สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Ageless คนไร้วัย พลิก นิช สู่ แมส

Ageless คนไร้วัย พลิก“นิช” สู่ “แมส”

โดย :

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โลกกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย รวมถึงในไทย ที่ผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้นกว่า 50% ใน 10 ปี กลายเป็น “โอกาสธุรกิจ” มัดใจสาวกสูงวัยเหล่านี้

ธุรกิจจะปรับตัวอย่างไร เมื่อผู้สูงวัยกำลังจะครองโลก !!

หัวข้อนี้ถือเป็น “แนวโน้มใหญ่” หรือ เมกะเทรนด์ ที่ระยะหลังมีการพูดถึงกันมาก ต่างกรรมต่างวาระ โดยเฉพาะในเวทีสัมมนา

ล่าสุด "อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต" ฉลองครบรอบ 125 ปีของการดำเนินธุรกิจ ได้จัดสัมมนา ”Allianz Employee Dialog" หัวข้อ “สังคมสูงวัย คนไทยเตรียมรับมืออย่างไร” เพื่อจุดประกายให้นักธุรกิจไทย “ต่อยอด” แปลงวิกฤติโลกให้กลายเป็น “โอกาส” ในการดำเนินธุรกิจอย่าง “ชาญฉลาด” ที่สำคัญ ไม่ตกยุค  

โดยข้อมูลของอิลอันซ์ อยุธยาฯ ระบว่า ในปี 2557 ประชากรทั่วโลกมีจำนวน 7,200 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,600 ล้านคน ในปี 2593 หรือ 33% ในช่วงเวลา 35 ปีจากนี้่

ทว่า..การเพิ่มขึ้นของประชากร กลับไม่สัมพันธ์กับ “อัตราการเกิด” ที่ลดลง  

โดยประเมินจากสถิติคุณแม่มีบุตรในแต่ละทวีป 

ก่อนหน้านี้ยุโรป แม่หนึ่งคนมีบุตรเฉลี่ย 2.6 คน ในเอเชีย ค่าเฉลี่ยของแม่หนึ่งคนมีบุตร 6 คน ขณะที่คาดการณ์สถิติในปี 2593 พบว่าคุณแม่หนึ่งคนจะมีบุตรลดลง ในยุโรปจาก 2.6 คน เหลือ 1.6 คน ขณะที่ในเอเชียลดลง “เกินครึ่ง” จาก 6 คน เหลือ 1.9 คน 

ฉะนั้นปัจจัยที่ส่งผลทำให้ประชากรเพิ่มขึ้น คือ “ความล้ำหน้าทางการแพทย์” ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น นั่นเอง 

ย้อนกลับปี 2493 คนมีอายุเฉลี่ยเพียง 46 ปี ล่าสุดปี 2557 อายุเฉลี่ยคนอยู่ที่ 70 ปี และในปี 2593 อัตราเฉลี่ยของคน จะมีอายุยืนยาวขึ้นเป็น 76 ปี แยกเป็นยุโรป อายุเฉลี่ย 82 ปี และเอเชีย อายุเฉลี่ย 77 ปี

ผลมาจากการเกิดน้อยลง เสียชีวิตช้าลง จึงทำให้ประชากรเพิ่มขึ้น 30% ในปี 2593

ทำให้จำนวนคนสูงวัยจากที่เป็น “คนส่วนเล็กๆ” ของสังคม เป็นคนคนส่วนใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีตามนิยามผู้สูงอายุ

ข้อมูลจากปี 2557 พบว่า คนมีอายุ 65 ปีขึ้นไปทั่วโลกมีอยู่ราว 586 ล้านคน คาดการณ์ว่าพอถึงปี 2593 จะเพิ่มขึ้นอีก “3 เท่าตัว” หรือกว่า 1,500 ล้านคน 

