สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มหกรรมเพิ่มภาษี โปะรายได้ปี 59

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

เริ่มต้นปีงบประมาณ 2559 ได้ไม่ถึง 1 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาสั่งการให้กระทรวงการคลังศึกษาหาวิธีการเก็บรายได้ของประเทศให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการดูแลประชาชนและการเร่งการลงทุนของประเทศ

ขณะเดียวกัน การจัดเก็บรายได้ของประเทศกลับสวนทางกันจากภาวะเศรษฐกิจชะลอ ทำให้การเก็บภาษีหลายๆ ตัวได้ต่ำกว่าเป้า

ความเป็นห่วงของนายกฯ ส่วนหนึ่งมาจากการปิดหีบงบประมาณ 2558 ปรากฏว่ารัฐบาลเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าถึง 1.17 แสนล้านบาท ในส่วนของกรมสรรพากรถึงกว่า 2.5 แสนล้านบาท

ที่สำคัญการเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ซึ่งเป็นกรมหลักในการเก็บรายได้เข้าประเทศมีสัดส่วนถึง 80% ของการเก็บรายได้ทั้งหมดของประเทศ แต่เก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายมา 4 ปี ต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 กรมสรรพากรเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 8,600 ล้านบาท งบประมาณ 2556 ต่ำกว่าเป้าหมาย 9,200 ล้านบาท งบประมาณ 2557 ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.6 แสนล้านบาท และล่าสุดปี 2558 ต่ำกว่าเป้าหมายที่สุดของการเก็บรายได้ของกรมสรรพากร 2.5 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การเก็บรายได้ของปีงบประมาณ 2559 ก็เริ่มส่อเค้าไม่ดีตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเดิมการประเมินการจัดเก็บรายได้มาจากประมาณการเศรษฐกิจว่าจะขยายตัวได้ 3.7-4.7% แต่ล่าสุดกระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจปี 2559 จะโตได้ 3.8% ซึ่งต่ำกว่าที่ฐานการประมาณการรายได้เดิม โดยจะส่งผลต่อการเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2559 ให้ต่ำกว่าเป้าหมายโดยปริยาย

ในส่วนของการเก็บภาษีของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2559 มีเป้าหมายการเก็บภาษี 1.79 ล้านล้านบาท แต่จากมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนของประเทศ จะกระทบกับการเก็บภาษีของกรมสรรพากรหลายหมื่นล้านบาทที่ไม่ได้มีการประเมินไว้ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยังได้วางแผนการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 ถึง 2 แสนล้านบาท จากยอดกู้เพื่อชดเชยขาดดุลทั้งหมด 3.9 แสนล้านบาท หรือกู้มากกว่า 50% ของยอดที่ขอขาดดุลไว้ สาเหตุสำคัญเพราะต้องการตุนเงินไว้ใช้จ่ายในช่วงแรกของปีงบประมาณที่คาดว่าจะเก็บรายได้เข้ามาได้น้อย

ภาวะดังกล่าวทำให้รัฐบาลนั่งไม่ติด หากไม่เตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ การเก็บรายได้ของประเทศจะมีปัญหามาก ซึ่งจะกระทบการใช้จ่ายและการลงทุนของประเทศ ที่สำคัญกระทบความเชื่อมั่นการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล

โดยเป้าใหญ่ของการเพิ่มการเก็บรายได้ของประเทศยังอยู่ที่กรมสรรพากรที่จะมีการขยายฐานภาษีให้มากขึ้น รวมถึงการตรวจเข้มผู้เสียภาษีและการขอคืนภาษีของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เพื่อให้เก็บรายได้ของประเทศเพิ่มมากขึ้น

แม้แต่ที่ปรึกษาภาษีและบัญชียักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท ไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส หรือ PwC ยังออกโรงเตือนผู้ประกอบการให้รับมือกับการถูกรีดภาษีจากกรมภาษีต่างๆ ของกระทรวงการคลัง เนื่องจากเชื่อว่า กรมภาษีต่างๆ ของกระทรวงการคลังจะตรวจสอบการเสียภาษีอย่างเข้มข้นขึ้น รวมถึงการขอคืนภาษีจะต้องใช้เวลานานกว่าเดิม โดย PwC ได้เตือนผู้ประกอบการให้ตรวจสอบสถานะทางภาษีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียภาษีไม่ถูกต้อง จนถูกกรมสรรพากรตรวจสอบเก็บภาษีย้อนหลัง

