สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Fed Funds Rate กับปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน

Fed Funds Rate กับปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน
โดย : ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หากถามว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทางการของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed Funds Rate)

ที่อาจจะเริ่มเห็นกันในปลายปีนี้รวมทั้งการปรับขึ้นในครั้งต่อๆ ไปนั้น จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกอย่างไรบ้าง คำตอบก็น่าจะขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจีนจะมีวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจ (ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก) ได้อย่างถูกต้องรอบคอบ (prudence) มากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ เพราะวิธีการขยายสินเชื่อแบบผ่อนปรนที่ผ่านมาของจีนได้สร้างความต้องการเทียมและอุปทานส่วนเกินให้แก่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ

ตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกในปี ค.ศ.2008 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จนรัฐบาลจีนต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปล่อยสินเชื่อเพิ่มจนทำให้สัดส่วนสินเชื่อต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 150% เป็น 250% ในระหว่างปี ค.ศ.2008 ถึง 2014 การขยายตัวของสินเชื่อทำให้สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นด้วยจาก 40% เป็น 47% ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนต้องพึ่งพาการลงทุนและการขยายตัวที่เกิดจากสินเชื่อเป็นหลัก โดยแบ่งได้เป็นการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาอุปทานส่วนเกินหรือสภาพเมืองร้าง (ghost city) ซึ่งผู้ซื้ออาจซื้อทิ้งไว้ล่วงหน้าเพื่อรอระบบขนส่งและสาธารณูปโภคที่จะแล้วเสร็จต่อไป และผู้ซื้อส่วนใหญ่จะมีการวางเงินมัดจำไว้แล้วประมาณ 30% ก็ตาม แต่ราคาห้องพักอาศัยที่ซื้อขายกันก็มีราคาต่ำกว่าราคาตลาดจริงเพราะการแทรกแซงอุดหนุนของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การลงทุนก่อสร้างตึกที่อยู่อาศัยจำนวนมากเหล่านี้ น่าจะเกิดขึ้นก่อนเวลาอันสมควร (non-optimal development time) ทำให้กลายเป็นการก่อสร้างอาคารที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้งานในระยะยาวได้ แม้รัฐบาลจีนจะมองว่ายังมีผู้คนจำนวนมากจากชนบทที่พร้อมอพยพเข้าไปอยู่ในเมืองเหล่านั้นได้ในอนาคตก็ตาม แต่หากเศรษฐกิจจีนไม่ขยายตัวมากตามที่คาดหวังไว้ ผู้ซื้อห้องพักอาศัยจำนวนมากก็จะไม่สามารถผ่อนชำระค่าห้องพักอาศัยที่ซื้อทิ้งไว้ รัฐบาลอาจเข้ามาช่วยเหลือผู้ซื้อห้องพักอาศัยเหล่านั้นได้อยู่ เพราะรัฐบาลจีนยังมีสัดส่วนของหนี้ต่อจีดีพีที่ต่ำ จึงยังสามารถขยายสินเชื่อต่อไปท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทางการของสหรัฐ จะให้ผลที่แตกต่างกันสองประการคือ
ประการแรก การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทางการสหรัฐ จะทำให้กระแสเงินทุนในที่ต่างๆ ไหลกลับไปที่สหรัฐอเมริกาซึ่งคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐก็จะดูดซับปริมาณเงินบางส่วนออกจากระบบด้วย ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งขึ้นในภูมิภาคเอเชียเมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน จีนจึงสามารถส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐได้มากขึ้น และเมื่อผนวกเข้ากับความต้องการบริโภคภายในประเทศของจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นตามยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนแล้ว ก็อาจจะผลักดันให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ต่อเนื่องต่อไป

แต่ประการที่สองของการปรับขึ้นดอกเบี้ยทางการของสหรัฐที่ทำให้เงินทุนจากที่ต่างๆ ไหลไปยังสหรัฐนั้น จะมีผลทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินของเอกชนและนักพัฒนาที่ดินในจีนปรับตัวสูงเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้กู้บางส่วนไม่สามารถชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นได้ทันกำหนดเวลา นำไปสู่ปัญหาหนี้เสียและการล้มละลายของสถาบันการเงินที่เป็นผู้ปล่อยกู้โดยตรงหรือโดยผ่านทางรัฐที่ให้การอุดหนุนก็แล้วแต่

นอกจากนี้ สถาบันการเงินที่เหลือรอดอยู่นั้น ก็อาจจะรวมตัวกันไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากหนี้สูญ ดังนั้นหากรัฐบาลจีนไม่สามารถแทรกแซงให้ความช่วยเหลือกับนักลงทุนได้มากเพียงพอแล้ว ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาหนี้เสียที่ลุกลามใหญ่โตได้ นอกจากนี้การหดตัวของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็จะส่งผลต่อไปยังภาคการผลิตอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกัน ทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมหดตัวมากขึ้นในที่สุด

แต่ถ้าหากว่ารัฐบาลจีนยังคงฝืนขยายสินเชื่อเพื่อกระตุ้นการลงทุนต่อไปเรื่อยๆ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาราคาฟองสบู่ที่ควบคุมไม่ได้ตามมาในที่สุด เพราะบทเรียนเรื่องอุปทานส่วนเกินและปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้เกิดขึ้นหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระและมักกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่หายขาด เพราะว่ารัฐบาลมักจะหลีกเลี่ยงปัญหาด้วยการไม่ยอมใช้ยาแรงที่เด็ดขาด ทำให้ฟองสบู่ที่เกิดขึ้นขยายตัวโตต่อไปจนเกินกว่าจะควบคุมได้ หรือกลายสภาพไปเป็นฟองสบู่ลูกใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

ตัวอย่างในอดีตที่ยืนยันได้ชัด ก็คือ กรณีของธนาคารกลางสหรัฐที่ดำเนินการกำหนดอัตราดอกเบี้ยทางการไว้ที่ระดับต่ำเป็นเวลานานภายหลังจากฟองสบู่ในหุ้นเทคโนโลยีแตก (Dot Com Bubble) ไปเมื่อปี ค.ศ. 2000 จนนำไปสู่การเกิดฟองสบู่ในตลาดบ้านอยู่อาศัยและวิกฤตทางการเงินโลกในปี ค.ศ 2008 แต่หลังจากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐก็ได้ใช้มาตรการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลเพื่อคงอัตราดอกเบี้ยทางการไว้ที่ร้อยละศูนย์จนกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์จีนในปัจจุบัน

เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเหล่านี้ ภาคเอกชนไทยที่ทำการลงทุนและทำการค้าร่วมกับจีน รวมทั้งรัฐบาลไทยที่มีแผนจะร่วมลงทุนด้านโครงสร้างระบบคมนาคมขนส่งระยะยาวกับรัฐบาลจีน ควรต้องเพิ่มความระมัดระวังในการทำสัญญาข้อตกลงความร่วมมือต่างๆ ให้รัดกุมและครอบคลุมความเสี่ยงที่จะเกิดจากปัญหาหนี้เสียและความผันผวนต่างๆ ที่สืบเนื่องจากการหดตัวของเศรษฐกิจจีนในอนาคตโดยไม่ประมาท


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Fed Funds Rate กับปัญหาหนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน

view