สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถอดรหัส แมชชีน เลิร์นนิ่ง ดันทักษะ กูเกิล อัจฉริยะได้อีก

ถอดรหัส ‘แมชชีน เลิร์นนิ่ง’ ดันทักษะ‘กูเกิล’ อัจฉริยะได้อีก

โดย :

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"กูเกิลจะก้าวไปถึงระดับ แปลภาษา จดจำใบหน้า ระบบจีเมลที่ฉลาดขึ้น แยกอีเมล์ขยะและอีเมลตัวจริง"

ภาพในจินตนาการของผู้คนที่จะได้เห็นคอมพิวเตอร์สามารถคิด หรือมีระบบสมองใกล้เคียงมนุษย์ ขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงอีกขั้น เมื่อยักษ์ใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ต และขึ้นชื่อในโลกของเสิร์ช เอ็นจิ้นอย่าง “กูเกิล” ประกาศเป้าหมายชัดเจน ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีกูเกิลให้ฉลาดได้มากกว่าที่เคยเป็น


“การ พัฒนาให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ได้แบบแมชชีน เลิร์นนิ่งมีมานานแล้ว แต่เพิ่งเห็นความก้าวหน้าอย่างชัดเจนเมื่อราว 3 ปีหลัง และกูเกิลก็เป็นผู้นำในเทคโนโลยีนี้มาโดยตลอด และก็เชื่อว่าแมชชีน เลิร์นนิ่งจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้กูเกิลทำงานได้ฉลาดมากขึ้นไปอีก”


“อีริค ชมิดต์” ประธานผู้บริหารกูเกิล ภายใต้กลุ่มบริษัทอัลฟาเบ็ต กล่าวผ่านวีดิโอ คอนเฟอเรนซ์ ระหว่างพบปะสื่อมวลชนจากเอเชียภายในงาน “เดอะ เมจิค อิน เดอะ แมชชีน” จัดขึ้นที่สำนักงานของกูเกิลใน กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น


บอสใหญ่กูเกิล ย้ำว่า แม้จะไม่สามารถคาดเดาอนาคตของกูเกิลได้ว่า จะเติบได้เพียงใด แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ หากสิ่งที่แน่นอนคือ บริษัทต้องการพัฒนาให้กูเกิลฉลาดขึ้น สามารถหาคำตอบ ให้ข้อมูลแนะนำต่างๆได้ และสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น คุณภาพของผลการค้นหาที่ดีขึ้น

‘เทนเซอร์โพลว์’ เปิดกว้างนักพัฒนา
โดยปัจจุบันกู เกิลมีทีมพัฒนาแมชชีน เลิร์นนิ่งในมุมต่างๆ มากกว่าร้อยทีม และมีเครื่องไม้เครื่องมือ ที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาภายนอกสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาความฉลาด ให้กับคอมพิวเตอร์ได้ผ่านโปรเจค "เทนเซอร์ โฟลว์ (TensorFlow)” ซึ่งเป็นโครงการฟรีโอเพ่นซอร์สสำหรับการพัฒนาแมชชีน เลิร์นนิ่ง ที่เพิ่งเปิดตัวในเดือนนี้


“ภาพของหุ่นยนต์ในหนังไซไฟส่วนใหญ่แล้ว จะนำเสนอการพัฒนาที่ในที่สุดแล้วจะกลายเป็นหุ่นยนต์อธรรมต่อสู้กับคนดี แต่การพัฒนาหุ่นยนต์ในมุมกูเกิล คือ การนำไปใช้ในงานและบริการต่างๆ มากกว่า เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาด หรือหุ่นยนต์บริการต่างๆ”

นอกเหนือจากการพัฒนาความก้าวหน้าของกูเกิลแล้ว ความท้าทายในธุรกิจอินเทอร์เน็ตก็ยังมีอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะความปลอดภัย และความเท่าเทียมในการใช้งานซึ่งขณะนี้ประชากรโลกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพียง 3,000 ล้านคนเท่านั้น แม้จะมีมือถือใช้งานกันแพร่หลาย แต่สำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตแล้วก็ยังไม่ทั่วถึง

“กูเกิลมีเป้าหมายที่ต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และมีแมชชีน เลิร์นนิ่ง ให้เป็นมิตรต่อผู้ใช้งานให้มากขึ้น”

สมองกลเลียนแบบมนุษย์ 

อย่างไรก็ตาม นิยามการพัฒนาแมชชีน เลิร์นนิ่ง ที่ซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายให้จบได้ง่ายๆ ใจความสำคัญหลัก คือ กระบวนการพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบให้สามารถคิดได้เหมือนกับสมองมนุษย์ ผ่านการออกแบบซอฟต์แวร์ที่ทำให้ระบบเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมาก และการจำสิ่งที่ผิดและถูกเพื่อคาดเดาผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความถูกต้องให้มาก ที่สุด 

ทั้งนี้จะทำให้เทคโนโลยีของกูเกิลสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และ บริการต่างๆที่ไม่หยุดแค่เพียงเครื่องมือค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต แต่ยังก้าวไปถึงระดับที่ใช้งานในด้านต่างๆ เช่น การแปลภาษา การจดจำใบหน้า ระบบจีเมลที่ฉลาดมากขึ้นแยกแยะขยะ และอีเมลตัวจริงได้จากการเรียนรู้ข้อมูลและพฤติกรรมผู้ใช้งาน

