สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจ ช่องทางโกยเงินลิขสิทธิ์ฟุตบอล

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

เริ่มเป็นที่จับตาว่าผู้ประกอบการรายใดจะได้รับช่วงต่อ (ซับไลเซนส์) ในการบริหารลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ฤดูกาล 2016-2019 หลังจาก บีอิน สปอร์ตส์ เป็นผู้ชนะการประมูล

แต่ไม่ว่าใครจะได้ซับไลเซนส์ต่อ สิ่งที่น่าจับตามองคือ จะบริหารสิทธิอย่างไร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนและผลกำไรกลับมาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากการแข่งขันของธุรกิจ พฤติกรรมของผู้ชม และเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามนี้ ที่ผู้ประกอบการทีวีเมืองไทยเพิ่งผ่านสมรภูมิประมูลทีวีดิจิทัลอันดุเดือด ขณะที่บางช่องไปต่อไม่ได้ ผู้เล่นที่เหลืออยู่จึงต้องสู้ต่อไป โดยการหาพันธมิตรที่มีความพร้อมสนับสนุนให้แข่งขันต่อไปได้

ดังนั้น รายการถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญจึงยังเป็นแม่เหล็กใหญ่ของวงการทีวีเมืองไทย ทำให้หลายค่ายต่างมีความต้องการที่จะได้สิทธิถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก เพื่อขยายฐานผู้ชมและเพิ่มเรตติ้ง ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือ เม็ดเงินโฆษณาสร้างรายได้นั่นเอง

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง กล่าวว่า หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเคเบิลทีวีมีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงรายเดียวเท่านั้น เวลามีผู้เล่นเพียงรายเดียวจะทำการตลาดอะไรก็ค่อนข้างง่าย เช่นเดียวกับการต่อรองราคา

“หากมองไปที่กีฬาฟุตบอลในช่วงเวลาดังกล่าว ก็มีเพียงฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เพียงรายการเดียวเท่านั้นที่ได้รับความสนใจจากผู้ชม เนื่องจากกีฬาประเภทอื่นๆ ที่ได้รับความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลยูโรหรือฟุตบอลโลก ครบ 4 ปี จึงจะมีการแข่งขันสักครั้งหนึ่ง” เขมทัตต์ กล่าว

จากปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้การทำธุรกิจเพย์ทีวี ซึ่งมีคอนเทนต์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เป็นคอนเทนต์หลักในการเรียกความสนใจจากผู้ชม จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เนื่องจากลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นการขายระยะยาว 3 ฤดูกาล ประกอบกับการทำเพย์ทีวีเป็นธุรกิจแบบพรีเพด คือจ่ายเงินก่อนจึงจะได้รับชมการแข่งขัน เมื่อได้เงินมาก็สามารถนำไปจ่ายให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

จนถึงปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ประกอบกับเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลผู้ชมส่วนหนึ่งหันไปชมการแข่งขันรายการฟุตบอลดังกล่าวในเว็บไซต์เถื่อน ทำให้อุตสาหกรรมเกิดเม็ดเงินรั่วไหล และเมื่อมีผู้เล่นเพิ่มมากขึ้นก็ทำให้เม็ดเงินที่ใช้ในการประมูลซื้อสิทธิกีฬาดังกล่าวจากเดิมเคยซื้อได้ในราคาที่ถูกเริ่มขยับตัวแพงขึ้น โดยเฉพาะช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่มีผู้ประกอบการเคเบิลทีวีรายใหม่ คือ ซีทีเอช ทุ่มเงินประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ สูงลิ่วถึง 1.2 หมื่นล้านบาท จนได้ชัยชนะ แต่กลับจบไม่สวยงาม เพราะประสบปัญหาต่างๆ นานา

ขณะที่นับจากนี้เทรนด์ของการบริหารสิทธิจะเปลี่ยนไป เพราะแทนที่ประเทศไทยจะเป็นผู้เข้าไปประมูลลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เอง จะเปลี่ยนเป็นธุรกิจระดับภูมิภาคเป็นคนไปประมูล เพื่อนำมาขายต่อ และผู้ประกอบการไทยที่สนใจก็เข้าไปซับไลเซนส์เพื่อนำมาบริหารต่อ

