สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Thai Startup Cafe

โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.facebook.com/thaistartupcafe


ผมได้คุยกับน้อง ๆ รุ่นใหม่ที่อยากทำ Startup ซึ่งผมถามเขาว่า ทำไมถึงอยากที่ทำ Startup หลากหลายคนมีคำตอบแตกต่างกัน เช่น "Startup เป็นโลกที่น่าตื่นเต้น ท้าทาย" บ้างก็ว่า "Startup เป็นอะไรที่ทำแล้วหล่อ" "อยากเป็น Mark Zuckerberg คนที่ 2" "อยากได้ Funding เพราะเราไม่ต้องออกเงินในการทำธุรกิจเอง และที่สำคัญคุยได้อีกนาน" 

ถ้าถามรุ่นใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย คำตอบที่ได้ในคำถามเดียวกันจะได้ประมาณว่า "เบื่องานเช้าชามเย็นชาม" "ที่ทำงานมีปัญหา" "เพื่อนร่วมงานมันแย่" "งานเดิมไม่ใช่สิ่งที่ชอบ" "อยากเดินตามความฝัน"

แต่ที่สำคัญหลาย ๆ คนมักจะจบที่ "อยากรวย"

คุณผู้อ่าน "อยากรวย" ไหมครับ ? อย่าอายที่จะตอบตัวเองเลยครับ ผมเป็นคนหนึ่งล่ะที่ตอบเลยว่า ความอยากรวยนั้นติดตัวผมมาตั้งแต่เกิด ตัวผมเองพยายามขวนขวายที่จะหาความรู้ตามหนังสือบ้าง ตามสัมมนาบ้าง เจอของจริงปนของปลอมเข้าไปบ้าง ซึ่งผมก็ได้เรียนรู้ ได้ทดลองอะไรด้วยตัวเองมาหลายครั้ง ประสบความสำเร็จบ้าง เจ๊งไม่เป็นท่าบ้าง เพียงแต่ว่าอาจจะเป็นโชคดีของผมที่มีครอบครัวและคนรอบข้างที่ให้โอกาสมาตลอด ซึ่งพอผมทำ Startup มาสักระยะหนึ่ง ก็ทำให้เริ่มมองภาพบางอย่างออกว่ามันเป็นเรื่องของ "คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า" จริง ๆ

ผมไม่ได้จะมาบอกคุณผู้อ่านว่า การทำงานประจำมันดีกว่างาน Startup หรือ Startup ดีกว่างานประจำนะครับ แต่ผมจะมาเล่าให้ฟังถึง ข้อดี-ข้อเสีย ของทั้งสองฝั่งในฐานะของคนที่ทำงานอยู่ทั้งสองฝั่ง เป็นการแชร์ประสบการณ์ให้ฟัง

เริ่มจากชีวิต Startup ก่อนเลย สมมุติว่าคุณมีไอเดีย มีประสบการณ์ในงานนั้นมากเพียงพอที่จะพูดได้ว่า สามารถทำธุรกิจได้เองและขายสินค้าหรือบริการจาก Startup ได้ แล้วคุณเริ่มลงมือทำมัน ข้อดีและข้อเสียแรกที่คุณจะพบเลยก็คือ จะไม่มีคนคอยมานั่งสั่งคุณอีกต่อไปแล้ว แต่ทำไมผมถึงบอกว่าเป็น "ข้อเสีย" เหรอครับ

เพราะ มันเป็นข้อเสียของบางคนที่ยังไม่มีประสบการณ์มากเพียงพอในการวางแผนพัฒนา บริษัทของตัวเองหรืออาจจะมีนิสัยแอบขี้เกียจส่วนตัวอยู่ข้อดีและเสียข้อที่ สอง คือ ทั้งกำไรและการขาดทุนก็จะเป็นสิ่งที่คุณต้องรับไปแต่เพียงผู้เดียว

วันแรกที่ผมเป็นเจ้าของกิจการ สิ่งแรกที่ทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวดที่สุดคือเวลาสิ้นเดือน แทนที่จะเป็นเวลาที่เราดีใจเพราะได้เงิน กลับกลายเป็นเวลาที่เรา (แอบ) เสียใจที่กำไรที่เราหามาได้ต้องจ่ายให้กับพนักงานของเราก่อน ก่อนที่จะจ่ายให้ตัวเราเสียด้วยซ้ำ เดือนไหนไม่มีกำไรมากพอก็ต้องควักเนื้อตัวเอง ถ้าธุรกิจที่ทำได้กำไรดี สิ่งที่ต้องควบคุมคู่กันคือค่าใช้จ่าย แต่ต้องไม่ลืมคำนวณในเรื่องต้นทุนเพื่อการพัฒนาตัวบริษัทเพิ่มเติมด้วย เพราะหลาย ๆ คนอาจคุ้นชินกับการใช้เงินของบริษัทนายจ้าง จึงลืมคิดถึง ต้นทุนแฝง ทำให้คำนวณค่าใช้จ่ายผิดพลาด ที่เหลือน่าจะเป็นเรื่องของ "ทรัพยากรมนุษย์" ทั้งผู้ร่วมก่อตั้งและพนักงานที่พร้อมจะเป็นได้ทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทได้หาบุคลากรแบบไหนมาทำงานร่วมกัน หรือในอดีตคุณปฏิบัติต่อเขาไว้อย่างไร และแน่นอนท้ายที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องของรางวัลที่ Startup จะได้นั้นหอมหวนกว่ามาก เพราะถ้าคุณพัฒนาบริษัทไปถึงขั้น Exit คุณก็สามารถเกษียณตัวเองได้ หรือสามารถทำ Startup อื่นที่ใหญ่กว่าเดิมได้ หรือเป็นนักลงทุนอิสระระหว่างเกษียณก็ได้ เรียกได้ว่า "เสี่ยงเยอะ แต่ได้รางวัลใหญ่"

