สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สัญญาณบวก ทูตสหรัฐ คนใหม่

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ preechayana@hotmail.co.uk

ในที่สุด นายกลิน ที เดวีส์ ได้เดินทางถึงกรุงเทพฯเพื่อเริ่มปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย นับเป็นทูตอเมริกันคนที่ 43 อย่างเป็นทางการ

ทำไม ? และไฉน ? ตำแหน่งทูตอเมริกันคนใหม่จึงกลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันก่อนหน้านี้ในสังคมเมืองไทย เมื่อเปรียบเทียบกับทูตอเมริกันคนก่อน ๆ ในอดีต

ย้อนกลับไปดูสถานการณ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงและยืดเยื้อมาตลอด 1 ทศวรรษ จนนำไปสู่การรัฐประหารถึง 2 ครั้งในปี 2549 และปี 2557 กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เปิดโอกาสให้ ทูตคริสตี้ เคนนีย์ แสดงบทบาทในฐานะเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย อย่างขยันขันแข็งจนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า "ล้ำเส้น" และ "ฝักใฝ่" ถือหางเลือกข้างทางการเมืองอย่างออกหน้าออกตา กลายเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทย

ดังนั้น ด้วยมรดกตกทอดที่ทูตคริสตี้ทิ้งให้เป็น "ภาระ" อย่างที่ไม่เคยมีทูตอเมริกันคนไหนทำได้เทียบเท่า จึงทำให้สังคมการเมืองไทยจับตามอง ทูตอเมริกันคนใหม่ ในวงกว้างมากเป็นพิเศษ และยังมีการตีความผิด ๆ ถูก ๆ ตามพื้นฐานความเชื่อทางการเมืองของแต่ละคน

หากนับช่วงเวลาจริงบนหน้าสื่อแล้ว สถานทูตสหรัฐในกรุงเทพฯไม่มีเอกอัครราชทูตประจำการเนิ่นนานถึง 10 เดือนครึ่ง เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าถือเป็นช่วงระยะเวลาที่ว่างเว้น "เบอร์หนึ่ง" ประจำสถานทูตสหรัฐยาวนานที่สุดในรอบหลายทศวรรษ จนมีการตีความว่า "ผิดปกติ"

หากพิจารณารายละเอียดตามเงื่อนไขเวลาแล้ว อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการพิจารณาทูตอเมริกันคนใหม่ เริ่มต้นขึ้นจริง ๆ ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ของปีนี้ (1 สัปดาห์หลังจากที่เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐคนใหม่ เดินทางไปรับตำแหน่งที่กรุงวอชิงตัน) เมื่อรัฐบาลสหรัฐส่งชื่อ "Glyn T. Davies" ให้ทางการไทยพิจารณาก่อนตามธรรมเนียมปฏิบัติว่าจะเห็นชอบหรือขัดข้อง ฉะนั้น หากนับระยะเวลาจากวันที่ทูตคริสตี้ เคนนีย์ พ้นจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ (6 พฤศจิกายน 2557) จนถึงวันที่มีการเสนอชื่อทูตคนใหม่อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกสุด จะเห็นว่าทิ้งระยะห่างกันเพียงแค่ 3 เดือนครึ่งเท่านั้น แทบไม่ได้บ่งบอกความผิดปกติใด ๆ ในความสัมพันธ์ ทั้งนี้ การเสนอชื่ออย่างไม่เป็นทางการอาจเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ก็เป็นได้ หากว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่มีเรื่องการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกใหม่ 33 คน

หลังจากนั้น รัฐบาลไทยจึงได้พิจารณาและแจ้งให้รัฐบาลสหรัฐทราบผล ในทันทีว่าไม่ขัดข้องกับชื่อที่เสนอมา โดยใช้เวลานานกว่า 5 สัปดาห์ก่อนมีคำตอบออกมา (ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่สามารถตอบกลับได้เร็วกว่านี้) สะท้อนให้เห็นว่าอย่างน้อยที่สุดรัฐบาลไทยไม่ได้เร่งรีบ เพื่อให้ทางการสหรัฐพิจารณาตรวจสอบให้มั่นใจที่สุด ว่าทูตคนใหม่จะไม่สร้างปัญหาเหมือนทูตคนเก่า และเมื่อได้รับคำตอบจากทางการไทยแล้ว รัฐบาลสหรัฐใช้เวลาอย่างรวดเร็วเพียง 2 สัปดาห์ในการเริ่มต้นกระบวนการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการ โดยประธานาธิบดี บารัก โอบามา ถือฤกษ์ 13 เมษายน 2558 เป็นวันประกาศชื่อ "กลิน ที เดวีส์" เป็นว่าที่ทูตสหรัฐคนใหม่ ให้สาธารณชนไทยได้รับทราบเป็นครั้งแรก เป็นการยุติความคลุมเครือที่มีมาตลอดกว่า 6 เดือนนับแต่ทูตคริสตี้พ้นตำแหน่งไป

