุนสำรองต่างประเทศเสมือนคนมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ก็ย่อมต้องดึงเงินออมมาใช้

ข้อสอง เพราะเราใช้เงินสำรองต่างประเทศไปมาก เงินสำรองเราจึงมีเหลือน้อย ไม่พอแม้แต่จะจ่ายหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (สัญญาอายุไม่เกินปี) ข้อสาม เมื่อเงินสำรองหมดเพราะถูกโจมตีค่าเงิน เราขาดภูมิคุ้มกันต่อการอ่อนแรงของค่าเงิน เพราะบริษัทในอาเซียนกู้เป็นเงินตราต่างประเทศไว้มาก ทั้งที่รายได้และสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลในประเทศ คือมี Currency Mismatches อยู่มาก

มาวันนี้สถานการณ์ต่างกันมาก ดุลบัญชีเดินสะพัดของเกือบทุกเศรษฐกิจอาเซียนเกินดุล ยกเว้นประเทศอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยน่าจะเกินดุลกว่า 6% ของ GDP ฟิลิปปินส์เกิน 4% แม้แต่มาเลเซียที่ว่าอาการหนัก ก็ยังมีสภาวะเกินดุลอยู่ ถึงแม้จะไม่มาก

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ต่ำลงจะช่วยผลักดันดุลการค้าของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน(นอกจากมาเลเซีย) สูงขึ้นไปอีก ประการหนึ่งคือเงินสำรองต่างประเทศของเกือบทุกประเทศ (ยกเว้นมาเลเซีย) มีอยู่มากพอสมควร เช่น เงินสำรองของไทยมีอยู่ 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ของอินโดนีเซียที่คนเป็นห่วงกัน อัตราส่วนนี้ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 1.8 เท่าของหนี้ระยะสั้น ส่วนของฟิลิปปินส์ยิ่งทะลุเพดานเกิน 5 เท่า เพราะกู้ต่างประเทศน้อย

อีกทั้งปัญหา Currency Mismatches มีน้อยลงมาก บริษัทส่วนใหญ่ที่มีหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ ก็มักจะมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศด้วย หรือไม่ก็กู้มาเพื่อใช้ขยายกิจการต่างประเทศ จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างก็คือ บางแห่งในอินโดนีเซียโดยส่วนใหญ่ บริษัทในอาเซียนจึงมีภูมิคุ้มกันต่อค่าเงินที่อ่อนลงมากกว่าแต่ก่อน นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในประเทศเหล่านี้ (ยกเว้นอินโดนีเซียนั้น) ต่ำมาก เพราะฉะนั้น แม้การที่ค่าเงินอ่อนลงจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นบ้าง ก็จะไม่ถึงขั้นเกิดปัญหาเงินเฟ้อ

แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่วิกฤตแบบต้มยำกุ้ง อาเซียนเองก็กำลังประสบปัญหาหนักใจทางเศรษฐกิจแน่นอน โดยเราสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มวงกว้าง ๆ กลุ่มแรกคือ ประเทศที่กำลังอาการค่อนข้างหนัก โดนทั้งปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว รายได้หดหายจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ และแรงกดดันให้ค่าเงินอ่อนตัว เช่น มาเลเซีย กับอินโดนีเซีย

อีกกลุ่มคือพวกที่มีปัญหาเศรษฐกิจซบเซา แต่ได้รับประโยชน์จากการที่ราคาน้ำมันถูกลง และยังมีช่องทางใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจได้ และธนาคารกลางก็เลือกที่จะให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวอ่อนลงเพื่อช่วยเศรษฐกิจ เช่น ประเทศสิงคโปร์กับประเทศไทย

กลุ่มอาการหนักรายที่ 1 : เกิดอะไรขึ้นกับมาเลเซีย ?

