สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภูมิหลังและอนาคตทีพีพี (2)

ภูมิหลังและอนาคตทีพีพี (2)
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ครั้งที่แล้วผมเล่าว่า ประเทศที่ก่อให้ทีพีพีกำเนิดขึ้นมาคือ บรูไน นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ แต่มิได้

เป็นความตั้งใจตั้งแต่ต้นให้พัฒนามาเป็นทีพีพีแต่อย่างใด กล่าวคือสถานการณ์และความบังเอิญทำให้ทีพีพี “มีวันนี้”

หากจะย้อนกลับไป ก็ต้องให้เครดิตกับออสเตรเลีย โดยนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือนาย Bob Hawke ซึ่งมองว่าเอเชียแปซิฟิกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อออสเตรเลียในเชิงเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง แต่ก่อนหน้านั้น ออสเตรเลีย (และนิวซีแลนด์) จะมองว่าตนเป็นประเทศในเครือจักรภพ ที่ใกล้ชิดอังกฤษมากที่สุด จึงดำเนินนโยบายที่ผูกพันกับอังกฤษอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด แต่ต่อมาอังกฤษเข้าไปรวมตัวทางเศรษฐกิจกับภาคพื้นยุโรปมากขึ้น และ “ปล่อยเกาะ” ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทำให้ผู้นำทั้งสองประเทศต้องวางแผนอนาคตของประเทศจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ผมมีประสบการณ์ส่วนตัว เพราะได้เคยเป็นนักเรียนที่นิวซีแลนด์ 8 ปี (1969-1977) จำได้ว่าเพื่อนๆ ทุกคนคิดแต่จะเดินทางไปประเทศอังกฤษ (เหมือนกับต้องไปเมกะ) และจะไม่รับรู้เลยว่า นิวซีแลนด์กับอังกฤษนั้นมีประเทศอะไรอยู่ระหว่างทางบ้าง (ยกเว้นออสเตรเลีย) และนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จะมีความรู้เกี่ยวกับเอเชียอย่างจำกัดมาก และไม่ได้รู้สึกว่ามีความสำคัญต่อเขาแต่อย่างใด โดยจะมองไปที่อังกฤษและแอฟริกาใต้มากกว่า เพราะแอฟริกาใต้เป็นคู่อริที่สำคัญในกีฬารักบี้

นาย Bob Hawke รู้ว่า หากออสเตรเลียขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน เราก็คงไม่ต้อนรับ ดังนั้น เขาจึงคิดตั้ง “สมาคม” ขึ้นมาใหม่คือเอเปก ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และสหรัฐ เป็นต้น มา “ครอบ” อาเซียน ในปี 1989 ซึ่งผมมองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดอย่างมาก ในตอนแรกอาเซียนไม่พอใจและคลางแคลงใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมหาธีร์จึงพยายามผลักดันอีเออีซี (East Asia Economic Cooperation) ให้มีบทบาทเพื่อมาบดบังเอเปก แต่ในที่สุดเอเปกก็ประสบความสำเร็จมากกว่า กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 21 ประเทศในขณะนี้

เอเปกนั้น เดิมถูกมองว่าจะเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปิดเสรีการค้า ซึ่งประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐมองว่า เป็นกลุ่มที่น่าจะสามารถสร้างแนวร่วมเพื่อกำหนดท่าทีร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในการผลักดันการเจรจาในระดับพหุภาคีได้ เช่น ในการประชุมรอบอุรุกวัย และรอบโดฮา (ที่ล้มเหลวไป) ในขณะเดียวกัน ความสำเร็จของเอเปกก็บดบังอาเซียนไปในตัว และออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็อาศัยเอเปกเป็นพื้นฐานในการจัดตั้งกลุ่มเครนซ์ (Cairns Group) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรและผลักดันการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรในเวทีพหุภาคี (ซึ่งไทยก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วย)

แต่สำหรับทีพีพีนั้นผมมองว่า จุดเริ่มต้นมาจากการประชุมในปี 2000 ซึ่งบรูไนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น นิวซีแลนด์ซึ่งเป็นประเทศเล็กเช่นกัน รู้สึกว่าพยายามขอเจรจาเปิดตลาดเสรีกับประเทศใหญ่ๆ หลายครั้งหลายหน ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขนาดตลาดของเขาเล็กไม่เป็นที่สนใจของประเทศใหญ่ จึงร่วมกันหารือกับประเทศเล็กอีกประเทศในเอเปกคือ สิงคโปร์ จนในที่สุดก็ตั้ง NZ/Singapore  Closer Economic Partnership ในปี 2001 และต่อมาในการประชุมผู้นำเอเปกที่ประเทศชิลี ในปี 2002 ก็ขยายออกมาเป็น 3 ประเทศคือ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และชิลี คือ Pacific 3 Closer Economic Partnership ซึ่งในปี 2005 บรูไนก็เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการเป็น Pacific 4

