สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เขตเศรษฐกิจพิเศษเวียดนาม

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ พร้อมรับเออีซีหรือยัง? โดย สกุณา ประยูรศุข

ยังว่าด้วยเรื่องเวียดนามต่ออีก ซึ่งคราวนี้มีข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะไปลงทุนใน เขตเศรษฐกิจพิเศษ ของเวียดนาม โดยในประเทศนี้เขาได้กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษมานานแล้ว เพื่อให้เป็นกลไกในการดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ โดยเวียดนามศึกษาแนวทางและรูปแบบต่าง ๆ ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งจากไต้หวัน สิงคโปร์ และจีน เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามได้รับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับที่เมืองไทยกำลังจะทำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษในเวียดนาม แบ่งเป็นดังนี้ 1.Export Processing Zone (EPZ) เป็นเขตเศรษฐกิจที่รวมอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ซึ่งเน้นผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก มีการจัดระบบสาธารณูปโภคเพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกด้านการผลิต นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนใน EPZ สามารถทำการผลิต รับช่วงต่อ (Subcontract) และประกอบชิ้นส่วนสินค้าเพื่อการส่งออก

2.Industrial Zone (IZ) หรือ Industrial Park เป็นเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ 3.High-Tech Zone (HTZ) เป็นเขตเศรษฐกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมทั้งผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงเป็นสำคัญ



แต่ถ้าแบ่งเป็นรายภาคแล้ว เวียดนามมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ คือ ภาคใต้ ของเวียดนาม ประกอบด้วย 19 จังหวัด มี "นครโฮจิมินห์" เป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ภาคใต้มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างสมบูรณ์ และระบบสาธารณูปโภคที่มีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ

เขตเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ 1.Tan Thuan Export Processing Zone (Tan Thuan EPZ) เป็น EPZ แห่งแรกของเวียดนาม มีพื้นที่รวมประมาณ 1,900 ไร่ (300 เฮกตาร์) เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง Tan Thuan Industrial Promotion Company ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของเวียดนาม และ Central Trading and Development Group ของไต้หวัน ตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือในนครโฮจิมินห์ 4 แห่ง คือ Ben Nghe, Tan Thuan, Saigon และ VICT 1 อยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติ Tan Son Nhat เพียง 12 กิโลเมตร

2.Bien Hoa 2 Industrial Zone (Bien Hoa 2 IZ) ก่อตั้งขึ้นโดยบริษัท SONADEZI ของเวียดนาม เมื่อปี 2538 มีพื้นที่ประมาณ 2,000 กว่าไร่ (365 เฮกตาร์) ตั้งอยู่ที่เมือง Bien Hoa สิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในเขต Bien Hoa 2 คือค่าเช่าที่ดินคงที่เป็นระยะเวลา 30-35 ปี และสามารถแบ่งชำระค่าเช่าที่ดินเป็นงวด ๆ ได้ หากชำระค่าเช่าที่ดินงวดละ 5-15 ปี จะได้รับส่วนลดร้อยละ 5-15 ของอัตราค่าเช่า

ภาคเหนือ ประกอบด้วย 26 จังหวัด มีเมืองสำคัญ คือ ฮานอย ซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์ราชการของประเทศ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.Nomura-Haiphong Industrial Zone (Nomura-Haiphong IZ) เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง Haiphong Industrial Zone Development Company ของเวียดนาม และ JAFCO Investment (Asia Pacific) Ltd. ของญี่ปุ่น มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ (153 เฮกตาร์) เปิดดำเนินการในปี 2537 ตั้งอยู่ที่ตำบล An Hai จังหวัด Hai Phong

2.Thuy Van Industrial Zone จัดตั้งขึ้นโดย Phu Tho Management Board of Industrial Zone ของเวียดนาม เมื่อปี 2540 มีพื้นที่ราว 2,000 ไร่ (323 เฮกตาร์) ตั้งอยู่จังหวัด Phu Tho ห่างจากท่าเรือ Viet Tri River Port 7 กิโลเมตร และห่างจากสนามบิน Noi Bai 55 กิโลเมตร

ภาคกลาง แบ่งพื้นที่ออกเป็น 19 จังหวัด เขตเศรษฐกิจพิเศษที่น่าสนใจ คือ Dungquat Economic Zone จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเวียดนาม ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ 2 จังหวัด คือ จังหวัด Quang Ngai และจังหวัด Quang Nam อยู่ห่างจากเมืองฮานอย 880 กิโลเมตร และสามารถเชื่อมต่อไปยังท่าเรือน้ำลึก Dung Quat สนามบินนานาชาติ Chu Lai และเมืองใหม่ Van Tuong ได้

Dungquat Economic Zone เป็นเขตเศรษฐกิจแห่งแรกที่เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมัน (ปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน Dung Quat ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของเวียดนาม)

เป้าหมายของเวียดนามในเวลานี้ คือ ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ได้มากที่สุด ซึ่งการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2534 ถือเป็นหัวใจสำคัญในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลเวียดนามเองได้ทุ่มเททรัพยากรด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ

ขณะเดียวกันรัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าหมายว่าเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัว 6.7% ในปี 2559-2563 พร้อมคาดว่าจีดีพีต่อหัวจะอยู่ที่ 2,450 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2559 และ 3,750 ภายในปี 2563 เขตเศรษฐกิจพิเศษจะต้องผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การส่งออกผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษก็จะต้องมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นด้วย และเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับปี 2559-2563 เวียดนามจึงพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบอิงตลาดสังคมนิยม สร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค สร้างสภาพแวดล้อมและแรงกระตุ้นสำหรับการพัฒนาสังคม-เศรษฐกิจ

พร้อมผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างรูปแบบการพัฒนาความสามารถด้านการผลิตและการแข่งขัน

ดูจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจแล้วแม้ว่ารัฐบาลจะลดค่าเงินด่องอย่างต่อเนื่องแต่ด้วยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เข้มงวดขึ้น ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง เวียดนามยังมีความท้าทายที่น่าไปลงทุน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เขตเศรษฐกิจพิเศษเวียดนาม

view