ด้านกรมสรรพากรก็ออกมายอมรับว่า จะมีการตรวจสอบภาษีอย่างเข้มข้น จากการใช้ระบบคอมพิวเตอร์สุ่มตรวจทั้งการเสียภาษีและการขอคืนภาษี หากพบความผิดปกติก็จะส่งให้ฝ่ายตรวจสอบภาษีดำเนินการทันที โดยจะใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาสุ่มตรวจผู้เสียภาษีและการขอคืนภาษีว่ามีความผิดปกติหรือไม่

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี การกวาดต้อนให้ผู้ประกอบการที่มีหลายบัญชีมาทำบัญชีเดียว โดยไม่มีการคิดภาษีย้อนหลัง ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับผู้ประกอบการที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง แต่สำหรับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่อยู่วงนอก การทำบัญชีเดียวอาจจะเป็นหลุมพรางของรัฐบาลที่ให้มีการเข้าไปเสียภาษี และอาจจะถูกเก็บภาษีย้อนหลังได้ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการขยายฐานภาษีไม่ได้ตามแผน

ขณะที่การใช้ระบบการชำระเงิน หรืออี-เพย์เมนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิการเก็บภาษีให้เกิดความรวดเร็ว ยังต้องใช้เวลาการดำเนินการอีกนาน ทำให้ยังไม่สามารถช่วยการจัดเก็บรายได้ของประเทศได้ใน 1-2 ปีนี้

จากสาเหตุที่ต้องเพิ่มรายได้ของประเทศอาจมีแรงกดดันให้รัฐบาลต้องเพิ่มการเก็บภาษีตัวใหม่ โดยเฉพาะการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ขณะนี้กระทรวงการคลังได้สรุปรายละเอียดให้ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณาเรียบร้อยแล้ว อยู่ที่รัฐบาลจะกล้าเดินหน้าต่อหรือไม่ เพราะการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกระทบกับคนในวงกว้าง รวมถึงนายทุนสะสมที่ดินจำนวนมากที่จะเสียประโยชน์

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นประโยชน์ในการเก็บรายได้ของประเทศ เพราะถือเป็นการเก็บภาษีทรัพย์ของประเทศตัวที่สอง หลังจากออกกฎหมายเก็บภาษีผู้รับมรดก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนจนและคนรวย ช่วยกระจายการทำประโยชน์บนที่ดินมากขึ้น ที่สำคัญภาษีที่ดินฯ จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เก็บรายได้เพิ่มมากขึ้นรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท ลดภาระการอุดหนุนจากงบประมาณกลาง ทำให้รัฐบาลนำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายและลงทุนพัฒนาประเทศได้ต่อไป

นอกจากนี้ การเก็บรายได้เพิ่มยังมีช่องทางการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ปัจจุบันลดอัตราจาก 10% เหลือ 7% ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2559 ซึ่งหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น รัฐบาลอาจจะต้องยอมกลืนเลือดปรับขึ้นแวตบางส่วน เพื่อเพิ่มการเก็บรายได้ให้มากขึ้น

เมื่อพิจารณาจากสภาพการแล้ว การเก็บรายได้เพิ่ม โดยการเก็บภาษีใหม่ๆ หรือนโยบายการทำบัญชีเดียว หรืออี-เพย์เมนต์ ยังต้องใช้เวลาดำเนินการอีกนาน การแก้ปัญหาเก็บรายได้ที่เร็วกว่านั้น จึงหนีไม่พ้นการรีดภาษีผู้เสียภาษีรายเดิมที่มีอยู่ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เพราะทำได้ทันทีและกรมสรรพากรรู้ว่ายังมีผู้เสียภาษีที่ยังเสียไม่ครบและมีการรั่วไหลอยู่อีกไม่น้อย

จึงไม่ต้องแปลกใจที่บริษัทที่ปรึกษาด้านภาษีและกฎหมายยักษ์ใหญ่ได้ออกมาเตือนผู้ประกอบการให้เตรียมตัวให้พร้อมกับมหกรรมจัดเก็บภาษีเพิ่ม เพื่อไปอุดรายได้ของประเทศให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.33 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเงินก้อนโตอย่างมากในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่ำเช่นนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มหกรรมเพิ่มภาษี โปะรายได้ปี 59

view