สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วัฏจักรเศรษฐกิจ การลงทุนระลอกใหม่ของไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เติมความคิด พิชิตการลงทุน โดย พรเทพ ชูพันธุ์ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

แนวคิดเกี่ยวกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (Economic Cycle) มีการพูดถึงมาราว 200 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ปี 1819 ก็พูดถึงเรื่องนี้กัน แต่วัฏจักรเศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักในยุคหลัง ๆ คือวัฏจักรที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Technological Innovation) ซึ่งมีระยะเวลายาวนานถึง 50 ปี (Super Cycle) แต่ภายใต้วัฏจักรใหญ่ ๆ ยังมีวัฏจักรย่อย ๆ ที่สั้นกว่าซ้อนอยู่ภายใน ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยที่แตกต่างออกไป ทำให้เป็นการยากที่จะคาดเดาว่าวัฏจักรเศรษฐกิจหนึ่ง ๆ จะยาวนานแค่ไหน

ดังนั้น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจลงทุน สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้จากอดีตว่า วัฏจักรสั้น ๆ ต่าง ๆ นั้นเกิดจากอะไร เพราะการหดตัว (วิกฤต) และขยายตัว (เฟื่องฟู) ของเศรษฐกิจมักมีสาเหตุไม่ต่างไปจากปัจจัยในอดีตมากนัก เช่น

1.การผลิตมากเกินไปหรือลงทุนมากเกินไป ที่เกิดจากการแห่ผลิตตาม ๆ กัน (เรียกว่าช่วงบูมขีดสุด) จนเกินสมดุล อุปทานส่วนเกินจำนวนมาก ส่งผลให้ธุรกิจบางส่วนต้องปิดกิจการลง กลายเป็นการเข้าสู่วิกฤต หรือเศรษฐกิจหดตัว

2.การแกว่งตัวของระดับสินค้าคงเหลือ (Inventory) ที่เกิดจากการเร่งผลิตเพื่อขาย โดยข้อมูลจากการขายของจริง ๆ ในตลาดไม่ได้ถูกส่งมายังฝ่ายวางแผนการผลิตอย่างรวดเร็วพอ ทำให้เกิดการสะสมของสินค้าคงคลังมากเกินไป นำไปสู่ภาวะชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในที่สุด

3.วัฏจักรสินเชื่อ ที่เกิดจากสภาพคล่องล้นเป็นเวลานาน ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ เงินทุนเริ่มวิ่งหาโอกาสลงทุนที่ Take Risk มากขึ้นเรื่อย ๆ บางทีอาจมาพร้อมกับการปล่อยสินเชื่ออย่างไม่ระมัดระวังโดยภาคธนาคาร เกิดเป็นภาวะฟองสบู่ที่มักจบลงด้วยวิกฤต เพราะเมื่อหนี้เสียลามเข้าสถาบันการเงิน จะทำให้ระบบสินเชื่อทั้งระบบหยุดชะงัก (Credit Crunch) ซึ่งวิกฤตลักษณะนี้มักรุนแรงและยาวนาน

4.วิกฤตจากการเลือกใช้นโยบายที่ผิดพลาด เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ที่ทำให้เศรษฐกิจโตแบบชั่วครั้งชั่วคราว หากภาคธุรกิจเร่งกำลังการผลิตหรือลงทุนมากเกินไป เมื่อหมดแรงกระตุ้นระยะสั้นจะทำให้เหลือกำลังผลิตส่วนเกิน กลายเป็นต้นทุนที่ฉุดภาคธุรกิจเข้าสู่วิกฤต ขณะที่ภาคครัวเรือนต้องแบกหนี้ก้อนใหญ่เป็นแรงหน่วงเศรษฐกิจระยะยาว

5.จากเหตุสุดวิสัยอื่น ๆ ทั้งภายนอกและภายในประเทศ เช่น วิกฤตจากประเทศเพื่อนบ้าน (นักลงทุนต่างประเทศกังวลและดึงเงินออกจากทั้งภูมิภาครวมถึงประเทศเรา) วิกฤตจากภาวะสงคราม และวิกฤตภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดหนี้ก้อนใหญ่ดึงเศรษฐกิจให้ชะลอในระยะยาว

วัฏจักรเศรษฐกิจมีผลต่อการแกว่งตัวของตลาดหุ้นแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมต่างกันไป ในช่วงขาขึ้น กลยุทธ์การลงทุนมักเน้นพวกหุ้น Growth Stock ในช่วงแรก ๆ (Early Bull) กลุ่มอุตสาหกรรมที่มักออกตัวก่อนได้แก่ ภาคการเงิน ขนส่ง ตามด้วยกลุ่มที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและสินค้าคงทน พอช่วงปลายของขาขึ้น (Late Bull) กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตทั่วไปและกลุ่มพลังงาน มักจะเร่งตัวขึ้นตามมา ในขณะที่เมื่อเข้าสู่วัฏจักรขาลง กลยุทธ์การลงทุนควรเน้นพวกหุ้น Defensive (ปันผลดี ธุรกิจมีความแน่นอน ไม่หวือหวา) เช่นกลุ่มบริการสุขภาพ การอุปโภคบริโภคทั่วไปของภาคครัวเรือน (Staples) และกลุ่มสาธารณูปโภค เป็นต้น

วัฏจักรเศรษฐกิจของไทยน่าจะกำลังเป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นขาขึ้นระลอกใหม่ มองย้อนกลับไป การลงทุนโครงสร้างของไทยระลอกแรก คือ การลงทุนอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ทำให้เรามีเศรษฐกิจที่เติบโตดีจากการส่งออก ระลอกสอง คือ การสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่ทำให้เราสามารถรองรับการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวทุกวันนี้ได้ สำหรับระลอกใหม่จะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเพื่อเตรียมเข้าสู่ยุค AEC (เริ่ม 31 ธ.ค. 2558) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน เป็นทำเลที่เหมาะกับการตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาค (Regional Head Quarter) สำหรับต่างชาติที่ต้องการฐานการผลิตในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย ซึ่งเรื่องนี้จะเป็น Growth Story ที่สำคัญของไทยในระยะต่อไป

สมดุลใหม่ของเศรษฐกิจโลก (New Normal) จะทำให้เราต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ และพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ปริมาณการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกลดลง การส่งออกของไทยเลยชะลอตามไปด้วย เราต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ อย่างตลาดเพื่อนบ้านที่เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้น หากไม่ทันสังเกตล่าสุดตลาดกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) 4 ประเทศรวมกันมีสัดส่วนถึง 1/10 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย หรือเทียบเท่าตลาดยุโรปไปแล้ว นอกจากนี้ เราต้องพึ่งพาตัวเองด้วยการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงความมั่นใจภาคเอกชน ถ้าสำเร็จก็จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และต่อยอดให้ไทยพัฒนาเป็นศูนย์กลางสำนักงานภูมิภาคได้

กลยุทธ์การลงทุน : เน้นหุ้นที่เกี่ยวกับมาตรการลงทุนระลอกใหม่ และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง (โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน) กลุ่มค้าปลีก (ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผู้มีรายได้น้อย) กลุ่มอสังหาฯ (คาดว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือด้วย Soft Loan และลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ) กลุ่มท่องเที่ยว (ยังเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลัก เริ่มฟื้นตัวหลังเหตุระเบิด) กลุ่มโทรนาคม (รายได้มีความแน่นอนสูง ไม่ขึ้นกับความผันผวนนอกประเทศ) เป็นต้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วัฏจักรเศรษฐกิจ การลงทุน ระลอกใหม่ ของไทย

view