สิ่งที่น่าจับตามองหลังจากนี้ คือ ผู้ประกอบการที่ได้ซับไลเซนส์มาจะมีการตกลงกันในรูปแบบไหน จะได้สิทธิเฉพาะในการบริหารในประเทศไทย หรือได้ทั้ง 3 ประเทศเหมือนกับผู้ประกอบการก่อนหน้านี้ที่ชนะการประมูลในฤดูกาลที่ผ่านมา อีกทั้งสิทธิที่ได้จะเป็นการแบ่งให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเพย์ทีวีเพียงอย่างเดียว หรือให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีรายอื่นๆ และฟรีทีวีด้วย

“ที่น่าคิดอีกเรื่องคือ ถ้าผู้ประกอบการเพย์ทีวีได้สิทธิไปแล้ว จะบริหารสิทธิต่อไปได้หรือไม่ เพราะเชื่อว่าเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนไปน่าจะเป็นเงินที่ค่อนข้างสูง” เขมทัตต์ กล่าว

สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับผู้ประกอบการในธุรกิจฟรีทีวีที่ไปซับไลเซนส์มาอีกต่อหนึ่ง เพราะหากใช้งบลงทุนที่สูงมากเกินไปอาจมีคำถามย้อนกลับมาว่าจะไปไหวหรือไม่ แม้ว่าโดยภาพรวมผู้ชมในฟรีทีวีจะมีมากกว่าเพย์ทีวีก็ตาม แต่เนื่องจากเพย์ทีวีเป็นธุรกิจที่ได้เงินมาก่อน ลูกค้าถึงจะรับชมคอนเทนต์นั้นๆ ได้ ต่างจากฟรีทีวีที่จะมีผู้ชมจำนวนมากก่อนจึงจะมีรายได้เข้ามา

ในส่วนของช่องพีพีทีวี เอชดี ยอมรับว่าสนใจจะเข้าร่วมประมูลซับไลเซนส์ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เพื่อนำมาออกอากาศในช่องพีพีทีวี เอชดี เนื่องจากเป็นคอนเทนต์ที่มีศักยภาพ สามารถสร้างแบรนด์ของช่องพีพีทีวี เอชดี ให้ผู้ชมทั่วไปรู้จักได้เป็นอย่างดี อีกทั้งบริษัทเองมีการทำกิจกรรมการตลาดทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นออนแอร์ ออนไลน์ หรือออนกราวด์ เชื่อว่าทำให้สมาคมฟุตบอลในต่างประเทศชื่นชอบการทำงานของช่องพีพีทีวี เอชดี

ด้าน พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส กล่าวว่า รูปแบบของการบริหารลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก อังฤษ นับจากนี้เปลี่ยนไปแน่นอน เพราะเดิมมีผู้เล่นรายใหม่พยายามเข้ามารุกตลาดเพย์ทีวี จึงทำให้มูลค่าของลิขสิทธิ์กีฬามันสูงเกินมูลค่าที่แท้จริงสำหรับตลาดไทย

มาวันนี้ตลาดมีการปรับตัวและกลับมาเหลือจำนวนผู้เล่นใกล้เคียงเดิม มูลค่าของลิขสิทธิ์ก็ปรับตัวลงตามหลัก ดีมานด์ ซัพพลาย แต่สำหรับเจ้าของลิขสิทธิ์ก็อาจพยายามดิ้นรนรักษาระดับราคาเดิมไว้ จึงหาทางออกโดยการกลับไปทำดีลประเภทรีจินัล ดีล (Regional Deal) ที่ผู้ซื้อคนหนึ่งซื้อทีเดียวหลายตลาด แล้วเอาคอนเทนต์ไปผนวกภายใต้แบรนด์ช่อง ซึ่งจะทำให้ความเป็นเอ็กซ์คลูซีฟของคอนเทนต์หมดไป เพราะคนที่ได้สิทธิไปก็อาจจะเอาคอนเทนต์ช่องมาขายต่อกับลูกค้าหลายๆ รายในตลาดไทยก็เป็นได้

ขณะที่ ชลิต ลิมปนะเวช อุปนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยหลักของการทำตลาดแล้ว การลงทุนไปซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก็ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งช่องทางเสริมที่ผู้ประกอบการน่าจะให้ความสนใจ คือ การนำแพลตฟอร์มมือถือเข้ามาช่วยในการถ่ายทอดสดเพื่อขยายฐานผู้ชม ขณะเดียวกันยังถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการเก็บฐานข้อมูลของลูกค้า เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการทำการตลาดครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรูปแบบการซื้อช่องรายการพรีเมียร์ลีกต่อจากบีอิน สปอร์ต ยังไม่ชัดเจน จะต้องดูว่าบีอินจะมีข้อเสนอในการขายช่องรายการอย่างไร ซึ่งหากบีอินถ่ายทอดทางช่องบีอิน สปอร์ต ที่มีอยู่แล้ว สมาชิกของทรูวิชั่นส์ก็สามารถรับชมได้