ในที่สุดในปี 2008 สหรัฐซึ่งผมเข้าใจว่าเห็นการเจรจาการค้าพหุภาคีขององค์กรการค้าโลก (รอบโดฮา) เข้าสู่ทางตัน และเพิ่งประสบความล้มเหลวในการเจรจาเขตการค้าเสรีกับไทยในปี 2006 จึงให้ผู้แทนการค้าประกาศว่า มีความประสงค์จะเข้าร่วมเจรจากับ P4 และภายในปลายปีเดียวกัน ออสเตรเลีย เวียดนาม และเปรู ก็ประกาศเข้าร่วมกลุ่มเจรจาเช่นกัน ซึ่งอาจพูดได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของทีพีพีที่ชัดเจน ทำให้ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเคยพยายามยึดติดกับอาเซียน (และไม่ชอบเอเปก) มาโดยตลอด ตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาเป็นสมาชิกของทีพีพีอย่างเป็นทางการในปี 2010 หลังจากการเดินทางมาเยือนเอเชียในครั้งแรกของประธานาธิบดีโอบามา ในเดือนพฤศจิกายน 2009 และสั่งการให้ผู้แทนการค้าสหรัฐแจ้งต่อรัฐสภาในเดือนธันวาคม 2009 ว่า รัฐบาลสหรัฐต้องการเข้าร่วมเจรจาทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีทีพีพีอย่างเป็นทางการ ตรงนี้หากมองย้อนหลังไปในอดีตก็อาจคิดได้ว่า ไทยควรประเมินและหาข้อสรุปแล้วตั้งแต่ปี 2010 ว่าไทยสมควรเข้าร่วมเจรจาทีพีพีหรือไม่ แต่เราเพิ่งจะเริ่มคิดศึกษาข้อดี-ข้อเสีย 5 ปีให้หลัง

จะเห็นว่าในปี 2009 นั้น แคนาดายังไม่ได้เข้าร่วมทีพีพี แต่ที่สุดก็ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ (observer) ในปี 2010 (ซึ่งไทยก็อาจสามารถขอเป็นผู้สังเกตการณ์ได้เช่นกัน) ครั้งนั้นสหรัฐและนิวซีแลนด์ ไม่เห็นด้วยกับการให้แคนาดาเข้าร่วมเจรจาในกลุ่มทีพีพี เพราะมีมาตรการกีดกันการค้าสินค้าเกษตร และมีจุดอ่อนในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จนในที่สุดแคนาดาต้องยอมรับเงื่อนไขเจรจา เพื่อเปิดตลาดสินค้าเกษตร จนในที่สุดได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกทีพีพีอย่างเต็มภาคภูมิ พร้อมกับเม็กซิโกในเดือนมิถุนายน 2002 (โดยผ่านการเห็นชอบของ 9 ประเทศที่เป็นสมาชิกทีพีพีมาก่อนหน้า)

ประเทศสุดท้ายที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกทีพีพีคือ ญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรีอาเบะเข้าร่วมทีพีพีอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 กรกฎาคม 2013 (หลังจากประธานาธิบดีโอบามาเชิญให้ไทยเข้าร่วมทีพีพีประมาณ 8 เดือน) สำหรับนายกรัฐมนตรีอาเบะนั้น น่าจะฝากความหวังเอาไว้กับทีพีพีค่อนข้างมาก เพราะเป็นการยกระดับและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐ เป็นการให้สหรัฐและญี่ปุ่นเป็นแกนนำด้านเศรษฐกิจในเอเชียและทัดทานอำนาจต่อรองของจีน รวมทั้งเป็นกลไกปฏิรูปเศรษฐกิจญี่ปุ่น (ธนูลูกที่ 3) หลังจากการใช้มาตรการคิวอี-ธนูลูกที่ 1 และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง-ธนูลุกที่ 2 ที่กำลังจะแผ่วแรงลง

การเข้าร่วมทีพีพีของญี่ปุ่นนั้น ทำให้นิวซีแลนด์รู้สึกผิดหวังอย่างมาก หนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์เฮเรียล (วันที่ 6 ตุลาคม 2015) มองย้อนหลังว่าหัวหน้าผู้เจรจาของนิวซีแลนด์คือรัฐมนตรีต่างประเทศและการค้า นาย Tim Groser กล่าวว่า“that was the point at which New Zealand acquires a 75% chance at being screwed on dairy” กล่าวคือ จากจุดเริ่มต้นของประเทศเล็ก เช่น นิวซีแลนด์ ที่พยายามเจรจาเข้าสู่สินค้าเกษตรให้กับการส่งออกของตน ทีพีพีกลายเป็นการเจรจาการค้าที่สหรัฐต้องยอมลดหย่อนข้อเรียกร้องด้านการเกษตร เพราะต้องการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในด้านอื่นๆ กับญี่ปุ่น ทำให้นิวซีแลนด์ได้ประโยชน์โดยตรงลดลง และทีพีพีก็กลายเป็นกลไกที่ถูกสหรัฐและญี่ปุ่นครอบงำในช่วงสุดท้าย โดยเฉพาะการยินยอมให้สหรัฐเป็นประธานการประชุมในช่วงสุดท้ายของการประชุม เพื่อทำข้อตกลงให้บรรลุผลที่ฮาวายในเดือนกรกฎาคมและเมืองแอตแลนต้าประเทศสหรัฐในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

แต่ผมก็ยังมองว่า เป็นความสำเร็จอย่างงดงามของประเทศเล็กๆ 4 ประเทศ คือบรูไน (ประชากร 0.42 ล้าน) นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ (5.5 ล้าน) และชิลี (18 ล้าน) ที่สามารถริเริ่มการเปิดเสรีทางการค้าให้กับประเทศ 12 ประเทศที่มีสัดส่วนจีดีพีเท่ากับ 40% ของจีดีพีโลกครับ



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภูมิหลังและอนาคตทีพีพี (2)

view