สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัฐจัด ปาร์ตี้อสังหาฯ แล้วแบงก์ชาติว่าอย่างไร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ oilday@yahoo.com

และแล้วการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ก็ส่งผลทางจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจกลับคืนมาได้ระดับหนึ่ง

เพราะมาตรการอสังหาริมทรัพย์ชุดแรกที่จัด ส่งผลทั้งในภาคธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น และยังเป็นการเข็นให้เกิดการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเกิดขึ้นด้วย เพียงแต่การซื้อบ้านจะต้องใช้ "เงินกู้ล่วงหน้า" ซึ่งหมายถึง ผู้กู้จะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีระดับการเติบโตต่ำ 2-3%

ที่สำคัญมาตรการนี้เพื่อกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อย และกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ หรือคนที่เคยขอกู้ซื้อบ้านกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นแล้วกู้ไม่ผ่าน จะสามารถเดินไปขอสินเชื่อกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้เลย เพราะผ่อนคลายการอนุมัติเงินกู้ซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะเงื่อนไขด้านรายได้ของผู้กู้ จะสามารถก่อหนี้ได้ถึง 50% ของรายได้ ทั้งนี้ จะต้องกู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สิทธิพิเศษนี้ให้เพียงระยะเวลา 1 ปีเท่านั้น

พร้อมกันนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าโอนบ้านและค่าจดทะเบียนจำนองให้อีก ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ราว ๆ 99% ของค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมนี้ ไม่รวมอากรแสตมป์ (ข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ถือว่าจะถูกกว่าการไปซื้อปกติ แต่จะจัดให้แค่ 6 เดือนเท่านั้น รวมทั้งรัฐยังแจกมาตรการภาษีให้ผู้ซื้อบ้านหลังแรก สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ถึง 20% ของมูลค่าบ้าน เป็นระยะเวลา 5 ปีด้วย ซึ่งมาตรการชุดนี้เริ่มวันที่ 19 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป

มาตรการอสังหาฯชุดแรกออกมายังหมาด ๆ อยู่ รัฐบาลก็คึกเข็นต่ออีกชุด ด้วยการเรียกเอกชนภาคผู้ประกอบการอสังหาฯ 17 ราย มาเข้าร่วมโครงการ "สร้างบ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อย" ซึ่งครอบคลุมไปถึงทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสังคมให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองบ้าง ดังนั้นบ้านที่สร้างมาขายนี้จะ "ไม่หวังกำไร" เพราะราคาขายของบ้านจะอยู่ที่เฉลี่ย 5-6 แสนบาทสำหรับผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000-15,000 บาท ส่วนที่ดินโครงการนี้รัฐจะสนับสนุนที่ดินให้ อาทิ ที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ที่ดินการรถไฟฯ หรือที่ดินของหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ซึ่งในที่ประชุมก็มีการกล่าวว่า น่าจะเป็นลักษณะคอนโดมิเนียมมากกว่าเป็นบ้านแนวราบ

เรียกว่ารัฐจัดปาร์ตี้มาตรการอสังหาฯทั้ง 2 ชุดใหญ่กันทีเดียว ถ้าเอกชนร่วมปลุกปั้นได้สำเร็จก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะอย่างที่บอก ภาคอสังหาริมทรัพย์จะมีความเชื่อมโยงต่อภาคธุรกิจอื่น ๆ ไม่น้อย ซึ่งสร้างห่วงโซ่การผลิตการบริโภคภายในประเทศคึกคักได้ระดับหนึ่ง ในภาวะที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยติดกับดัก "ภาคส่งออก" ทรุดมานาน ดังนั้นหากสามารถจุดไฟภาคอสังหาฯติดและหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปก่อน ท่ามกลางภาวะที่ต้องรอภาครัฐจัดทำกระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับการจะลงทุนโครงการใหญ่เกิดขึ้นในปีหน้า

มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจท้าทายของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ "สมคิด" เพราะมาตรการนี้จะส่งผลกระทบข้างเคียงในด้าน "การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน" ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่น่าเป็นห่วงในยุคของ "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ที่เพิ่งหมดวาระไปหมาด ๆ เมื่อสิ้นเดือนกันยายน ถ้าประเมินตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่จะเพิ่มขึ้นจากผลของมาตรการชุดแรก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุไว้ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2558 คงจะเอียงเข้าสู่ 82.5% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นกรอบบนของประมาณการเดิม

ที่สำคัญ ในยุคผู้ว่าการแบงก์ชาติป้ายแดง "ดร.วิรไท สันติประภพ" จะยังมองในมุมเดียวกับผู้ว่าคนเก่าหรือไม่ ว่าหนี้ครัวเรือนสูงจะเป็นความเสี่ยงที่ต้องระวัง และตอนนี้ ธปท.ก็เข้ามากำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่ง ธอส.ถือเป็นธนาคารรัฐแห่งหนึ่งที่ต้องเป็นเครื่องมือสนับสนุนมาตรการให้แก่รัฐ จะต้องผ่อนเกณฑ์กำกับดูแล ต่างจากแบงก์รัฐอื่นหรือไม่ อย่างไร

สัญญาณตอบจากผู้ว่าการ ธปท. "วิรไท" ซึ่งได้รับคัดเลือกเข้ามาในยุครัฐบาลชุดนี้ จะออมาอย่างไร เป็นเสียงสะท้อนที่ถูกจับจ้องในเวลานี้


สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รัฐจัด ปาร์ตี้อสังหาฯ แบงก์ชาติ ว่าอย่างไร

view