สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

SMEs นำเศรษฐกิจ : มุมมองจาก SMEs เยอรมัน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร, พิมพัชรา กุศลวิทิตกุล

นโยบายส่งเสริม SMEs นับเป็นนโยบายสำคัญนโยบายหนึ่งของรัฐบาลไทย ด้วยจำนวน SMEs กว่า 2.7 ล้านราย การสร้างรายได้กว่าร้อยละ 37 ของ GDP และการจ้างงานแรงงานกว่า 14 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 45 ของกำลังแรงงานรวม SMEs จัดเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศไทย

การสนับสนุนธุรกิจ SMEs จึงได้จัดให้เป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้น ขอยกตัวอย่างภาคธุรกิจ SMEs ที่แข็งแกร่งของเยอรมนี มาเป็นกรณีศึกษาสำหรับ SMEs ไทย ทั้งในแง่ของแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานและการส่งเสริมของรัฐบาลเยอรมนี

เมื่อเรานึกถึงธุรกิจของเยอรมนีธุรกิจอันดับแรกๆที่นึกถึงคงหนีไม่พ้นบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Siemens, Mercedes Benz, Volkswagen หรือ Bayer อย่างไรก็ดี ภายในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีชื่อเสียงของเยอรมนี ยังประกอบไปด้วยธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง หรือมีชื่อเรียกในภาษาเยอรมันว่า "Mittelstand" อีกกว่า 3 ล้านบริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านี้นับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเยอรมัน โดยสร้างรายได้กว่าร้อยละ 52 ของ GDP และมีการจ้างงานกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนแรงงานของเยอรมนี และที่สำคัญยังมีส่วนทำให้เยอรมนีเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ข้างต้นอีกด้วย

แล้ว Mittlestand หรือ SMEs เยอรมัน คืออะไร

เมื่อเรานึกถึง SMEs ในประเทศไทย เราอาจนึกถึงผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่อาจไม่มีเงินลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากนัก การค้าส่งค้าปลีก หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ OTOP ของแต่ละท้องถิ่น แต่สำหรับเยอรมนี ธุรกิจ Mittlestand เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน มีการพัฒนาความชำนาญในการผลิตสินค้า มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้เป็นเลิศ ซึ่งประเภทสินค้าที่ Mittelstand ผลิต อาจเป็นบานพับพิเศษเพียงไม่กี่ชิ้นที่ใช้กับประตูรถยนต์ กรดผลไม้ที่เป็นส่วนผสมของน้ำอัดลมชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือเทคโนโลยีในการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับยา และแม้ว่าสินค้าที่ Mittelstand ผลิต จะไม่ใช่สินค้าขั้นสุดท้ายที่ผู้บริโภคจะได้ใช้ แต่สินค้าของพวกเขาก็มีความโดดเด่นและมีความสำคัญต่อสินค้าขั้นสุดท้ายมากเสียจนยากที่จะทดแทนได้

แล้วผู้ประกอบการเยอรมนีสามารถแข่งขันได้อย่างไรในเมื่อต้นทุนการผลิตในเยอรมนีสูงมากเสียจนไม่น่าที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้?

ในขณะที่อุตสาหกรรมของประเทศต่าง ๆ มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนแรงงานถูกกว่า ธุรกิจเยอรมันกลับเลือกที่จะคงการผลิตไว้ภายในประเทศ แม้ว่าจะมีค่าแรงและต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ สูงกว่ามาก โดยธุรกิจเยอรมันจะคงความสามารถในการแข่งขัน จากการมุ่งเน้นความเป็นเลิศในคุณภาพของสินค้า เพื่อจะสร้างความได้เปรียบจากคุณภาพของสินค้า และพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการเพื่อลดต้นทุนในการผลิต

นอกจากบทบาทในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเยอรมัน อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ Mittelstand คือการพัฒนาศักยภาพของกำลังแรงงานเยอรมัน โครงการฝึกฝีมือของบริษัทต่าง ๆ (Apprenticeship) เป็นกลไกสำคัญในการเรียนรู้หลังจบการศึกษาของกำลังแรงงานเยอรมัน และทำให้เกิดความชำนาญในการทำงานตามที่บริษัทต้องการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานแล้ว ยังเป็นการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรอีกด้วย

บทบาทภาค รัฐบาลเยอรมนีก็มีทิศทางเช่นเดียวกับรัฐบาลไทยเมื่อMittlestandเป็นจุดแข็ง ที่ทำให้เศรษฐกิจเยอรมันมีความโดดเด่นอย่างเช่นในปัจจุบันรัฐบาลเยอรมนีจึง พยายามอย่างมากที่จะส่งเสริมการเติบโตของ Mittlestand และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะทำให้ภาคการผลิตของเยอรมนีมีความแข็งแกร่งและคงความสามารถในการแข่งขัน ในตลาดโลก โดยมีทั้งการช่วยเหลือโดยตรง เช่น การช่วยเหลือทางการเงินผ่านโครงการ Central Innovation Pro-gram for SME ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือบริการที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น การส่งเสริมโครงการวิจัยร่วมระหว่าง SMEs และสถาบันการศึกษา รวมถึงการศึกษาวิจัยร่วมระหว่าง SMEs ที่อยู่ใน Supply Chain เดียวกัน เพื่อให้สินค้าที่พัฒนาขึ้นมาสามารถตอบรับความต้องการของกันและกันได้ดียิ่ง ขึ้น

การส่งเสริมการจัดหาตลาดในต่างประเทศและการช่วยสร้างเครือข่ายในการส่งออกสินค้า การสร้าง Cluster การผลิต และสร้างเครือข่าย Supply Chain กับธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นต้น และการส่งเสริมทางอ้อม เช่น การวางผังเมืองและระบบโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับกับลักษณะและความต้องการของธุรกิจในพื้นที่ การกระตุ้นและส่งเสริมแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ตลอดจนมีการหารือร่วมกับภาคธุรกิจ เกี่ยวกับแนวทางการลดทอนกระบวนการทางราชการที่ซับซ้อน เป็นต้น

เมื่อเห็นตัวอย่างความสำเร็จของ SMEs เยอรมันแล้ว ผู้ประกอบการไทยก็คงต้องเร่งคิดค้นสินค้าที่จะตอบโจทย์ตลาดโลกให้ดีขึ้น จนกลายเป็นสินค้าที่จำเป็นและไม่สามารถไปหาจากที่ไหนในโลกได้อีก ในขณะที่ภาครัฐก็คงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของ SMEs ไทย ให้กลายเป็น Assets (สินทรัพย์) ไม่ใช่ Liability (หนี้สิน) ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลไทยก็มีแนวทางส่งเสริม SMEs ออกมามากมาย ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs ที่เพิ่งเริ่มกิจกรรมใหม่เป็นเวลา 5 ปี การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 10 สำหรับ SMEs ที่มีกำไรต่อปีเกินกว่า 300,000 บาท การให้ความช่วยเหลือแนะนำธุรกิจโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ทั้งการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank หรือการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.

ดังนั้น โจทย์ที่สำคัญต่อไปก็คงเป็นเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายการผลิต เพื่อที่จะต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์ของ SMEs ไทย มีความโดดเด่นในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : SMEs นำเศรษฐกิจ มุมมอง SMEs เยอรมัน

view