เมื่อได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีแล้ว ขั้นตอนด่านหินต่อมา คือกระบวนการพิจารณาอนุมัติโดยวุฒิสภา ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด สามารถยืดเยื้อกินเวลานานเป็นปี ๆ เหมือนกรณีของทูตสหรัฐประจำประเทศแอลเบเนีย ที่ใช้เวลารอนานถึง 490 วัน นับจากวันที่ได้รับการเสนอชื่อ หรือ 476 วันในกรณีของทูตสหรัฐประจำประเทศติมอร์-เลสเต แต่ในบางกรณีที่จำเป็นหรือมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงต่อสหรัฐอย่างยิ่งยวด อย่างกรณีของอียิปต์ใช้เวลาเพียง 48 วันเท่านั้น

ในกรณีของทูตกลิน เดวีส์ ต้องถือว่าโชคดีเพราะใช้เวลาในกระบวนการพิจารณาอนุมัติเพียง 114 วัน ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลไทยไม่ได้อยู่ในฐานะ "ปกติ" หรือมาจากการเลือกตั้ง (ตามหลักการของสหรัฐ) สะท้อนให้เห็นว่าอย่างน้อยที่สุดรัฐบาลสหรัฐและวุฒิสภา ก็ยังเห็นความสำคัญของประเทศไทยอยู่ไม่น้อย จึงไม่ต้องการถ่วงรั้งจนมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลพลเรือน

หากพิจารณาถึงการเดินทางมารับตำแหน่งของเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยอย่างเป็นทางการ มีสาระสำคัญที่ควรกล่าวถึง 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก ความลงตัวของเงื่อนไขเวลา เชื่อกันว่าการเดินทางมาเริ่มต้นหน้าที่ของทูตสหรัฐคนใหม่ในวันที่ 23 กันยายน และการเดินทางไปสหรัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 24 กันยายน น่าจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเกินกว่าจะเป็นความบังเอิญใด ๆ

มีมูลเหตุให้เชื่อได้ว่าภายหลังจากที่ได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว รัฐบาลสหรัฐต้องการให้ทูตคนใหม่เดินทามางรับตำแหน่งภายในเดือนกันยายนให้ได้ อย่างน้อยที่สุดเพื่อการอนุมัติวีซ่าให้ผู้นำไทยสามารถเดินทางไปสหรัฐร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่นิวยอร์กได้สมความปรารถนา สามารถตีความได้ว่านี่คือของขวัญล้ำค่าชิ้นแรกที่ทูตสหรัฐคนใหม่มอบให้แก่นายกรัฐมนตรีไทย ถือเป็นการส่งสัญญาณบวกที่สร้างความประทับใจระหว่างกัน เปิดทางไปสู่บรรยากาศของการประสานงานโดยไม่มีข้อติดขัดในอนาคต

ประเด็นที่สอง คือเรื่องคุณสมบัติ ความเหมาะสม ในฐานะทูตสหรัฐคนใหม่ ว่ากันว่ารัฐบาลสหรัฐกังวลกับสภาพความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ณ ปัจจุบันที่มีช่องว่างห่างเหินจนถึงระดับตกต่ำเย็นชาที่สุดในรอบหลายทศวรรษ (The Diplomat, 26 Sept 2015) จนเป็นเหตุผลักดันให้ไทยต้องปรับเปลี่ยนนโยบายไปผูกมิตรกับจีนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทูตคริสตี้ถูกมองว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐจึงตั้งใจเลือกทูตคนใหม่ที่จะไม่สร้างปัญหาเหมือนคนเดิม ซึ่งทูตกลิน เดวีส์ เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่จะมาทำหน้าที่ "ประสาน" และ "ซ่อมแซม" ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลงานของทูตคนเก่า