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะเป็นตลาดที่ลิขสิทธิ์กีฬาสำคัญๆ จับตามอง หลังจากซีทีเอชสร้างปรากฏการณ์ทุ่มประมูลสูงลิ่วในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เห็นได้จากการที่ผู้เล่นรายใหญ่ระดับภูมิภาคให้ความสำคัญกับตลาดเมืองไทย อาทิ ช่องบีอิน ที่คว้าสิทธิถ่ายทอดสดฟุตบอล 3 รายการในไทย คือ ยูฟ่า แชมเปี้ยนลีกส์ ยูโรป้า ลีก และ ลาลีกา สเปน รวมไปถึง ฟอกซ์ หรืออีเอสพีเอ็น ที่ก่อนหน้านี้เคยเข้าประมูลสิทธิการถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญในไทยเช่นกัน

แนวโน้มการแย่งลิขสิทธิ์รายการกีฬานับจากนี้จึงมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ และจากการผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายเดียว จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปสู่การประมูลสิทธิที่กว้างขึ้นยกทั้งภูมิภาค และนำสิทธิไปปล่อยผ่านซับไลเซนส์หลายรายในแต่ละประเทศ เพื่อให้การบริหารคอนเทนต์สร้างมูลค่าได้คุ้มค่ากับเงินที่ประมูลไปมากที่สุด

ซีทีเอชฝ่าวิบาก บอลอังกฤษชี้ชะตา

เหลืออีกไม่กี่เดือนบริษัท ซีทีเอช ก็จะสิ้นสุดสัญญาการบริหารลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาลสุดท้าย ภายหลังได้รับสิทธิการบริหารมา 3 ฤดูกาล นับตั้งแต่ฤดูกาลปี 2014 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ซีทีเอชบริหารลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดก็ประสบกับปัญหาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายใน หรือปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ

ด้วยเม็ดเงินที่ใส่ลงไปในการประมูลที่ค่อนข้างสูงเกือบหมื่นล้านบาท และหากรวมการลงทุนด้านอื่นๆ เช่น เทคโนโลยี บรอดแบนด์ และการทำตลาด ทำให้ วิชัย ทองแตง ประธานกรรมการ บริษัท ซีทีเอช ออกมาประกาศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่าอาจต้องใช้งบลงทุนมากถึง 2 หมื่นล้านบาท เพื่อทำให้การบริหารลิขสิทธิ์ตลอด 3 ฤดูกาล ประสบความสำเร็จหลังได้รับสิทธิทั้งในไทย ลาว และกัมพูชา

ในส่วนของประเทศไทย ฤดูกาลแรกซีทีเอชประกาศปรับรูปแบบการถ่ายทอดสดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ด้วยการนำเสนอรูปแบบการถ่ายทอดสดในระบบดิจิทัล บรอดแบนด์ ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่เป็นแม่ทัพใหญ่ในการบริหารลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลแรก คือ กฤษณัน งามผาติพงศ์ อดีตแม่ทัพใหญ่เอไอเอส

หลังจากเข้ารับตำแหน่ง กฤษณันก็ประกาศแผนเชิงรุกผ่านกลยุทธ์การเป็นผู้ให้บริการเคเบิลทีวีในระบบดิจิทัล พร้อมเปิดตัว “สุดยอดแพ็กเกจ พร้อมเสิร์ฟถึงบ้านจากซีทีเอช” เพื่อให้สมาชิกของซีทีเอชได้รับชมรายการต่างๆ มากกว่า 140 ช่อง ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นระบบภาพความคมชัดสูง หรือเอชดี 31 ช่อง เป็นช่องกีฬา 10 ช่อง รายการวาไรตี้ต่างๆ

นอกจากนี้ สมาชิกของซีทีเอชยังได้รับชมการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ครบ 380 แมตช์ ซึ่งราคาแพ็กเกจการรับชมในช่วงแรกที่ซีทีเอชประกาศออกมามีราคาเดียว คือ 899 บาท/เดือน จ่ายค่ามัดจำล่วงหน้า 1 เดือน พร้อมค่าบริการรายเดือน โดยเดือนแรกจะเสียค่าติดตั้ง 50% ของราคาทั้งหมด หลังจากนั้นสมาชิกต้องจ่ายค่ารายเดือนตามปกติในราคา 748 บาท/เดือน (จ่าย 10 เดือนดูได้ 12 เดือน) และราคา 673 บาท/เดือน (จ่าย 18 เดือนดูได้ 24 เดือน)