แยกเป็นฝั่งเอเชีย 900 ล้านคน และยุโรปราว 290 ล้านคน

ขณะที่ฐานประชากรยังเปลี่ยนไปในอนาคต  ยุโรปจากที่เคยมีประชากร 20% จะเหลือ 7% ของโลกในไม่ช้า ขณะที่ไนจีเรียจะมีประชากรแซงหน้าอเมริกา ขณะที่ประชากรในจีนจะถูกอินเดียแซงหน้าในจำนวนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เป็นต้น 

ฐานของจำนวนประชากรในแต่ละซีกโลก บ่งบอกถึง “ภูมิทัศน์ประชากรที่เปลี่ยนไป” ประกอบ ด้วย การย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้น ตลาดแรงงานเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เพราะมีกลุ่มผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น อาจจะขยายช่วงเวลาเกษียณ และการผลิตสินค้าก็เปลี่ยนแปลงไป 

เริ่มมี “สินค้าพิเศษ” ผลิตให้กับวัยเก๋ามากขึ้นจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัตร ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและ พัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center : UddC) ศึกษาแนวทางการออกแบบเมืองเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของประชากรผู้ สูงวัย ที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageless City) 

คนสังคมเมืองเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่งของโลก และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ใน 4 ของประชากรโลก

ปัจจุบันวัยทำงานผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นคนกลุ่มใหญ่ของคนในสังคม (Majority) ซึ่งในอีก 20 ปี สังคมไทยจะมีกลุ่มคนเหล่านี้ จะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปี เธอเล่า

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงกำลังจะต้องถูกเปลี่ยนจากสังคมของคนหนุ่มสาว วัยทำงานในเมืองมหานคร มาสู่สังคมผู้สูงวัย จึงต้อง “ออกแบบเมือง” เพื่อรองรับการเดินทางที่สะดวก และมีคุณภาพ มีการพัฒนายั่งยืน รวมถึงทำให้ผู้สูงวัย ยังคงมีคุณค่า หลังจากสะสมประสบการณ์และภูมิปัญญามาตลอดชีวิต

ยังมีความเป็นไปได้ว่า สังคมผู้สูงวัยจะมีมากขึ้น จนต้องขยายช่วงวัยเกษียณ ทำให้เกิดแรงงานผมสีดอกเลา มากขึ้น

สำหรับไลฟ์สไตล์ ของผู้สูงวัยพบว่าไม่ธรรมดา เพราะไม่มีใครอยากเป็นคนแก่ที่ถูกทิ้งให้อยู่กับบ้าน ผู้สูงวัยในยุคนี้โดยเฉพาะในเมือง ไม่ยอมตกเทรนด์ ใช้สมาร์ทโฟน มีกลุ่มเพื่อน นัดสังสรรค์เข้าสังคม แต่งตัวสวย ฯลฯ 

นี่เป็นความปกติใหม่ของสังคมผู้สูงวัย ที่ธุรกิจจะต้อง“ตีให้แตก”

จุดเปลี่ยนสำคัญที่บ่งบอกว่า ผู้สูงวัยคือตลาดใหญ่ คือ ยอดขายผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในญี่ปุ่น “แซงหน้า” ผ้าอ้อมเด็กไปที่เรียบร้อยโรงเรียนผู้สูงวัย

นั่นเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการออกแบบเมือง ธุรกิจ ค้าปลีก ที่พัก สังคม ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น

มาดูตลาดเมืองไทย SCB Economic Intelligence Center ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี ราว 840,000 คน หรือ สัดส่วนประมาณ 9 % ต่อประชากรทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 2543 

โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง รับสังคมผู้สูงอายุคือ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจาก ผู้สูงอายุไทยราว 38% ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ จึงคาดการณ์ว่าตลาดผู้สูงอายุจะใหญ่ขึ้น จากจำนวนผู้สูงอายุไทยที่ขยายตัว กว่า 50% ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกัน นอกจากความต้องการของผู้สูงอายุในประเทศแล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะมีความต้องการของผู้สูงอายุต่างชาติเข้ามาพำนักในไทยขยาย ตัวมากขึ้น 