คุณสมบัติ บุคลิกของกลิน ที เดวีส์ จุดเด่นที่มีเสน่ห์มากคือ "รอยยิ้ม" ที่ติดใบหน้าอยู่เป็นนิตย์ จนดูเหมาะสมลงตัวมากที่มาดำรงตำแหน่ง ณ สยามเมืองยิ้มแห่งนี้ นอกจากนี้ ท่าทาง "การไหว้" ที่นอบน้อมเหมือนคนไทยจึงเป็นใบเบิกทางที่จะสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรก ๆ ที่มาถึงเมืองไทย ดังนั้น ภาพประทับใจตั้งแต่วันแรก ๆ จึงถูกเผยแพร่ไปสู่สังคมไทยด้วยเจตนาเพื่อสื่อสารให้คนไทยในวงกว้างได้เชื่อมั่นว่าทูตสหรัฐคนใหม่ไม่เหมือนทูตคนเก่าอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ทูตคนใหม่ไม่ได้ละเลยในสิ่งดีงามที่ทูตคนเก่าได้ยึดถือปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงหัวใจของคนไทย

ในคลิปวิดีโอแนะนำตัวเองก่อนเดินทางมาประเทศไทย ทูตกลิน เดวีส์ กล่าวคำว่า "สวัสดี" พร้อมไหว้ตามธรรมเนียมไทยแล้วยังได้พูดถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ผูกพันกันมานานกว่า 9 ชั่วอายุคน แทนที่จะใช้คำว่า 182 ปี ที่สำคัญที่สุดคือการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา โดยทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตลอดพระชนมชีพ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แข็งแกร่ง ถือเป็น "ซอฟต์แลนดิ้ง" ที่ทำให้การเดินทางมารับตำแหน่งในไทยและการปฏิบัติหน้าที่ราบรื่นที่สุด

และเมื่อกลิน เดวีส์ เดินทางถึงประเทศไทยเริ่มต้นตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐคนที่ 43 อย่างเป็นทางการ ได้ยึดหลักปรับตัวให้สอดคล้องกับสังคมไทย แม้กระทั่งการสักการะศาลพระภูมิในสถานทูตด้วยธรรมเนียมแบบไทย พร้อมจุดธูปและดอกไม้บูชา ปรากฏเป็นภาพเผยแพร่ไปทั่ว ชนิดทำให้คนไทยเกิดความสงสัยที่เห็นทูตฝรั่งไหว้เจ้าที่

อย่างไรก็ดี คุณสมบัติเบื้องหลังความเป็นมาของกลิน เดวีส์ เป็นประเด็นที่มีการวิจารณ์ (ในแง่ลบ) ค่อนข้างมาก ด้านหนึ่งเขาถูกมองว่าเป็น "ตัวอันตราย" เนื่องจากประสบการณ์ในอดีตโดยเฉพาะบทบาทล่าสุดในฐานะทูตสหรัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ แต่อีกด้านหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้ามคือ ภารกิจหลักของทูตกลิน เดวีส์ ไม่ใช่ "เหยี่ยว" เพื่อขยายความขัดแย้งหรือสร้างความแตกหักกับเกาหลีเหนือ รวมทั้งที่อิหร่าน

แต่แท้จริงแล้วมีลักษณะของการเน้นแสวงหาความร่วมมือที่จะดึงเกาหลีเหนือและอิหร่านมาร่วมเจรจาพูดคุย เพื่อหลีกเลี่ยงเงื่อนไขของการเผชิญหน้าหรือสงครามใด ๆ


ดังนั้น หากจะมองเพียงพื้นฐานการศึกษาของกลิน เดวีส์ ที่ผ่านการอบรมระดับปริญญาโท ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ โดยพิจารณาจากชื่อ "วิทยาลัยการสงคราม" (Nation War College) มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ (The National Defense University) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

แล้วมาสรุปว่าเขาเป็นพวก "หัวเหยี่ยว" ที่ชื่นชอบและพร้อมสร้างเงื่อนไขก่อสงครามนั้น คงไม่ต่างกับการรีบปรามาสคนที่จบการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ ว่าเป็นพวกหัวเก่าล้าสมัย ซึ่งอาจเป็นการด่วนสรุปที่ผิดพลาดจนอาจเกิดความเสียหายได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สัญญาณบวก ทูตสหรัฐคนใหม่

view