สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลมหายใจค้าปลีก เครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่น

จากประชาชาติธุรกิจ

วิรัตน์ แสงทองคำ viratt.worldpress.com

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกระดับโลกกับสังคมไทยครึ่งศตวรรษ ให้ภาพเชื่อมโยงบริบททางเศรษฐกิจในหลายมิติ

คลื่นลูกแรก

ปี 2507-- Daimaru แห่งญี่ปุ่น เป็นกระแสคลื่นลูกแรก ถือว่าเป็น "หัวขบวน" ของธุรกิจค้าปลีกไทยในฐานะผู้นำโมเดลห้างสรรพสินค้า (Department Store) และเป็นห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นแห่งแรก เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตปัจเจกไทยยุคใหม่

เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับกระบวนการธุรกิจญี่ปุ่นเข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรกจากเครือข่ายบริษัทใหญ่ ที่เรียกว่า Trading Company หรือ Sogoshosha โดย Marubeni เปิดสำนักงานในเมืองไทยเป็นรายแรก ๆ ในปี 2500 ตามมาด้วย Mitsui, Mitsubishi, Nissho-Iwai, Nomura Trading ในปี 2502 และ Sumitomo ในปี 2503 เป็นจุดตั้งต้นของความพยายามแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ ในภาพกว้างเป็นปรากฏการณ์ตอบสนอง กระแสการลงทุนจากโลกตะวันตกในยุคสงครามเวียดนาม

ด้วยยุทธศาสตร์การร่วมทุน (Joint Venture) กับผู้ประกอบการไทยรายใหม่ ๆ ในแง่นี้ธุรกิจญี่ปุ่นจึงมีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ เป็นโมเดลเฉพาะที่น่าสนใจมากกว่ากรณีการเข้ามาของธุรกิจตะวันตก เริ่มจากอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น สิ่งทอ น้ำตาล และเคมีภัณฑ์ จากนั้นจึงเป็นการมาของสินค้าญี่ปุ่นที่เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนไทย ได้แก่ รถยนต์ Nissan (เข้ามาในปี 2505) Toyota (2506) และ Honda (2507) เครื่องไฟฟ้าทั้ง National ปัจจุบันคือ Panasonic (2503) Hitachi (2511) และ Toshiba (2512) สินค้าคอนซูเมอร์ ผลิตผงซักฟอก Lion (2510) และชุดชั้นในสตรี Wacoal (2513)

Daimaru เป็นห้างเก่าแก่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ก่อตั้งที่เมือง Nagoya เมื่อ 3 ศตวรรษที่แล้ว ในเวลาช่วงหนึ่งก่อนขยายสาขามายังเมืองไทย ถือเป็นเครือข่ายห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

มิใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับ Daimaru ต้องเผชิญปัญหาทั้งกระแสต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นจากนักศึกษาปัญญาชนในช่วงสังคมไทยสัมผัสประชาธิปไตยครั้งแรกช่วงสั้น ๆ ในปี 2515-16 ต่อเนื่องด้วยวิกฤตการณ์น้ำมันเริ่มต้นในปี 2517 ที่สำคัญคือการแข่งขันกับธุรกิจห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นอย่างเซ็นทรัล แม้ว่ามีความพยายามพอสมควร ต่อมาได้เปิดสาขา 2 ที่พระโขนง (ในปี 2523)

ในที่สุดได้ Daimaru ยกธงขาวไปในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของไทย เป็นช่วงเดียวกับที่ Daimaru ถอนตัวออกจากหลายประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง ทั้งฮ่องกง (ปิดตัวในปี 2541) ออสเตรเลีย (2545) และสิงคโปร์ (2546)

คลื่นลูกที่ 2

กระแสจากญี่ปุ่นอีกระลอกหนึ่งมาถึงเครือข่ายห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น ทั้ง Tokyu, Sogo, Jusco มาเปิดธุรกิจพร้อม ๆ กันในปี 2528 และอีก 5 ปีต่อมา Yaohan จึงตามมาอีกราย

Tokyu เตรียมตัวมานาน ต้องเผชิญปัญหาพอสมควรอันเนื่องมาจากที่ตั้ง-ศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ แม้ว่าอยู่ทำเลที่ดีมาก ๆ แต่เผชิญปัญหาต่าง ๆ มากมาย กว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จใช้เวลานานทีเดียวส่วน Sogo อยู่ที่อัมรินทร์ พลาซ่า ทำเลที่ดีมากเช่นกัน ถือว่าทั้ง Tokyu และ Sogo อยู่ในโมเดล Department Store เข้ามาเปิดพื้นที่ในศูนย์การค้า (Shopping Mall) ซึ่งเป็นโมเดลค้าปลีกใหม่ที่กำลังเปิดตัวกันอย่างคึกคักในย่านใจกลางกรุงเทพฯเวลานั้น

ส่วน Yaohan เปิดตัวในศูนย์การค้าพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯที่ฟอร์จูนทาวน์ โครงการศูนย์ขนาดใหญ่ริมถนนรัชดาภิเษกของเครือซีพี เปิดตัวในปี 2534 อาจเรียกในปัจจุบันว่า Mixed Use Complex ว่าไปแล้วตามโมเดลเซ็นทรัลลาดพร้าวและมาบุญครอง ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นไม่นานประกอบด้วย โรงแรม, อาคารสำนักงานที่รู้จักกันในชื่อ ซี.พี. ทาวเวอร์ 2, ส่วนพลาซ่าและห้างสรรพสินค้า Yaohan