โดยสถิติของ American seniours Housing Association ระบุถึงการเติบโตของห้องพักสำหรับผู้สูงอายุ ที่ทำให้คาดว่า ความต้องการของที่พำนักต่างชาติย้ายเข้ามาในไทยในระยาว จะเพิ่มมากกว่า 20% ใน 10 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังมีสถิติของนักท่องเที่ยวต่างชาติ สูงอายุมากกว่า 65 ปี เดินทางมาเที่ยวไทยเฉลี่ยปีละ 8% โดยข้อมูลจาก International Living Magazine ระบุว่า 

ไทยถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 อันดับประเทศที่มีความเหมาะสมพำนักหลังเกษียณ

---------------------------------------

เจาะตลาดสูงวัย 

ตลาดเก่า-สินค้าใหม่

นิธิมา ศิริโภคากิจ หัวหน้ากลุ่มงาน พัฒนาช่องทางการตลาด สำนักพัฒนาการค้าและธุรกิจไลฟ์สไตล์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตลาดสินค้าเพื่อผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเป็นตลาดใหญ่  แทนแทนสินค้าไทยในตลาดเก่า หลังสูญเสียความสามารถการแข่งขันทางด้านราคา เพราะมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างจีนและเวียดนามที่ผลิตสินค้าถูกกว่า ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรพัฒนากลยุทธ์การค้าในช่องทางใหม่ ผ่าน “กลุ่มผู้สูงอายุ” ที่เป็นตลาดนิชมาร์เก็ต (Niche) ที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง เฉพาะตลาดประเทศพัฒนาแล้ว อย่าง ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

“การเจาะตลาดผู้สูงอายุถือเป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะเข้ามาแทนที่สินค้าเดิม ที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งเสื้อผ้า รองเท้า จึงต้องดึงตลาดกลับคืนมาด้วยการนำเสนอสินค้าใหม่ ช่องทางใหม่ในตลาดเก่า เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ยึดมูลค่าการส่งออกรักษาตลาดเดิมไว้ให้ได้"

แผนการเจาะตลาดผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะเน้นไปที่ ตลาดญี่ปุ่น ผ่านโครงการ 60+project showcase at BIG+BIH (งานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน) ปี 2558 ที่รวบรวมสินค้า 18 รายการที่เกี่ยวข้องกับกับตลาดผู้สูงอายุได้มาจัดแสดง

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้าที่ยังอบรมผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ โดยนำผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น มาให้คำแนะนำวิธีการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้สูงวัยใน ญี่ปุ่นเฉพาะ โดยแผนการพัฒนาตลาดเป็นแผนระยะยาว 3-5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2554 คาดว่า ปีต่อไปจะหันไปรุกพัฒนาตลาดผู้สูงวัยในสหภาพยุโรป 

นิธิมา ระบุว่า ตลาดผู้สูงวัยในญี่ปุ่น เป็นโอกาสที่น่าลิ้มลอง เพราะเป็นเค้กก้อนใหญ่ จากจำนวนคนญี่ปุ่นเป็นมีสัดส่วนผู้สูงวัยถึง 1 ใน 4 ส่วนของประชากรทั้งหมด โดยช่องทางการเข้าตลาด ก็ต้องผ่านผู้นำเข้า ห้างสรรพสินค้า หรือค้าปลีกไม่สามารถนำเข้าสินค้าได้ทันที ต้องได้รับใบอนุญาติ 

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงดึงผู้ช่วยชาญจากญี่ปุ่นเข้ามาเวิร์คช้อปแนะนำผู้ประกอบการไทยในช่วงเวลา 1ปีก่อนบุกตลาดสูงวัยในญี่ปุ่นอย่างจริงจัง

นิธิมา ยังบอกว่าด้วย สิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาส คือ มองว่าสินค้าผู้สูงวัยเป็นตลาดเฉพาะที่เล็ก ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะตลาดนี้ว่าไปแล้วเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ผู้ประกอบการไทยมักมองข้าม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพลาดไม่ได้ก่อนเจาะตลาด คือ “เข้าใจพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค”  

