สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความตกลงทีพีพี (1)

ความตกลงทีพีพี (1)
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ประเทศนิวซีแลนด์ประเดิมเปิดเผยความตกลงทีพีพีฉบับเต็ม ซึ่งน่าจะทำให้มีการวิเคราะห์

เอกสารดังกล่าวออกมาอย่างต่อเนื่องใน 3-4 เดือนข้างหน้า

ผมเองก็ยังไม่ได้อ่านเอกสารดังกล่าว และคงจะใช้เวลาอีกเป็นเดือนกว่าจะเข้าในรายละเอียดทั้งหมด โดยจะต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อธิบายความให้เพราะมีหัวข้อเจรจา (chapter) มากถึง 30 หัวข้อ และน่าจะมีความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,000 หน้า

ทีพีพีนั้นถูกบางกลุ่ม เช่น สหภาพแรงงานและเอ็นจีโอ ต่อต้านมาตั้งแต่ต้น และถูกโจมตีอย่างมาก เพราะการเจรจาทีพีพีเป็นการเจรจาลับมาโดยตลอด ทำให้ถูกกล่าวหาว่า เป็นการเจรจาเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของนายทุนเป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มเดียวที่รัฐบาลรับข้อมูลและขอคำปรึกษา จึงรู้เรื่องในสาระสำคัญมาโดยตลอด (และคงจะผลักดันผลประโยชน์ของฝ่ายตน) แตกต่างจากประชาชนทั่วไป ที่ไม่สามารถรับรู้ข้อมูล จนกระทั่งวันนี้ที่เพิ่งมีการเปิดเผยความตกลงทีพีพีฉบับเต็ม

นอกจากนั้น ยังมีการกล่าวอ้างกันด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐซึ่งเป็นแกนนำของการเจรจา ดำเนินการเจรจาโดยมิได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาสหรัฐ จึงจะถูกรัฐสภาต่อต้านอย่างมาก ซึ่งไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงมากนัก เพราะตามกฎหมายสหรัฐนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐมีอำนาจเจรจาความตกลงกับต่างประเทศอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องแจ้งให้รัฐสภาทราบ แต่เมื่อเจรจาจนได้ข้อตกลง ก็จะต้องนำข้อตกลงดังกล่าว เสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก และกระบวนการพิจารณากฎหมาย ก็จะเหมือนกับการพิจารณากฎหมายฉบับอื่นๆ

ในความเป็นจริง อำนาจเจรจาดังกล่าวของประธานาธิบดีสหรัฐนั้น ไม่สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จในทางปฏิบัติได้ เพราะหากทำการเจรจาข้อตกลงกับต่างประเทศ โดยการต่อรองผลประโยชน์จนเป็นที่พอใจ ของรัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลคู่เจรจาแล้ว ประธานาธิบดีต้องนำข้อตกลงดังกล่าว ให้สภาอนุมัติตามวาระ 1, 2 และ 3 ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเปิดโอกาสให้รัฐสภาแก้ไขข้อตกลงตามอำเภอใจได้ (ในวาระ 2)

หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่า ประธานาธิบดีสหรัฐไม่มีอำนาจเจรจาจริง เพราะไม่มีรัฐบาลต่างประเทศใดยอมเจรจาทำข้อตกลงด้วย เนื่องจากข้อตกลงจะต้องถูก “รื้อ” โดยรัฐสภา

รัฐบาลสหรัฐจึงต้องเสนอกฎหมายขออำนาจพิเศษจากรัฐสภา ที่เรียกว่า fast track authority คือการที่รัฐสภาสหรัฐรับว่า เมื่อฝ่ายบริหารเจรจาจัดทำข้อตกลงเสร็จแล้ว ก็จะนำเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบโดยเสียงข้างมากทั้งฉบับ แก้ไขข้อตกลงไม่ได้เลย

กล่าวโดยสรุปคือ การที่ประธานาธิบดีโอบามาขับเคลื่อนให้รัฐสภาสหรัฐ ต่ออายุอำนาจพิเศษดังกล่าวเมื่อ 3 เดือนที่แล้วไปอีก 3 ปี ก็แปลว่า ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา และมีความเป็นไปได้สูง ที่สหรัฐจะขับเคลื่อนให้ความตกลงทีพีพีประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