มาเลเซียที่ดูจะเป็นแกะดำที่เด่นออกมาในปีนี้ เมื่อค่าเงินริงกิตที่เคยค่อนข้างมั่นคง ได้อ่อนลงกว่า 13% ตั้งแต่ต้นปี และทะลุ 4.2 เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดตั้งแต่ตอนต้มยำกุ้ง

เหตุก็คือ ค่าเงินริงกิตนั้นโดนมหาพายุ (Perfect Storm) 3-4 ลูกโจมตีพร้อมกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตทางค่าเงิน แต่ไม่ใช่วิกฤตทางเศรษฐกิจแบบคราวก่อน ข้อแรกก็คือ มาเลเซียเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติเจ้าใหญ่เพียงเจ้าเดียวในอาเซียน เมื่อราคาน้ำมันกับยางและน้ำมันปาล์มตกต่ำ จึงมีผลกระทบทางลบกับมาเลเซียมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังพึ่งพารายได้จาก ภาคพลังงาน อย่างมากถึง 1 ใน 3 ของรายได้รัฐบาลกลาง

เพราะฉะนั้น เมื่อราคาน้ำมันตกลงทำให้รายได้ของรัฐบาลหด จึงจำเป็นต้องลดการใช้จ่าย ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ทั้งยังต้องหาทางเพิ่มภาษีมาทดแทนรายได้ที่เสียไปอีก หากรัฐจะกู้เงินเพิ่มก็ไม่ง่าย เพราะหนี้นั้นสูงเกือบ 55% ของ GDP และตราสารหนี้เกือบ 50% ในมือของต่างชาติ คือต้องพึ่งพาเงินจากภายนอกมาก และนี่คือปัญหาข้อที่ 2 เพราะเมื่อสถานการณ์โลกพลิกผัน นักลงทุนต่างชาติตื่นตระหนก หมดความเชื่อมั่นในตลาด Emerging Markets เหมือนในช่วงที่ผ่านมา 2 เดือนนี้เงินทุนก็จะไหลออกจากประเทศอย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าเงินถูกกดดันอย่างมาก

ส่วนปัญหาข้อที่ 3 ก็คือ เรื่องความเชื่อมั่น ส่วนหนึ่งก็เพราะธนาคารกลางมีเครื่องมือจำกัดในการจะพยุงค่าเงินไว้ จะใช้เงินสำรองต่างประเทศก็มีเหลือไม่มากอยู่ที่ 9 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ แค่ประมาณ 1 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ต่ำที่สุดในเอเชีย จะขึ้นดอกเบี้ยก็จะกระทบเศรษฐกิจมากไป เพราะหนี้ครัวเรือนสูงถึง 86% ของ GDP สุดท้ายยังมีปัญหาทางการเมืองที่ปะทุขึ้นมาในปีนี้ ที่ไม่เพียงเขย่าแต่รัฐบาล แต่ยังรวมไปถึงองค์กรที่เป็นที่เชื่อถือมาช้านานอย่าง ธนาคารกลางมาเลเซีย ทำให้นักลงทุนต่างชาติยิ่งกลัวว่าคนในประเทศเองจะเอาเงินหนีออกข้างนอกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีก 2 ประเด็นสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ไม่แย่เท่าตอนต้มยำกุ้ง ข้อแรกคือ รอบนี้มาเลเซียไม่ได้มีปัญหา Currency Mismatches เท่าไหร่ โดย 80% ของบริษัททั้งหมดได้มีการทำ Hedging หรือมีเงินรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศอยู่แล้ว จึงทำให้ค่าเงินที่อ่อนลงมาก ไม่ได้กระตุกให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจกับกองทุนภาครัฐของมาเลเซีย ยังมีสินทรัพย์อยู่ต่างประเทศที่สามารถขายและนำเงินกลับประเทศได้อยู่อีกมาก แค่ดูเพียงกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ก็มีทรัพย์สินต่างประเทศอยู่กว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ แม้อาจจะไม่ได้มีสภาพคล่องขายได้หมดทันทีก็ตาม