โดยตลาดผู้สูงอายุแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 

กลุ่มที่พึงพาตัวเองได้ ไม่แก่มาก (Active Senior) วัย 60-75 ปี เป็นวัยที่ยังเดินคล่องตัว ไม่มีปัญหาสุขภาพ ชอบแต่งตัวไม่แก่ ใช้ชีวิตสนุกสนาน มีอิสระ ไม่ต้องทำงาน มีเงิน สินค้าตอบสนองตลาดกลุ่มนี้ยังคงเป็นสินค้าทั่วไป เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดของสินค้าจากตลาดทั่วไปเพียงเล็กน้อย อาทิ เสื้อสเวตเตอร์ ก็ทำกระดุมให้เม็ดใหญ่ขึ้น จับถนัดมือ หรือชุดโยคะ ที่มีโครงสร้างใหญ่ขึ้น เป็นต้น

ผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งคือ In Active Senior กลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ส่วน ใหญ่เริ่มเดินไม่คล่อง ช่วยเหลือตัวเองได้เชื่องช้า เริ่มมีปัญหาสุขภาพ จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือในการเคลื่อนไหว สินค้าที่จะตอบสนอง จึงต้องมีการพัฒนาด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยี ต้องมีการคิดค้นวิจัยและพัฒนา(R&D) ซึ่งเมืองไทยยังมีกลุ่มสินค้านี้ไม่มากนัก ที่โดดเด่นก็มีเพียง SCG และหุ่นยนต์ดินสอ ที่ส่งออกไปขายในญี่ปุ่น และสวีเดน 

“กรมฯเล็งเป้าหมายพาผู้ประกอบการไปเจาะตลาดผู้สูงอายุกลุ่มแรกก่อน เพราะมีเงิน และสินค้ายังไม่ต้องลงทุนเยอะเพียงแต่คิด พัฒนาปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เหมาะกับสินค้าไทยในยุคปัจจุบัน เพราะไทยยังไม่มีสินค้านวัตกรรมล้ำๆ มากนัก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมพร้อมพัฒนาสินค้ารองรับสินค้ากลุ่มที่ 2 เพราะในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าผู้บริโภคกลุ่มแรกก็เข้าสู่กลุ่มที่ 2”

----------------------------------------

หุ่นยนต์พันธุ์ไทย

นวัตกรรม “เพื่อนผู้สูงวัย”

เฉลิมพล ปุณโณทก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด ผู้ผลิตหุ่นยนต์นวัตกรรมช่วยเหลือผู้สูงวัย ของไทยที่ส่งออกไป ยังญี่ปุ่นและสวีเดน ถือเป็นหนึ่งกรณีศึกษาที่แปลงวิกฤติของสังคมผู้สูงวัยมาสร้างโอกาสให้กับ ธุรกิจ 

ระดมผู้มีพลังและความสามารถ พลิกจากหุ่นยนต์รบในมหาวิทยาลัย ร่วมกันคิดค้นออกแบบนวัตกรรม “หุ่นยนต์เพื่อผู้สูงวัย” ผลิตเพื่อขายในเชิงพาณิชย์

เฉลิมพล ผู้บริหารธุรกิจหุ่นยนต์วัย 45 ปี เริ่มต้นธุรกิจซอฟท์แวร์ในวัย 26 ปี เมื่อธุรกิจเริ่มมีกำไร ก็นำกำไรไปลงทุนพัฒนาและวิจัยสินค้านวัตกรรมล้ำๆ

โดยการผลิตหุ่นยนต์ เขาและทีมงานให้เวลาวิจัยและพัฒนา นานกว่า 6 ปี ใช้เงินลงทุนเกือบ 100 ล้านบาท ซึ่งสินค้าถูกส่งไปทดสอบในสถานดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นและในไทย 

จนกระทั่งเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาล็อตแรก ส่งมอบในเดือน ธ.ค. ปีนี้ กว่า 1,000 ตัว