ย้อนกลับมาทางชีวิตของพนักงานประจำ มาเทียบกันเรื่องต่อเรื่องเลย เรื่องแรก คือการที่มีเจ้านายมาคอยด่า สั่งและสอนจนมีผลวิจัยออกมาเลยว่า การที่คนลาออกนั้นเป็นเพราะหัวหน้าแย่ ๆ รองลงมาก็จะเป็นเรื่องของการเมืองในที่ทำงาน เรื่องของอนาคตการเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร และแน่นอนคือเรื่องเงินเดือน ซึ่งจะเชื่อมโยงกับข้อดีข้อเสียเรื่องที่สองคือเรื่องของ รายได้

แน่นอนว่าพนักงานบริษัทนั้น รายได้ของท่านจะมาทุกเดือนอยู่แล้วในบริษัทส่วนใหญ่ (ไม่นับบริษัทส่วนน้อยที่เบี้ยวเงินเดือน) ซึ่งทำให้พวกเรามักจะเห็นรถติดกันทุก ๆ ปลายเดือนและต้นเดือนจากการที่มีเงินจับจ่ายเฉพาะช่วงนั้น ถ้าคุณเป็นพนักงานขาย คุณอาจจะมีส่วนแบ่งมากขึ้นในส่วนของค่าคอมฯ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้คุณรวยขึ้นมากมายจากผลงานในบริษัท เพราะฉะนั้น การที่คุณจะหาเงินแบบไม่มีลิมิตแบบ Startup นั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ยกเว้นแต่คุณเป็นดาวรุ่ง ฉลาด ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ

ในกรณีนั้น คุณไม่ต้องพยายามไปต่อรองหาเงินอะไรให้ยุ่งยากหรอกครับ เงินจะมาหาคุณเอง ซึ่งเผลอ ๆ Startup สู้ไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะคุณมีทั้งความมั่นคง ทั้งเงิน ทั้งอนาคต ซึ่งบุคคลกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในองค์กรหลาย ๆ คน ที่ผมรู้จักก็มักจะโดนดูดตัวมาบริหาร Startup ในที่สุด และได้ทั้งหุ้น บริหารเงิน และความมั่นคง เพราะ Startup ที่มีเงินขนาดจ้างผู้บริหารได้มักจะเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วระดับหนึ่ง

แต่แน่นอนว่าเมื่อเปรียบเทียบจุดสุดท้ายในการเกษียณนั้น Startup ย่อมจะประสบความสำเร็จยากกว่าด้วยรางวัลที่ใหญ่กว่า ส่วนพนักงานมืออาชีพนั้นย่อมจะประสบความสำเร็จได้ในความยากเกือบ ๆ จะเท่ากับทำ Startup เพียงแต่น่าจะเสี่ยงน้อยกว่าเพราะความรับผิดชอบนั้นได้แชร์ออกไปบางส่วนแล้ว แต่รางวัลที่จะได้นั้นก็จะเล็กลงไปตามความเสี่ยงที่รับ

ส่วนตัวผมเองนั้นขอพูดในฐานะคนที่มีประสบการณ์ ทั้งในฐานะพนักงานมืออาชีพ และ Startup ที่เคยแจ้งเกิดและแอบดับไปเงียบ ๆ ผมมักจะมีความเห็นส่วนตัวว่า ถ้าคุณสามารถคำนวณและจัดการกับความเสี่ยงของ Startup ได้ ก็กรุณาทำ Startup เถอะครับ เพราะนั่นคือสิ่งที่มักจะทำให้ Startup นั้นล้มเหลว แต่ถ้าคุณจัดการความเสี่ยงกับตัวคุณ ครอบครัวคุณ ธุรกิจของคุณไม่ได้ ผมแนะนำว่าการเป็นพนักงานบริษัทมืออาชีพนั้นไม่ได้ทำให้คุณดูด้อยค่าเลย กลับเพิ่มความมั่นคงและลดความเสี่ยงให้กับคุณด้วย แต่ถ้าใครยัง "คัน" ที่อยากจะทำ Startup ให้ได้ สัปดาห์หน้าผมมีสูตรในการทำงานประจำไปด้วย และทำ Startup ไปด้วยมานำเสนอครับ รับรองว่าไม่เสียงานประจำ แต่เหนื่อยสุด ๆ

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานกินเงินเดือน หรือเป็น Startup ก็ล้วนแต่มีเป้าหมายไว้พุ่งชน และสามารถประสบความสำเร็จในวิถีทางของคุณได้ทั้งนั้น เพียงแต่คุณเริ่มทำมันและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่จะเข้ามาเท่านั้นครับ สู้ ๆ ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

view