ขั้นตอนต่อไปคือ รัฐสภาและสาธารณชนสหรัฐ จะมีระยะเวลาอีกประมาณ 3 เดือน ในการรับรู้และประเมินความตกลงทีพีพี และประธานาธิบดีโอบามาคงจะนำความตกลงทีพีพีเสนอต่อสภา เพื่อให้ความเห็นชอบแบบ “รับหรือไม่รับ” ทั้งฉบับประมาณต้นปีหน้า

ทั้งนี้ เพราะปีหน้าเป็นปีเลือกตั้งประธานาธิบดี และพรรคเดโมแครต โดยรวมน่าจะไม่สนับสนุนทีพีพี (เพราะมีฐานเสียงเป็นสหภาพแรงงาน และกลุ่มเอ็นจีโออยู่เป็นจำนวนมาก)

แม้แต่ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครพรรคเดโมแครตที่มีคะแนนนำ ก็ยังต้องประกาศอย่างเป็นทางการว่า ไม่สามารถสนับสนุนความตกลงทีพีพีได้ แม้ว่าเมื่อครั้งที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ นางฮิลลารี คลินตัน เคยกล่าวว่าเป็นความตกลงที่มีคุณภาพสูงส่งเป็น gold standard ของความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ หากกลับไปดูครั้งที่ประธานาธิบดีผลักดันรัฐสภาขออำนาจ fast track ก็จะเห็นว่า เสียงสนับสนุนอำนาจพิเศษดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.และ ส.ว. ของพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่เป็นพรรคที่โดยทั่วไปนั้นจะสนับสนุนกลไกตลาด ลดการแทรกแซงของรัฐ และพร้อมส่งเสริมการเปิดตลาดและการค้าเสรี

ผมได้ขยายความและเล่าความเป็นมาดังกล่าว ให้ท่านผู้อ่านมีข้อมูลที่ครบถ้วน เพื่อให้เห็นได้ว่า ความตกลงทีพีพีนั้น ไม่สามารถจะสรุปได้อย่างรวบรัดว่า เป็นความตกลงที่อเมริกาได้ผลประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว คนอื่นเสียเปรียบทั้งหมด

            เพราะรัฐบาลอื่นๆ อีก 11 ประเทศ ก็ย่อมจะต้องปกป้องผลประโยชน์ของตน และหากให้ความเห็นชอบก็ย่อมจะประเมินแล้วว่า ได้เจรจาจนสุดความสามารถ จนเห็นแล้วว่าประเทศของตนได้ผลประโยชน์ไม่เสียผลประโยชน์ ทั้งนี้ เพราะหากไม่เป็นประโยชน์ก็จะต้องปฏิเสธ และไม่ให้ความเห็นชอบความตกลงทีพีพี

จากการวิเคราะห์ที่ผ่านมานั้นพอสรุปได้ว่า ประเทศที่มีการคัดค้านรุนแรงมากที่สุด น่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา กล่าวคือโอกาสที่ความตกลงทีพีพีจะถูกคว่ำนั้น มีความเป็นไปได้สูงสุดที่อเมริกา ดังนั้น จึงไม่ควรด่วนสรุปว่า อเมริกาจะได้ประโยชน์เต็มๆ อยู่ประเทศเดียวจากทีพีพี

อีกประเด็นหนึ่งที่กล่าวอ้างกันคือ ความตกลงทีพีพีนั้นเป็นประโยชน์กับบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ แต่เป็นการเอาเปรียบคนจน ซึ่งคงจะมีการกล่าวอ้างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ว่าบริษัทยาและบริษัทรถยนต์จะได้ประโยชน์มากที่สุด แต่ผู้ที่ติดตามข่าวจะพบว่า สมาคมผู้ผลิตยาสหรัฐแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการว่า ยังไม่สามารถสนับสนุนความตกลงทีพีพีได้ จนกว่าจะเห็นรายละเอียดของความตกลง และคงจะผิดหวังไม่น้อย

