สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัดฝุ่นหลังบ้าน ยอดขาย ลด แต่ กำไร เพิ่ม

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ความต้องการของผู้บริโภคที่มีความ หลากหลาย ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอไปทั่วโลก กำลังซื้อถดถอย ถือเป็นโจทย์หนักหนาสาหัสสำหรับภาคธุรกิจ

หลายบริษัทพยายามงัดกลยุทธ์ต่าง ๆ ทั้งด้านการตลาด การพัฒนามาตรฐานด้านคุณภาพในระดับสากล การบริการหลังการขาย และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) อย่างยั่งยืน ขึ้นมาใช้ เพื่อมัดใจให้เข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด

เพราะการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด ด้วยการทุ่มโหมใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งทางตรง และทางอ้อมแบบเดิม ๆ เหมือนในอดีต ผ่านดารานักแสดงดัง ๆ มาใช้อย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป

ขณะเดียวกันเมื่อย้อนกลับมาดูหลังบ้าน หลายบริษัทหันมาควบคุม "ลดต้นทุน" ค่าใช้จ่าย ปัดฝุ่นทั้งหน้าบ้าน และหลังบ้านควบคู่กันไปแบบคู่ขนาน เพื่อทดแทนผลกำไรจากยอดขายที่ลดต่ำลง บางบริษัทประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น แต่ภาวะยามนี้ ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นราคาสินค้า ดังนั้นการลดต้นทุนจึงถือเป็นการพยุงให้ผลประกอบการไม่ทรุดต่ำลงกว่าเป้าหมาย หรือถึงขั้นติดลบมากเกินไป

บางรายเริ่มจากการลดจำนวนสินค้าประเภทต่าง ๆ ของบริษัทลง บางรายมีการขายสินทรัพย์ รวมถึง "แบรนด์" สินค้าที่มีอยู่จำนวนมากออกไป ขณะที่บางธุรกิจมีการปรับระบบ "จัดซื้อจัดจ้าง" ภายในองค์กรใหม่ โดยเฉพาะรายที่มีกิจการขนาดใหญ่ มีธุรกิจในเครือหลายบริษัท จากเดิมที่ต่างคนต่างซื้อวัตถุดิบชนิดเดียวกัน มีการปรับมาซื้อรวมกัน ส่งผอย่างชัดเจนในด้านต้นทุนที่ถูกลง เพราะซื้อในปริมาณมาก ได้สินค้าคุณภาพที่ตรงตามความต้องการ ถือเป็นการสร้างอำนาจในการต่อรองทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี

บางรายมีการยุบบางหน่วยงานภายในองค์กรที่ไม่จำเป็นลง และจ้างบริษัทภายนอกมาทำหน้าที่แทน เช่น การบริหารจัดการสต๊อก คลังสินค้า และการขนส่ง

และสุดท้าย หากที่ทำมาทั้งหมดยังไม่สามารถลดการขาดทุนลงไปได้ อาจต้องมีการขายทิ้งกิจการที่ไม่ทำกำไร

ซึ่ง "การตัดแขนขารักษาชีวิต" ถือเป็นแนวทางออกหนึ่งที่ได้ผล หยุดการไหลของเลือด ให้กลับมามีสภาพคล่องของธุรกิจ ถือเป็นการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ หลายแห่งมักนำมาใช้บีบให้บริษัทลูกหนี้ทั้งหลายดำเนินการ เพื่อให้ประคับประคอง "ธุรกิจหลัก" ให้อยู่รอดผ่านพ้นช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจไปได้

ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างของหลายกิจการให้เห็น โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น "เทสโก้" (Tesco Plc) ได้ตัดสินใจขาย "โฮมพลัส" (Homeplus) ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกในประเทศเกาหลีใต้ ที่มีสาขามากกว่า 1,200 แห่ง

การขายกิจการของ "บริษัท บัมเบิล บี ฟู้ดส์" ผู้ผลิตและจำหน่ายทูน่าและปลาซาร์ดีนกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของอเมริกาเหนือ เป็นต้น

การปรับตัวทางธุรกิจของ "บริษัทโกดัก" ธุรกิจผลิตและจำหน่ายฟิล์มถ่ายรูปเก่าแก่ ด้วยการตัดขายกิจการบางส่วน และปรับขนาดของธุรกิจให้เล็กลง

ความพยายามในการหาลู่ทางเพิ่มรายได้ให้กับธนาคาร "เอชเอสบีซี โฮลดิงส์" วาณิชธนกิจสัญชาติผู้ดีอังกฤษ ด้วยการตัดขายธุรกิจในบราซิล รวมถึงการปรับลดพนักงานและปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร ซึ่งมีส่วนช่วยหนุนผลประกอบการของเอชเอสบีซีช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวเพิ่มขึ้น

"ฮิวเลตต์ แพคการ์ด" หรือ "เอชพี" บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์รายใหญ่ของโลก ประกาศแผนลดจำนวนพนักงานของบริษัทลงอีกราว 25,000-30,000 ตำแหน่ง ซึ่งเอชพีตั้งเป้าจะลดค่าใช้จ่ายของบริษัทให้ลดลง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 71,828 ล้านบาทต่อปี

ล่าสุด "แคทเตอร์พิลลาร์ อิงค์" บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้าง และอุปกรณ์เหมืองแร่รายใหญ่ของโลก สัญชาติสหรัฐอเมริกา ประกาศแผนปลดพนักงานในเครือมากกว่า 10,000 คน จนถึงปี 2561 เพื่อเป็นการลดรายจ่ายในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ยอดขายมีปัญหา

ขณะที่ในประเทศไทยมีหลายกิจการให้เห็น เช่น ซัมซุงที่โคราช มีข่าวของการปลดพนักงาน เป็นต้น

แต่ยอมรับว่า เจ้าของกิจการไทยหลายคนพยายามเลือก "การปลดพนักงาน" บางส่วนออก เป็นวิธีการสุดท้ายในการบริหารธุรกิจ เพราะคิดเสมอว่า การปลดพนักงาน 1 คน ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้คนเพียงคนเดียว แต่หมายถึงครอบครัวของพนักงาน ซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ ภรรยา และลูกที่อาจได้รับผลกระทบไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายได้แต่หวังว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกรูปแบบของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลที่ออกมา ทั้งมาตรการกระตุ้นในระดับผู้มีรายได้น้อย การช่วยเหลือสภาพคล่องธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การกระตุ้นการลงทุน ด้วยการเสนอให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการส่งเสริมการลงทุนแบบจูงใจนักธุรกิจชาวไทย และชาวต่างประเทศ การให้สิทธิประโยชน์การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ฯลฯ

จะสามารถช่วยพยุงให้ภาพรวมประเทศไทยเดินก้าวข้ามผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ไปได้ และคงไม่เห็นภาพของหนังม้วนเก่าในปี 2540 ย้อนกลับมาสู่วิกฤตต้มยำกุ้ง ภาค 2 ในประเทศไทย ด้วยการปิดกิจการและปลดพนักงานมากมาย เพราะไม่สามารถห้ามเลือดให้หยุดไหล !


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัดฝุ่นหลังบ้าน ยอดขายลด กำไร เพิ่ม

view