“เกรก คอร์ราโด” นักวิทยาศาสตร์วิจัยอาวุโส ของกูเกิล บอกว่า แมชชีน เลิร์นนิ่ง ต่างจาก “เอไอ หรือสมองกลอัจฉริยะ” ตรงที่เอไอเป็นระบบย่อย หรือซับเซตที่ทำให้คอมพิวเตอร์ฉลาดขึ้นเท่านั้น แต่แมชชีน เลิร์นนิ่ง เป็นกลไกที่คอมพิวเตอร์จะคิดได้จากการประมวลผลข้อมูลมหาศาล หาความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่างๆ เชื่อมโยงกันแล้วคาดการณ์ผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นออกมา ซึ่งต่างจากการพัฒนาคอมพิวเตอร์แบบเดิมที่ใช้การเขียนโค้ดโปรแกรมเพื่อสั่ง ให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามตรรกะที่ใส่ลงไป

เขายกตัวอย่าง บริการ "กูเกิล โฟโต้” ที่เปิดตัวในปีนี้ก็ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่สามารถจัดกลุ่มภาพได้แบบ อัตโนมัติและจำแนกให้เสร็จสรรพซึ่งข้อดีคือ ทำให้การค้นหารูปทำได้ง่ายขึ้น

“คริส เพอร์รี” ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ กูเกิล โฟโต้ บอกว่า "กูเกิล โฟโต้” เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับการเก็บไฟล์ภาพและวีดิโอ ที่สามารถบริหารจัดการช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิตได้แบบอัตโนมัติ ด้วยการจัดกลุ่มภาพจากฟังก์ชั่นการจดจำที่จำแนกสิ่งต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สถานที่ หรือสิ่งของ
เบื้องหลัง คือ การใช้เทคโนโลยีเอไอ และการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของภาพแบบอัจฉริยะเช่นเดียวกัน โดยหลังจากเปิดตัวเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมามีผู้ใช้งานกูเกิล โฟโต้แล้วกว่า 100 ล้านรายทุกเดือน

นอกจากนี้ ยังมีบริการ “กูเกิล ทรานสเลท” ที่เดิมสามารถแปลข้อความจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่งแต่สำหรับคุณสมบัติ ใหม่สามารถแปลได้ทั้งข้อความ หรือภาพที่เป็นตัวอักษร เช่น การใช้กล้องถ่ายภาพป้ายในภาษาต่างๆให้เป็นภาษาที่เข้าใจได้ ซึ่งเบื้องหลังก็คือ ระบบจะเรียนรู้จากคลังข้อมูลมหาศาลที่มีการแปลในภาษาต่างๆ และใช้การคาดเดาความน่าจะเป็นของภาษาออกมาว่าแปลว่าอะไร

“แมชชีน เลิร์นนิ่ง แนวทางใหม่ คือ การทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ได้ ไม่ใช่เวทมนต์วิเศษ แต่เป็นเครื่องมือที่เกิดจากการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์อย่างค่อยเป็นค่อยไป เหมือนคนเรียนรู้ช้า และต้องการตัวอย่างจำนวนมากๆเพื่อให้มันสามารถวิเคราะห์และประมวลผลได้ตรง มากขึ้น”
กูเกิลทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา และยังทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และเชื่อว่าการมีเทนเซอร์ โฟลว์ จะทำให้ผู้คนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาได้ง่ายขึ้น

'ยูทูบ สเปซ’ ตอบโจทย์คอนเทนท์ ครีเอเตอร์
นอก เหนือจากการพัฒนาระบบกลไลหลังบ้านเพื่อให้เทคโนโลยีสามารถก้าวถึงจุดที่ทำ ได้เหนือกว่าจินตนาการมนุษย์จะก้าวไปถึง “กูเกิล” ยังเพิ่มบทบาทการผลักดันระบบอีโค่ซิสเต็มส์บนโลกอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมถึง การพัฒนาด้านคอนเทนท์ด้วย

“ยูทูบ สเปซ” ที่กรุงโตเกียว เป็นหนึ่งในผลงานสะท้อนความพยายามดังกล่าว

“เดวิด แมคโดนัล” หัวหน้ายูทูบ สเปซ ประจำเอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า เป้าหมายของยูทูบ สเปซคือให้นักสร้างสรรค์มีโอกาสเรียนรู้ และทำความรู้จักกับนักสร้างสรรค์รายอื่นๆ ตลอดจนเป็นพื้นที่สำหรับสร้างแรงบันดาลใจ นวัตกรรม และการทดลองรูปแบบใหม่ๆสำหรับการสร้างสรรค์คอนเทนท์เพื่อนำเสนอผ่านยูทูบ
โดย ที่ยูทูบ สเปซมีพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมือตั้งแต่ระดับเบสิกจนถึงสตูดิโอพรีเมียมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ 4เค ให้บริการฟรีสำหรับผู้ใช้ที่ได้รับสิทธิ ซึ่งจะคัดจากผู้ที่มีชาแนลบนยูทูบและมีสมาชิกหรือผู้ติดตามตามเกณฑ์ที่กำหนด

“ยูทูบ สเปซที่โตเกียว เป็นแห่งแรกในเอเชียจากทั้งหมดตอนนี้มี 8 ที่ทั่วโลก และใน ธ.ค.จะเปิดที่มุมไบอีกแห่ง เพื่อให้เกิดสังคมของการเรียนรู้ การพบปะแลกเปลี่ยนกัน และสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ”


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถอดรหัส แมชชีน เลิร์นนิ่ง ดันทักษะ กูเกิล อัจฉริยะได้อีก

view