พร้อมกันนี้ ยังนำเสนอการรับชมผ่านกล่องเซตท็อปบ็อกซ์ของซีทีเอชในราคา 1,800 บาท ส่วนลูกค้ารายใหม่ที่ต้องการรับชมครบทั้ง 380 แมตช์ สามารถสมัครสมาชิกได้ในราคา 599 บาท/เดือน โดยการบริหารสิทธิในฤดูกาลแรก 2013-2014 ซีทีเอชคาดว่าจะเพิ่มฐานสมาชิกได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านราย ซึ่งก็ไม่เป็นไปตามที่หวัง

แม้ว่าตลอดระยะเวลา 1 ที่ซีทีเอชบริหารลิขสิทธิ์ในฤดูกาลแรก จะนำเสนอแพ็กเกจใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ เนื่องจากระบบการบริหารงานหลังบ้านยังไม่เสถียร ประกอบกับการเป็นมือใหม่ จึงทำให้การบริหารงานในฤดูกาลแรกไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่งผลให้ซีทีเอชตัดสินใจเปลี่ยนแม่ทัพคนใหม่เพื่อฟื้นฟูสถานการณ์

ก้าวเข้าสู่ฤดูกาลที่ 2 ซีทีเอชก็ออกมาเปิดกลยุทธ์การทำตลาดรูปแบบใหม่ พร้อมกับประธานกรรมการบริหารคนใหม่ เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ โดยกลยุทธ์ที่เชิดศักดิ์เลือกนำมาใช้ คือ การจับมือกับพันธมิตรที่หลากหลาย เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการดัมพ์ราคาแพ็กเกจราคาต่ำสุดเพียง 200 บาท และผนึกพันธมิตรรอบด้าน

ตัวอย่างเช่น ร่วมกับพีเอสไอ เปิดตัว 4 แพ็กเกจ ราคาสุดคุ้ม จับมือดีแทคให้ลูกค้าที่สมัครแพ็กเกจ “ดีแทค ซีทีเอช” รับชมรายการผ่านกล่องรับสัญญาณซีทีเอช รวมถึง สนุก ดอทคอม ให้บริการแพ็กเกจฟุตบอลพรีเมียร์ลีกทั้งประเภทรายวันและรายเดือน และจับมือกับบริษัท อาร์เอส ให้ออกอากาศถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ทางกล่อง “ซันบ็อกซ์ ลาลีกา สตาร์” และร่วมกันเปิดตัวกล่อง “บาร์เคลย์ส พรีเมียร์ลีก” เป็นต้น

แต่แม้ว่าจะมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น การบริหารลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ฤดูกาลที่ 2 ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปี 2557 ประเทศไทยต้องเจอปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจหรือการเมือง ส่งผลให้ ซีทีเอชต้องตัดสินใจเปลี่ยนแม่ทัพคนที่ 3 เพื่อเข้ามาทำหน้าที่แทนเชิดศักดิ์ที่หมดวาระไปเมื่อเดือน ก.ค. 2558

แม่ทัพใหม่ที่ซีทีเอชเลือกนำมาบริหารลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ฤดูกาลที่ 3 คือ อมฤต ศุขะวณิช ซึ่งขณะนี้ยังไม่ออกประกาศแผนงานอย่างเต็มตัว ฝีมือแม่ทัพใหม่จะเป็นอย่างไรคาดว่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นภายหลังจากมีความชัดเจนจากบีอิน สปอร์ตส์ ผู้ได้สิทธิการบริหารในเรื่องการซับไลเซนส์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ อีก 3 ฤดูกาล ตั้งแต่ปี 2016-2019

ซีทีเอชยังมีความหวังว่าจะได้สิทธิในการบริหารซับไลเซนส์ พรีเมียร์ลีกต่อ แม้ว่าลึกๆ จะดูเสียเปรียบฝั่งทรูวิชั่นส์บ้าง เนื่องจากทรูวิชั่นส์และบีอิน สปอร์ตส์ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ดังนั้น หากซีทีเอชได้ไปต่อ จากประสบการณ์ที่สะสมมาตลอด 3 ฤดูกาล จะทำให้ซีทีเอชกลับมาพลิกฟื้นมีกำไรได้หรือไม่ ถือเป็นเรื่องที่น่าติดตาม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจ ช่องทางโกยเงิน ลิขสิทธิ์ฟุตบอล

view