สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความ แพง ของสินทรัพย์ภายใต้ New Normal

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย ดร. สมชัย อมรธรรม  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บลจ. กรุงไทย

ดูเหมือนคำว่า “New Normal” จะกลับมาฮิตใหม่ในประเทศไทยหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อเรื่อง “เศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ” หรือในภาษาอังกฤษว่า “The Thai Economy under the New Normal” ไปในสัปดาห์ก่อน ผมคงไม่ต้องสรุปว่าการสัมมนามีอะไรบ้าง เพราะทาง ธปท. ได้อธิบายไว้เป็นอย่างดีแล้ว แต่ผมจะขอมาให้ความเห็นเพิ่มเติมและมองว่าจะมีผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนอย่างไร แต่ก่อนอื่น ผมคิดว่า “New Normal” นั้นไม่ใช่ “New Mechanism” แต่อย่างใด กลไกเดิมๆ ที่เรารู้จักดี (Old Mechanism) หลักดีมานด์-ซัพพลาย คนอยากซื้อของถูกอยากขายของแพง ยังคงเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่

ส่วน “New Normal” นั้น เกิดจากการที่ปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจนั้นเปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญ เช่น ปัญหาประชากรสูงวัย, การเติบโตของจีนที่ผ่านช่วงที่เร่งตัวสูงสุดและเข้าสู่ช่วงชะลอตัวลง และการค้นพบแหล่งพลังงานใหม่ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาอย่างมาก เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเมื่อ Input เปลี่ยน Output คือการเติบโตของเศรษฐกิจก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย

และไม่เพียงปัจจัยเหล่านั้นที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมของคนที่ยังมีการยึดติดกับข้อมูลเก่าๆ อยู่ (Anchoring) ก็อาจเป็นอีกส่วนทำให้เกิดภาวะ “New Normal” ขึ้นด้วย เพราะถ้าหากเรามีการยึดติดกับ “New Normal” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็น่าจะรู้สึก “เฉยๆ” กับการที่จีนเติบโต 7% หรือต่ำกว่า, ไทยเติบโต 4% หรือเศรษฐกิจโลกขยายตัวประมาณ 3-4% แต่เรากลับบอกว่าการเติบโตระดับนี้ “ไม่ดี” และต่ำเกินไปนั้นอาจเป็นเพราะเรายังมีพฤติกรรมยึดติดกับ “Old Normal” อยู่

ภายใต้บริบท “New Normal” นี้ เมื่อปัจจัยภายนอกเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งไทยและทั่วโลกน่าจะต่ำลงกว่าเดิม อีกทั้งด้วยความที่เรายังไม่คุ้นเคยกับการเติบโตเช่นนี้ ทำให้เรายังรู้สึกว่าการเติบโตใหม่ “ต่ำเกินไป” เมื่อความเชื่อมั่นไม่เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ก็น่าจะน้อยลง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่น่าทรงตัวในระดับนี้ก็ทำให้ไม่มีแรงผลักดันเงินเฟ้อด้านอุปทานด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินทั่วโลกภายใต้บริบท “New Normal” ที่น่าจะมีความผ่อนคลายมากกว่าในอดีต และดอกเบี้ยอาจอยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีต

เมื่อดอกเบี้ยและเงินเฟ้อเองอยู่ในระดับต่ำ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ก็น่าจะต่ำตามไปด้วย ซึ่งนั่นจะทำให้นักลงทุนจะถูก “บังคับ” ให้ลงทุนในหุ้นมากขึ้นเพื่อชดเชยผลตอบแทนตราสารหนี้ที่น้อยลง ถึงแม้ว่าราคาหุ้นในปัจจุบันนี้หลายคนจะบ่นว่า “แพง” กว่าแต่ก่อนก็ตาม สัดส่วนราคาต่อกำไร (P/E) ที่แต่เดิมอาจจะเฉลี่ยอยู่ที่ 12 เท่า ก็อาจจะปรับตัวสูงขึ้นกลายเป็น 14-15 เท่าภายใต้บริบท “New Normal” ก็เป็นได้ แต่เรายังอาจจะรู้สึกว่า “แพง” เพราะยึดติดกับ “Old Normal” อยู่

ทั้งนี้ เราอาจจะยกญี่ปุ่นเป็นกรณีตัวอย่างก็ได้ นโยบายการเงินของญี่ปุ่นมีการผ่อนคลายมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำมาก พันธบัตรอายุ 10 ปีให้ผลตอบแทนเพียง 0.35% เท่านั้น จึงทำให้ในปีที่ผ่านมากองทุนบำเหน็จบำนาญญี่ปุ่นประกาศว่าจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะคล้ายกับนักลงทุนทั่วไปในญี่ปุ่น เมื่อมีแรงซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นมูลค่าหุ้นของญี่ปุ่นก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย สัดส่วน P/E ของดัชนี Nikkei 225 เคยขึ้นไปแตะระดับประมาณ 19 เท่า ก่อนที่จะย่อตัวลงมาตามแรงขายหุ้นทั่วโลกในเดือนก่อน โดยปัจจุบัน P/E ของญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 16.5 เท่า และนักวิเคราะห์หลายคนก็เริ่มหันความสนใจต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นเนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวลงมาจนค่อนข้าง “ถูก” แล้ว

แต่ทว่า อีกบริบทของ “New Normal” คือการที่ตลาดการเงินประเทศต่างๆ มีความสัมพันธ์กันมากขึ้น อีกทั้ง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็ทำให้ข้อมูลข่าวสารถูกเผยแพร่ออกได้อย่างรวดเร็ว การ “รับข่าว” ของตลาดนั้นก็รวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน ความผันผวนในต่างประเทศจึงมีผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในประเทศมากด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ก็มักจะส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในประเทศไทยตามไปด้วย ดังนั้น แม้ว่าเราจะชอบการลงทุนในหุ้นมากกว่าตราสารหนี้อยู่ และมองว่ามูลค่าหุ้นอาจจะอยู่ในระดับนี้ไปอีกระยะหนึ่ง แต่ทว่าความผันผวนที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไปก็อาจจะมากขึ้นด้วยเช่นกันนะครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความแพง สินทรัพย์ ภายใต้ New Normal

view