ส่วน Jusco เปิดตัวอย่างอิสระในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯใกล้เคียงกับ Yaohan แม้ว่าขณะนั้นบางคนมองว่าเป็นภาวะเสี่ยง แต่อย่างไรก็ตาม เป็นไปตามกระแสผู้นำธุรกิจค้าปลีกไทยอย่างเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ กำลังเบนเข็มยึดพื้นที่ชานเมืองเช่นกัน

ภาพที่ใหญ่กว่านั้น ปรากฏการณ์ของกระแสคลื่นลูกที่ 2 มาจากแรงบีบคั้นภายในของธุรกิจญี่ปุ่น ที่ประจวบเหมาะโอกาสธุรกิจที่เปิดกว้างมากขึ้นนอกญี่ปุ่น

ธุรกิจญี่ปุ่นในเวลานั้น ถูกผลักดันอย่างแรงให้แสวงหาโอกาสนอกประเทศ มาจากต้นทุนธุรกิจในประเทศที่สูงขึ้น กรณีค้าปลีกทั้งราคาที่ดินที่พุ่งติดจรวด กฎหมายคุ้มครองร้านค้าย่อยที่เข้มงวด โดยเฉพาะเงินเยนที่แข็งค่า การส่งออกสินค้าญี่ปุ่นจากประเทศแม่ มีปัญหาและอุปสรรคอย่างมาก ขณะเดียวกัน ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่กำลังเติบโต คือพื้นที่ใหม่แห่งโอกาสใหม่อย่างแท้จริง

"ในอีกราว 3 ทศวรรษต่อมา มีการผนึกกำลังและโฟกัสไปสู่กระบวนการหลอมรวม ควบคุมการบริหารจัดการมากขึ้น ทั้งนี้ มาจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเองในเรื่องค่าเงินเยนแข็งค่ามากเกินไป จำเป็นต้องย้ายการลงทุนที่มีเทคโนโลยีสูงมากขึ้นสู่ต่างประเทศ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยเผชิญวิกฤตการณ์การเงินครั้งแรก ๆ ในยุคสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีคลัง ที่เป็น JAPAN CONNECTION คนสำคัญ

กิจการร่วมทุนบางรายมีปัญหา ธุรกิจญี่ปุ่นจึงถือโอกาสเข้าครอบงำการบริหารกิจการ อาทิ Sony ในปี 2531 และมีการลงทุนขนาดใหญ่มากขึ้น มีความพยายามแสวงหาพันธมิตรรายใหญ่และทรงอิทธิพลมากขึ้น กรณีร่วมทุนอย่างขนานใหญ่กับปูนซิเมนต์ไทย" นั่นคือสถานการณ์เชื่อมโยงมายังประเทศไทยในเวลานั้น ได้สร้างโอกาสให้กับธุรกิจญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น (ตอนหนึ่งจากข้อเขียนของผมในชุด JAPAN CONNECTION ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจช่วงปี 2556) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานั้นรถยนต์และเครื่องไฟฟ้าแบรนด์เนมญี่ปุ่น ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดในประเทศไทยอย่างเบ็ดเสร็จ

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ในภาพกว้างจะถือเป็นโอกาสที่ดีเพียงใด แต่ในความเป็นไปธุรกิจค้าปลีกญี่ปุ่นต้องเผชิญแรงเสียดทานอย่างมาก

มีเพียง Tokyu เท่านั้นที่พยุงเอาตัวรอดอย่างเงียบ ๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ทั้งธุรกิจค้าปลีกไทย และตัวศูนย์การค้ามาบุญครองเอง ศูนย์การค้ามาบุญครองยุคใหม่ ภายใต้การบริหารโดยกลุ่มธนชาต ถือเป็นพันธมิตรสำคัญกับกลุ่มสยามพิวรรธน์ ซึ่งสายสัมพันธ์เก่าแก่กับธุรกิจญี่ปุ่นจากยุคสมหมาย ฮุนตระกูลในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปถึง 3 ทศวรรษ Tokyu ได้เปิดสาขาแห่งที่ 2 ที่พาราไดซ์ พาร์คเมื่อกลางปี 2558 ท่ามกลางกระแสญี่ปุ่นหวนกลับมาอีกครั้งในสังคมไทย ส่วน Jusco และ Yaohan เผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างสับสนพอสมควร

Jusco แห่งญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อประมาณ 40 ปี ในฐานะ Hypermarket แห่งญี่ปุ่นในช่วงเวลาเดียวกันที่มาเมืองไทย ได้เปิดเครือข่ายในมาเลเซียและฮ่องกงด้วย ขณะที่ Yaohan ในจังหวะเดียวกันนั้น ขยายเครือข่ายอย่างครึกโครมมายังฮ่องกง จีนแผ่นดินใหญ่ มาเก๊า มาเลเซีย และสิงคโปร์ ถือว่า Yaohan เป็นธุรกิจค้าปลีกญี่ปุ่นที่มีแผนการเชิงรุกเป็นพิเศษ จึงไม่แปลกใจนักที่ได้รับผลจากวิกฤตการณ์ "ต้มยำกุ้ง" ซึ่งส่งผลสะเทือนทั้งเอเชีย ต้องเผชิญปัญหาทางการเงิน ในที่สุดได้ขายกิจการให้กับ Aeon ในเวลาใกล้เคียงกัน Jusco ได้เปลี่ยนเป็น Aeon

จากนั้นบริษัทสยามจัสโก้ (ก่อตั้งในปี 2527) ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อิออน (ไทยแลนด์) ในปี 2550 และแล้ว MaxValu Supermarket เปิดตัวปีเดียวกันนั้น จากจุดตั้งต้นในทำเลเดิมของ Jusco ปัจจุบัน MaxValu ถือเป็นเครือข่ายค้าปลีกใหม่ของญี่ปุ่นที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว


สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลมหายใจค้าปลีก เครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่น

view