“passion ของผม คือการสร้างนวัตกรรมที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา จึงรวบรวมคนที่ไปประกวดหุ่นยนต์ชนะเลิศให้มาสานต่อทำหุ่นยนต์เพื่อผู้สูง อายุ ไม่อยากให้พวกเขาเมื่อเรียนจบแล้วไปเปิดร้านกาแฟ หรือไปเป็นอาจารย์ปั้นแชมเปี้ยนรุ่นต่อไป แต่ควรจะนำความคิดมาต่อยอดสร้างสรรค์ทำรายได้ในเชิงธุรกิจได้ด้วย”

เบื้องหลังความสำเร็จมาจากการทำการบ้าน สำรวจความต้องการของตลาด ลงทุนพาวิศวกรในทีมไปดูงานเพื่อบิวท์อารมณ์ความสงสัย เมื่อคนสูงวัยต้องช่วยเหลือตัวเองลำบาก และอยู่ด้วยความเหงา

เพราะเชื่อว่า นักการตลาดต้องคิดค้นและประดิษฐ์ในสิ่งที่ตลาดต้องการ (Need) เพื่อไปรับโจทย์มาทำการบ้าน ไม่ใช่ศิลปินอยากสร้างอะไรก็สร้าง

ภาพสะเทือนใจในบ้านพักคนชราหลากหลายมุมทั้งในญี่ปุ่น และในไทย จึงได้เห็น คนสูงวัยกินโจ๊กหก รอคิวเข้าห้องน้ำ 

จึงเป็นที่มาของหุ่นยนต์สายพันธุ์ไทย ที่ชื่อ “ดินสอ”

หุ่นยนต์มีกลไกคล้ายกับสมาร์ทโฟน ที่เปิดออกกำลังกาย โต้ตอบพูดคุยกับลูกหลาน ฟังธรรมะได้ โทรออกหาหมอได้ ทำให้ผู้สูงวัยอยู่บ้านลำพัง แต่ก็มีความสุข ไม่เหงา เริ่มมีออเดอร์ไปในญี่ปุ่น สวีเดน และตามโรงพยาบาล องค์กร ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย ที่สำคัญเมื่อลูกหลานโทรมาสามารถแพนกล้องตรวจดูผู้สูงวัยได้

เขามองว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมดูแลผู้สูงอายุเป็นโอกาสจากปัญหาวิกฤติแรงงานและ บุคลากรทางการแพทย์ในไทยเริ่มลดลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากไทยเติบโตทางด้านการเป็นศูนย์กลางด้านรักษาพยาบาล(Medical Hub)ระดับโลก ต่างชาติเข้ามาใช้บริการจำนวนมากแต่มีการส่งออกบุคลากรไปดูแลคนไข้ในต่าง ประเทศ

นั่นช่องว่างโอกาสให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ดูแลผู้สูงอายุ

เบื้องหลังความสำเร็จของการได้มาของนวัตกรรมชั้นสูงสัญชาติไทย เขาพูดได้เต็มปากว่า การคิดออกแบบหุ่นยนต์เพื่อผู้สูงวัยรูปแบบนี้เป็นสิทธิบัตรมาจากความคิดของ คนไทย ที่เกิดจากการทำงานเป็นทีม ตั้งแต่วิศวกรด้านเครื่องมือ และการออกแบบ อิเล็คทรอนิคส์ กราฟฟิกดีไซน์ รวมถึงมือขายนักการตลาด

ความสำเร็จเกิดจากการทำงานเป็นทีม คิดร่วมกัน

“จะคิดการใหญ่ทำอินโนเวชั่นชั้นสูงได้ต้องเก่งเป็นทีม เริ่มต้นจึงต้องรวบรวมคนเก่งมาให้ได้ แล้วทำงานกันเป็นทีม ภายใต้วิสัยทัศน์เข้าใจว่าผู้บริโภคต้องการอะไรจากการไปสัมผัสจริง คนเก่งบ้านเราเยอะ ขาดการทำงานบริหารจัดการเชิงลึก จึงมักขาดการต่อยอดสินค้านวัตกรรมเชิงพาณิชย์"


สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Ageless คนไร้วัย พลิกนิช สู่ แมส

view