สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สาวก หมูกรอบ จงฟัง! กรอบๆ อร่อยๆ แต่เป็นต้นกำเนิดโรคไม่น้อย!

จากประชาชาติธุรกิจ

เพจเฟซบุ๊ค Pleasehealth Books ให้ข้อมูลเมนูยอดฮิต "หมูกรอบ" ว่าเป็นไม่ได้มีผลดีต่อสุขภาพนัก โดยเป็นข้อมูลจาก ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า


หนึ่งในอาหารที่เป็นที่นิยมของคนไทยคือ “หมูกรอบ” ไม่ว่าจะเป็นข้าวหมูกรอบ หมูกรอบผัดพริกแกง หมูกรอบผัดกะเพรา หมูกรอบผัดพริกขิง ก๋วยจั๊บใส่หมูกรอบ และอื่นๆ จากข้อมูลของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธาณสุข ระบุว่าพลังงานจากหมูกรอบ 100 กรัม (7-10 ชิ้นคำ) ให้พลังงานประมาณ 385 -420 แคลอรี่ไขมัน 30 กรัม โดยหากเป็นข้าวหมูกรอบพลังงานก็จะเพิ่มขึ้น เป็น 550-600 แคลอรี่ และหากเป็นเมนูหมูกรอบที่มีการนำไปผัดกับน้ำมันก็จะทำให้ยิ่งเพิ่มพลังงานมากขึ้น

 หมูกรอบทำมาจากหมูสามชั้น นำมาหมักกับเครื่องปรุงที่ใช้เกลือปรุงรส หรือซีอิ๊วต่างๆ แล้วนำไปทอดในน้ำมันท่วมจนกรอบ ซึ่งแต่ละร้านก็จะมีเคล็ดลับในการปรุงหมูกรอบที่แตกต่างกันออกไป การกินหมูกรอบเป็นประจำอาจนำมาซึ่งผลต่อสุขภาพได้โดย

• หมูกรอบที่ทำมาจากหมูสามชั้นที่มีไขมันอิ่มตัวสูงรวมกับการทอดด้วยน้ำมัน ซึ่งน้ำมันเป็นกลุ่มอาหารที่ให้พลังงานสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มข้าวแป้ง ผัก ผลไม้และกลุ่มเนื้อสัตว์ ดังนั้นเมื่อบริโภคน้ำมันเข้าไปก็จะทำให้มีโอกาสได้รับพลังงานเกิน ตามมาด้วยโรคอ้วนและอ้วนลงพุง นอกจากนี้ยังพบว่ากล้ามเนื้อหัวใจของผู้ที่มีภาวะอ้วนจะทำงานหนักมากกว่าคน ปกติหัวใจจะต้องบีบตัวให้แรงขึ้นเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงให้เพียงพอทั่วร่าง กาย ในระยะยาวจะก่อให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติและเกิดโรคความดันโลหิต สูงตามมา ผู้ที่เป็นโรคอ้วนยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม โรคมะเร็งมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติ

• ประเภทของไขมันหรือน้ำมันที่ใช้ทอดหมูกรอบโดยส่วนมากแล้วจะใช้ไขมันที่มาจากน้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันหมู อาจมีการใช้น้ำมันพืชเช่นน้ำมันถั่วเหลืองบ้าง น้ำมันปาล์มกับน้ำมันหมูจะมีไขมันอิ่มตัวสูง ข้อดีของน้ำมันในกลุ่มนี้คือสามารถทนต่อความร้อนได้ดีกว่าเพราะมีจุดหลอมเหลวที่สูงกว่า แต่ไขมันชนิดนี้ไม่ดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหัวใจ ไขมันอิ่มตัวจะไปเพิ่มระดับของแอลดีแอลคอเลสเตอรอล หากมีคอเลสเตอรอลตัวนี้อยู่ในร่างกายมากจะทำให้เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดตีบตันทั้งหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง



• การที่น้ำมันผ่านความร้อนสูงโครงสร้างของน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อผู้ขายใช้น้ำมันสำหรับทอดซ้ำแล้วซ้ำอีกจะทำให้เกิดสารพิษขึ้นในน้ำมัน เช่น สารโพลาร์ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งของระบบทางเดินอาหาร โรคหัวใจและหลอดเลือด สารอีกตัว คือ สารอะคริลาไมด์ที่มักพบในอาหารที่ทอด จากการศึกษาพบว่าเมื่อร่างกายได้รับสารอะคริลาไมด์สะสมจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก

• ไอของน้ำมันที่ยิ่งทอดซ้ำ ยิ่งมีสารพิษโพลีไซคลิก อะโรมาติก โฮโดรคาร์บอนด์ (PAHs) ซึ่งเป็นสารประเภทเดียวกันกับที่พบในควันจากรถยนต์ ไฟจากการหุงต้ม หรือควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อทอดอาหารจนน้ำมันร้อน ที่จุดหนึ่งไอน้ำมันจะระเหยอยู่ในอากาศ เมื่อสูดเข้าไปในร่างกายแล้วก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคของระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด และมะเร็งเม็ดเลือดขาว

• ความเค็มที่มาจากการหมักหมู การกินเค็มเกินก็จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ตามมา ซึ่งได้แก่โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคกระดูก องค์การอนามัยโลกได้เสนอว่าปริมาณสารอาหารที่เหมาะสมที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันโดยที่เกลือไม่ควรเกิน 5 กรัม/วัน เท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา (หรือเทียบได้กับปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2300 มิลลิกรัม/วัน) ข้าวหมูกรอบ 1 จานจะมีโซเดียมอยู่ 700-1,000 มิลลิกรัม

 แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเลิกหรือห้ามไม่ให้กินหมูกรอบเลย แต่ควรอยู่ที่ว่ากินในปริมาณที่เหมาะสม เช่น อาทิตย์ละไม่เกิน 1-2 ครั้งและเลือกกินหมูกรอบกับอาหารอย่างอื่นที่มีผักชนิดที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักสด ผักต้ม แทนการกินหมูกรอบกับอาหารทอดอย่างอื่นหรือผัดน้ำมัน และสิ่งสำคัญคือเมื่อกินแล้วก็ควรที่จะออกกำลังกายเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดไขมันที่จะสะสมทำให้เกิดปัญหาอ้วนลงพุงได้

 ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล
 อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน
 ในชุดโครงการ “รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง”
เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
 สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สาวก หมูกรอบ จงฟัง กรอบๆ อร่อยๆ เป็นต้นกำเนิดโรค ไม่น้อย!

view