ต่อไปผมคิดว่าทาง รัฐบาลมาเลเซียคงจะเริ่มมีโครงการให้บริษัทกับกองทุนเหล่านี้ดึงเอาเงินกลับ เข้าประเทศมากขึ้นเพื่อลดแรงกดดันแต่คงได้แค่ชะลอการขยับลงของเงินริงกิต เท่านั้น ไม่สามารถหยุดได้

กลุ่มอาการหนักรายที่ 2 : อินโดนีเซีย

รายที่อาการหนักเหมือนกันอีกประเทศ คือ อินโดนีเซีย โดยค่าเงินรูเปียห์ก็ลดลงกว่า 18% ในปีนี้ ลงไปต่ำสุดตั้งแต่สมัยวิกฤตต้มยำกุ้งเช่นกัน

จุดอ่อนจุดหนึ่งที่เหมือนมาเลเซีย ก็คือ สัดส่วนของตราสารหนี้รัฐบาลที่อยู่ในมือของนักลงทุนต่างชาตินั้น สูงกว่าประเทศอื่นอยู่ที่ประมาณเกือบ 40%

และนอกจากนั้นแล้ว ปัญหาของอินโดนีเซียก็ต่างจากมาเลเซีย ถึงแม้อินโดนีเซียกำลังจะกลับเข้ากลุ่มโอเปก ความจริงก็คือ อินโดนีเซียนำเข้าน้ำมันมากกว่าส่งออก จึงได้ประโยชน์จากการที่ราคาน้ำมันถูกลง ไม่เหมือนมาเลเซีย แต่ถึงกระนั้นอินโดนีเซียก็ยังเจอปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังอยู่กว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 2% กว่า ๆ ของ GDP

สาเหตุหนึ่งคือ อินโดนีเซียขาดภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง จึงต้องนำเข้าสินค้าจำนวนมาก บวกกับไม่มีฐานส่งออกที่เข้มแข็ง สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ก็เป็นพวกถ่านหิน น้ำมันปาล์ม ยาง และโลหะที่ราคาตกต่ำทั้งสิ้น ผลคือเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพาเงินลงทุนระยะสั้นจากต่างประเทศอยู่มาก และการดึงดูดเงินเข้าประเทศก็ยากขึ้น เพราะแม้ดอกเบี้ยนโยบายจะสูงถึง 7.5% เงินเฟ้อก็ยังสูงกว่า 7% มาจากราคาอาหาร เช่น ข้าวกับเนื้อสัตว์ เพราะบริหารการนำเข้าที่ผ่านมาผิดพลาด

สุดท้ายที่ต่างจากประเทศอื่นในอาเซียนมากก็คือ บริษัทบางแห่ง (แม้จะจำนวนไม่มากเหมือนแต่ก่อน) ในภาคอสังหาริมทรัพย์และโทรคมนาคมในอินโดนีเซีย ยังมีการกู้เงินตราต่างประเทศ ทั้งที่รายได้เป็นเงินรูเปียห์ และไม่ได้ทำ Hedging เมื่อเงินอ่อนลงจึงทำให้ภาระหนี้สูงขึ้น พร้อมกับที่ต้นทุนของการนำเข้าแพงขึ้น ทำให้ผลกำไรตกต่ำลดการลงทุน เมื่อธนาคารกลางยังไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้เพราะปัญหาทางการเงินกับเงินเฟ้อ ภาระจึงตกอยู่กับนโยบายการคลัง ซึ่งก็ประสบปัญหาเดียวกับประเทศไทย การลงทุนพื้นฐานที่จำเป็นนั้นใช้เวลานานมาก ผลก็คือเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์

แล้วประเทศไทยล่ะ ?

