สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมกะเทรนด์ปี 59 บูมธุรกิจ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จะเรียม สำรวจ

เมกะเทรนด์ปี'59 บูมธุรกิจ

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามแนวโน้มหรือเทรนด์ใหม่ๆ ของไทยและของโลก ส่งผลให้ในแต่ละปีมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นบนโลกใบนี้อย่างมากมาย เช่นเดียวกับประเทศไทยเอง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวตามให้ทันกับปัจจัยเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่น่าจับตามองในปี 2559 สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มเทรนด์ใหญ่หรือเมกะเทรนด์ที่จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 นี้ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง การเปิดให้บริการ 4จี และกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น

ชลิต ลิมปนะเวช อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี 2559 ธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าสายดังกล่าวมากที่สุด คือ อสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ของแต่งบ้าน แต่ธุรกิจที่น่าจับตามองหลังจากเกิดรถไฟฟ้าแต่ละสาย คือ ธุรกิจที่จอดรถ เพราะถ้ากรุงเทพฯ มีระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อต่อการเดินทาง คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็จะจอดรถไว้ตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ แล้วโดยสารรถไฟฟ้าแทนการขับรถ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว นอกจากจะช่วยแก้ปัญหารถติดแล้วยังช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงานด้วย

สำหรับเทรนด์ในด้านของกลุ่มผู้สูงอายุ ถือเป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องหันมาให้ความสนใจมากขึ้น เพราะในอีก 5 ปีข้างหน้า กลุ่มประชากรผู้สูงอายุของไทยจะมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 18-20% จากปัจจุบันมีอัตราส่วนอยู่ที่ประมาณ 14-15% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงหลังจากมีการเก็บหอมรอมริบมาตลอดทั้งชีวิต

แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไปจากเดิมสำหรับเทรนด์กลุ่มผู้สูงอายุ คือ กลุ่มผู้สูงอายุยุคใหม่จะไม่มีการเก็บเงินไว้ให้ลูกหลานเหมือนสมัยก่อน ภายหลังประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายการเก็บภาษีมรดก ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มผู้สูงอายุจะหันมาใช้เงินซื้อความสุขมากขึ้น โดยธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์ เช่น กลุ่มธุรกิจเสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ชะลอความแก่

ขณะที่เทรนด์ 4จี ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเข้าประมูล หากผู้ประกอบการที่ประมูลได้นำมาเปิดให้บริการแบบ 4จี จริงๆ ไม่ใช่ให้บริการเหมือนกับ 3จี ที่จริงๆ ให้บริการเพียง 2.5จี เท่านั้น ธุรกิจในประเทศไทยก็จะมีการพัฒนาไปมากกว่านี้ เพราะถ้าผู้ประกอบการให้บริการ 3จี จริง ความเร็วของอินเทอร์เน็ตต้องมีความเร็วอยู่ที่ 40-50 เมกะบิต/วินาที แต่ปัจจุบันแต่ละค่ายให้บริการไม่ถึง 10 เมกะบิต/วินาที

ชลิต กล่าวว่า หลังจากประมูล 4จี จบ ถ้าผู้ประกอบการให้บริการ 4จี จริงๆ ไม่ใช่ 4จี หลอกเหมือน 3จี หลอกๆ จะทำให้ธุรกิจบ้านเรามีการเปลี่ยนโมเดลไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากคนไทยหันมาใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เกิดธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในรูปแบบต่างๆ เช่น วงการธนาคารก็จะหันมาเปิดให้บริการอี-แบงก์กิ้งมากขึ้น ส่วนร้านค้าก็จะหันมาให้บริการในรูปแบบของการขายสินค้าผ่านมือถือ หรือเอ็ม-คอมเมิร์ซ (Mobile Commerce : M-Commerce)

ในด้านของการเปิดเออีซีที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ชลิต กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะเออีซีเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 4 ประเทศในซีแอลเอ็มวี คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามเท่านั้น ที่ยังไม่พร้อมและจะเข้าร่วมในช่วงปลายปีนี้  

ดังนั้น การเปิดเออีซีที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ จึงไม่น่าจะมีผลกับภาคธุรกิจเท่าไหร่นัก เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหพัฒน์ หรือยูนิลีเวอร์ ก็ส่งสินค้าไปทำตลาดตามแนวชายแดนอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการเปิดเออีซียังจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากแต่ละประเทศก็ต้องป้องกันต่างชาติเข้าไปลงทุนขยายธุรกิจ

ด้าน สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า เทรนด์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายตัวของเมือง หรือเออร์เบินไนเซชั่น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับหลายธุรกิจ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าที่กำลังทยอยดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากเส้นทางไหนเสร็จก็จะทำให้เกิดการขยายตัวของเมือง และทำให้เกิดมีธุรกิจใหม่ๆ แต่ธุรกิจที่น่าจะขยายตัวได้ดีจากอานิสงส์ดังกล่าว คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  

แนวโน้มที่ดีดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอีแจ้งเกิดได้ และเมื่อเมืองมีการขยายตัว ธุรกิจมีการพัฒนา ก็จะทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตคาดว่าประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย คิดเป็นอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของประชากรทั่วประเทศในขณะนั้น จากปัจจุบันประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านคน ซึ่งยังไม่ถึง 50% ของจำนวนประชากรทั่วประเทศที่มีประมาณ 72 ล้านคน แบ่งเป็นประชากรไทยประมาณ 67 ล้านคน และผู้ใช้แรงงานจากต่างประเทศอีกประมาณ 5 ล้านคน

ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของรายได้ประชากร และอัตราการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่จะมีอัตราการบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 70% แต่สำหรับประเทศไทยยังคงมีอัตราการบริโภคภายในประเทศเพียง 50% เท่านั้น

ขณะที่การลงทุนของผู้ประกอบการภายในประเทศเริ่มมีทิศทางที่จะคึกคัก ในส่วนของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศก็เริ่มส่งสัญญาณความคึกคักเช่นกัน เพราะการเปิดเออีซีจะทำให้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นพิเศษตอนนี้ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ส่วนนักลงทุนจากกลุ่มภูมิภาคยุโรปก็เริ่มส่งสัญญาณจะกลับมาลงทุนในประเทศไทยบ้างแล้ว เช่น เยอรมนี

จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อัตราส่วนการบริโภคภายในประเทศของไทยต้องปรับตัวมาอยู่ที่ 60% อย่างแน่นอน จากปัจจุบันอยู่ที่ 50% เช่นเดียวกับภาคบริการที่คาดว่าอีก 5 ปี จะขยับสัดส่วนไปอยู่ที่ 60% จากปัจจุบันอยู่ที่ 50% ซึ่งหากสัดส่วนของอัตราการบริโภคในประเทศ และภาคบริการขยับมาอยู่ที่ระดับ 60% ได้จะทำให้จีดีพีของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 4-5%    

สมภพ กล่าวว่า หากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ไม่ต้องกังวลว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุมากกว่าวัยหนุ่มสาว เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าวซึ่งเป็นกลุ่มเจนเอ็กซ์ในปัจจุบันเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพและมีกำลังซื้อที่สูง ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลานให้มาคอยช่วยเหลือ

จากภาพรวมทั้งหมด หากประชาชนและภาคธุรกิจปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์เทรนด์ใหญ่ปี 2559 ได้ แม้หลายฝ่ายจะมองปีหน้าเป็นปีเผาจริง แต่วิกฤตก็พลิกเป็นโอกาสได้ถ้ามีความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน จับจังหวะถูก และตั้งใจแท้จริง



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เมกะเทรนด์ปี 59 บูมธุรกิจ

view