เนื่องจากข้อเรียกร้องที่สำคัญคือ ต้องการให้ประเทศสมาชิกทีพีพีออกกฎหมายคุ้มครองสูตรยา (ไม่ให้ผู้อื่นนำไปใช้ผลิตยาตำรับสามัญ) ยาวนานถึง 12 ปี แต่ปรากฏว่าผู้เจรจาของสหรัฐต้องยอมตกลงที่ 5 ปี (ซึ่งเป็นกฎหมายเดิมของออสเตรเลีย และประเทศส่วนใหญ่ในทีพีพีอยู่แล้ว) โดยจะสามารถเจรจาขยายเวลาคุ้มครองออกไปได้อีก 3 ปี เป็นกรณีๆ ไป

จะเห็นได้ว่ามีการเจรจาต่อรองกันอย่างเข้มข้น และไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์อย่างที่ต้องการไปทั้งหมด

ในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นนั้น ก็หวังจะให้สหรัฐลดภาษีรถกระบะขนาดใหญ่ (2 ตัน) ซึ่งสหรัฐตั้งกำแพงภาษีสูง และต้องการให้สามารถนำเอาชิ้นส่วนจากไทยมาผลิตรถยนต์ เพื่อขายในกลุ่มทีพีพีได้ โดยไม่เสียภาษี แต่ก็ถูกต่อต้านจนต้องยอมให้สหรัฐคงกำแพงภาษีนานถึง 20 ปี และต้องใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศทีพีพีมากถึง 55% (ตามความเข้าใจของผมซึ่งอาจคลาดเคลื่อนบ้าง ต้องตรวจสอบยืนยันอีกที) แม้ว่าญี่ปุ่นต้องการให้ลดสัดส่วนลงเหลือ 30%

นอกจากนั้น บริษัทรถยนต์สหรัฐ โดยมีฟอร์ดเป็นแกนนำ ประกาศไม่ยอมสนับสนุนความตกลงทีพีพี เพราะไม่พอใจที่รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถนำเอาเรื่องบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงทีพีพีได้

บริษัทรถยนต์สหรัฐ ต้องการให้มีกลไกลงโทษประเทศที่ลดค่าเงินของตน โดยบริษัทรถยนต์สหรัฐมองว่า จะเป็นการทำให้ผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐเสียเปรียบในที่สุด รัฐบาลสหรัฐโน้มน้าวให้รัฐมนตรีทีพีพีแถลงข้อตกลงร่วมกันที่แยกออกจากทีพีพีว่า จะไม่ลดค่าเงินเพื่อเอาเปรียบประเทศคู่ค้า โดยจะมีการตรวจสอบในกรอบของไอเอ็มเอฟ ตลอดจนจะสามารถร้องเรียนให้มาปรึกษาหารือกันได้ แต่ไม่มีกลไกลงโทษประเทศที่ลดค่าเงินตามความต้องการของบริษัทรถยนต์สหรัฐ

ทีพีพีเป็นข้อตกลงที่มีความสลับซับซ้อนมาก จึงไม่ควรด่วนสรุปว่า เป็นการทำประโยชน์ให้กับคนรวยและเอาเปรียบคนจน หรือเพื่อประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติเป็นหลัก

ขณะเดียวกัน การประเมินทีพีพีอย่างระมัดระวังนั้น ไม่ควรจะใช้เวลาพิจารณา 3,4,5 ปี เพื่อให้เกิดความ “ชัดเจน” เพราะหากไทย “ตกรถไฟ” และรอจนเห็นชัดว่าตกรถไฟแล้ว ก็แปลว่ารถไฟออกจากสถานีไปไกลกว่าที่จะวิ่งตามทันครับ เช่น เวียดนามและมาเลเซีย เป็นสมาชิกทีพีพี แต่ไทยอยู่นอกทีพีพี

หากไทยใช้เวลาศึกษาว่า ควรเข้าร่วมทีพีพีอย่างยาวนานจนเห็นชัดเจนว่า นักลงทุนย้ายฐานไป 2 ประเทศดังกล่าว ทำให้การส่งออกของไทยตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์แล้ว ก็แปลว่าไทยจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างที่เรียกกลับมาไม่ได้อีกครับ



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความตกลงทีพีพี (1)

view