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วกลุ่มที่ยังมีอาการทางเศรษฐกิจเบาบาง ไม่หนักเท่ามาเลเซียและอินโดนีเซีย กลุ่มนี้มีไทย สิงคโปร์ (และเกาหลีใต้ ไต้หวัน ถ้ารวมเอเชียเหนือ) แม้เศรษฐกิจจะซบเซาแต่ยังมีเสถียรภาพดีกว่า ไม่ต้องพึ่งพาเงินภายนอก เพราะดุลการค้าระหว่างประเทศยังเป็นบวกมหาศาลคือมีรายได้เงินตราต่างประเทศเข้ามามากกว่ารายจ่าย

อย่างที่กล่าวไปในช่วงแรก แถมยังมีเงินสำรองต่างประเทศเพียงพอที่จะดูแลค่าเงินไม่ให้อ่อนมากถ้าต้องการ แต่ประเด็นก็คือ ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ต้องการให้ค่าเงินอ่อนลง เพราะหากเงินแข็งขึ้นแซงประเทศคู่ค้าในยามที่การส่งออกอ่อนแอขนาดนี้ คงเหมือนราดเกลือลงไปบนแผล ทำให้ยิ่งเสียความสามารถทางการแข่งขันและปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น ยิ่งประเทศจีนคู่ค้าและคู่แข่งเจ้าใหญ่ เพิ่งลดค่าเงินหยวนไป ก็ยิ่งสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารกลางเหล่านี้ปรับค่าเงินให้อ่อนตาม

สำหรับ กลุ่มนี้การลดค่าเงินเป็นยาสามัญประจำบ้านที่รัฐบาลจำต้องใช้จนกว่าเศรษฐกิจ จะฟื้นตัวได้ดีขึ้น(ดูรายละเอียดได้ในบทความ"เมื่อการลดค่าเงินกลายเป็นยา สามัญประจำบ้าน")

สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจไหนดูดีที่สุด ?

ถ้าจะว่าไปแล้วในยามนี้อาเซียนดูเหมือนจะป่วยกันหมด มีเพียงหนึ่งเศรษฐกิจที่ดูจะมีสุขภาพดีกว่าเพื่อน คือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ประโยชน์จากการที่ราคาน้ำมันถูกลงเหมือนประเทศไทย แต่ได้เปรียบมากกว่าจากการที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งด้วย GDP คือโตปีละประมาณ 6% ประกอบกับทั้งปัจจัยภายนอกและภายในด้วยกล่าวคือ ปัจจัยภายนอกฟิลิปปินส์โตได้จากการพึ่งพาการส่งออกภาคบริการ ที่เรียกว่า กิจการรับจ้างบริหารระบบธุรกิจ (Business Process Out-sourcing) สร้างรายได้ให้ประเทศ 6% ของ GDP ต่อปี ส่วนปัจจัยภายในการบริโภคได้แรงหนุนจากราคาข้าวที่ต่ำลง และการลงทุนก็โตได้ดี เมื่อรัฐบาลปัจจุบันสร้างความเชื่อมั่นเรื่องการลดปัญหาคอร์รัปชั่นที่มีมาแต่ช้านานได้สำเร็จ (ผมเขียนบทความทำนายว่า ฟิลิปปินส์จะกลายเป็นม้ามืดในอาเซียนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว อ่านได้ที่ "เคล็ดลับความแกร่ง เศรษฐกิจฟิลิปปินส์") แต่ถึงแม้จะดูสุขภาพดีอย่างไร ที่ฟิลิปปินส์เองปีหน้า (2559) จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี จะเป็นชะตาที่ต้องติดตามดูกันให้ดี

สรุปคือโจทย์เศรษฐกิจอาเซียนอย่างน้อยใน 12 เดือนข้างหน้านี้ไม่ง่ายเลยแม้จะไม่แย่เข้าขั้นวิกฤตแบบคราวก่อนก็ตาม เขาว่ากันว่า "ยามยากสร้างนโยบายดี ยามมีสร้างนโยบายยาก" คงต้องมาดูกันละว่าคราวนี้จะจริงไหม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตรวจสุขภาพอาเซียน เศรษฐกิจไหน อาการหนักสุด

view