สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โจรทิม โจรวาสนาดี พระพุทธเจ้าหลวงราชรับสั่ง มันพูดจริง เราก็จะให้มันเห็นผลความจริง

“โจรทิม”โจรวาสนาดี พระพุทธเจ้าหลวงราชรับสั่ง “มันพูดจริง เราก็จะให้มันเห็นผลความจริง”!!!

โดย โรม บุนนาค

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“โจรทิม”โจรวาสนาดี พระพุทธเจ้าหลวงราชรับสั่ง “มันพูดจริง เราก็จะให้มันเห็นผลความจริง”!!!
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

       ใน พ.ศ. ๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับฎีกานักโทษในคุกทูลเกล้าฯถวายมาทางไปรษณีย์ฉบับหนึ่ง มีข้อความค่อนข้างแปลก จึงโปรดให้นำมาอ่านในที่ประชุมเสนาบดี
       
        นักโทษเจ้าของฎีกานี้มีชื่อว่า ทิม เป็นชาวเมืองอินทบุรี ต้องโทษจำคุกในคดีปล้นทรัพย์ ความที่กราบทูลในฎีกานั้นโจรทิมกล่าวว่า ตั้งแต่ต้องโทษจำคุก พัศดีจ่ายให้ไปทำงานในกองจักสาน ได้ฝึกหัดจักสานจนมีความชำนาญ จึงตั้งใจไว้ว่าจะฝึกจักสานจนมีฝีมือที่ไม่มีใครทั้งคุกสู้ได้ แล้วจะทำสิ่งหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเห็นฝีมือ ถ้าทรงโปรดในของสิ่งนั้น ก็จะขอพระราชทานอภัยโทษให้พ้นคุก และจะออกบวชเป็นพระภิกษุจำศีลภาวนาไปตลอดชีวิต ไม่หวนกลับไปประพฤติชั่วเหมือนในอดีตอีก
       
        บัดนี้โจรทิมต้องโทษจำคุกมา ๑๐ ปีแล้ว ได้พยายามทำของที่ตั้งใจไว้จนสำเร็จ จึงขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวาย ถ้าโปรดฝีมือที่ทำ โจรทิมก็จะขอพระราชทานอภัยโทษ ออกบวชตามที่ตั้งใจไว้
       
        ในท้ายของฎีกาโจรทิมยังให้คำสัญญาว่า ถ้าข้อความที่กราบทูลเป็นความเท็จแม้แต่ข้อหนึ่งข้อใด ก็จะขอรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิต
       
        เหตุที่โจรทิมยื่นถวายฎีกานี้ ก็เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมาย คงใช้แต่ประเพณี การตัดสินโจรผู้ร้าย ตระลาการจะสั่งแต่เพียงให้เอาตัวไปจำขัง แต่ไม่ได้กำหนดว่ากี่ปี จะพ้นโทษออกมาได้ก็ต่อเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานอภัยโทษให้ นักโทษในคุกมักจะต้องถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เดิมมักให้ญาติช่วยยื่นฎีกา ต่อมาเมื่อมีการไปรษณีย์ นักโทษก็จะใช้วิธียื่นทางไปรษณีย์เอง ฎีกาคนคุกเหล่านี้จึงมีจำนวนมาก แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดเป็นพระราชนิยมไว้ว่า โทษอย่างใดติดมานานแค่ไหน หรือทำความดีความชอบเป็นพิเศษก็จะทรงพิจารณา ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ก็ทรงยกฎีกาเสีย สำหรับโจรทิมนี้ติดคุกมา ๑๐ ปีแล้ว ถือว่านานพอควร ทั้งยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจ
       
        เมื่อได้อ่านฎีกาต่อที่ประชุมเสนาบดีแล้ว จึงดำรัสสั่งให้กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ขณะยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น และเป็นผู้บัญชาการกระทรวงนครบาล ให้ไปสอบสวนดูว่าที่โจรทิมอ้างในคำฎีกานั้น มีความจริงเพียงไร
       
        ในการประชุมเสนาบดีครั้งต่อมา กรมพระนเรศฯ จึงได้นำกาถังน้ำร้อนที่โจรทิมบรรจงสานมาถวาย และกราบทูลว่าคำที่โจรทิมอ้างนั้นสอบสวนได้ความจริงทุกข้อ
       
        พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรกาถัง เห็นว่าฝีมือประณีตดีจริง มีพระราชดำรัสว่า
       
        “มันพูดจริง เราก็จะให้มันเห็นผลความจริง”
       
        จึงทรงพระกรุณาโปรดยกโทษพระราชทานโจรทิม และดำรัสสั่งกรมพระนเรศฯ ให้ส่งตัวไปให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ จัดการบวชโจรทิมเป็นนาคหลวง
       
        กรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์ตอนนี้ไว้ว่า
       
        “สมัยนั้น นักโทษยังต้องจองจำอยู่ในคุกเดิมที่หน้าวัดพระเชตุพนฯ เมื่อกรมนครบาลคุมตัวโจรทิมไปส่ง ฉันแลเห็นดูผิดมนุษย์จนน่าสังเวช ด้วยผมยาวรุงรัง ทั้งหัวเนื้อตัวก็ขะมุกขะมอมอย่างว่า“ขี้ไคลท่วมหัว” มีแต่ผ้าขาดนุ่งติดตัวไป แต่สังเกตดูกิริยาอัชฌาสัยเรียบร้อย รุ่นราวเป็นคนกลางคนสัก ๔๐ ปีเศษ ฉันรับตัวไว้แล้วต้องเริ่มด้วยให้อาบน้ำ ถูขี้ไคล ตัดผม แล้วให้เครื่องนุ่งห่มใหม่ จัดให้อยู่ในบ้านฉันจนกว่าจะไปบวช แต่แรกคนในบ้านออกจะพากันกลัวด้วยได้ยินว่าเป็นโจร แต่เมื่อรู้เรื่องที่โจรทิมทูลขอจึงพากันสงสารสิ้นรังเกียจ ช่วยอุปการะเลี้ยงดูด้วยเมตตาจิตทั่วทั้งบ้าน ส่วนการที่จะบวชนั้น ฉันปรึกษากับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์) เวลานั้นยังเป็นที่พระยาวุฒิการบดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ เห็นว่าควรให้บวชอยู่วัดพระเชตุพนฯ ให้ไปบอกพระราชาคณะ เจ้าอาวาสก็ยินดีจะรับพระทิมไว้ในวัดนั้น ฉันให้ไปเบิกผ้าไตรกับเครื่องบริขารของหลวงมาแล้ว ถึงวันกำหนดจึงให้นายทิมแต่งตัวนุ่งผ้ายก สวมเสื้อครุยตามแบบนาคหลวง แล้วพาตัวขึ้นรถไปยังวัดพระเชตุพนฯด้วยกันกับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์ฯ มีพวกข้าราชการในกระทรวงธรรมการและกระทรวงนครบาล กับทั้งพวกที่บ้านฉันพากันไปช่วย ข้างฝ่ายสงฆ์พระราชาคณะกับพระฐานานุกรมคณะปรก ก็พร้อมเพรียงกันทำพิธีอุปสมบทนี้ในพระอุโบสถ ดูครึกครื้นสมกับที่เป็นนาคหลวง”
       
        จากเป็นนักโทษติดคุกมา ๑๐ ปีไม่มีกำหนดออก ชีวิตของโจรทิมก็พลิกผันมาเป็นนาคหลวงพระราชทาน มีคนใหญ่คนโตมาร่วมงานบวชอย่างครึกครื้น ก็เพราะความตั้งใจมุ่งมั่นจะทำความดี จึงเห็นผลเช่นนี้
       
        เมื่อบวชแล้วพระทิมจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ ๒ พรรษาจนใน พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพย้ายมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว พระทิมก็มาขอเข้าเฝ้า ทูลว่าอาพาธเป็นโรคเหน็บชา รักษาตัวมาพอค่อยคลายขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังอ่อนเพลีย อยากจะขออนุญาตขึ้นไปอยู่ที่วัดในเมืองอินทบุรี ด้วยมีญาติพอจะอาศัยได้บ้าง กรมพระยาดำรงจึงรับสั่งว่า พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอภัยโทษและโปรดบวชให้ จึงมีอิสระที่จะไปไหนมาไหนได้ แต่ที่มาปรึกษาก็ดีแล้ว จะได้มีท้องตราไปฝากเจ้าเมืองกรมการ ให้เขาช่วยดูแลอุปการะด้วย และต่อไปถ้าจะย้ายจากเมืองอินทบุรีไปอยู่ที่ไหนอีก ก็ให้บอกเจ้าเมืองกรมการให้เขารู้ด้วย
       
        จากที่ถูกจับนำตัวไปจากอินทบุรีในฐานะโจรผู้ร้าย พระทิมก็ได้กลับไปบ้านอีกครั้งในฐานะพระภิกษุที่ได้รับพระราชทานบวชให้ และมีเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยผู้เป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้าหลวง ฝากฝังให้เจ้าเมืองกรมการเมืองดูแลอุปการะ
       
        พระทิมถือท้องตราไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเมืองอินทบุรี เงียบหายไปปีกว่า จนถึง ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) เมื่อไทยเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส พระทิมก็ลงมาเฝ้ากรมพระยาดำรงที่วัง และทูลว่า
       
        “อาตมาภาพอยู่ที่เมืองอินท์ ได้ยินว่ามีศึกฝรั่งเศสมาติดเมือง อาตมาภาพคิดถึงพระเดชพระคุณของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณาแก่อาตมาภาพมาแต่ก่อน เมื่ออาตมาภาพยังเป็นหนุ่มได้เคยเรียนคาถาอาคมสำหรับต่อสู้ศัตรูอยู่บ้าง จึงลงมาเฝ้าหมายจะถวายพระพรลาสึกไปอาสารบฝรั่งเศส สนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสร็จการรบพุ่งแล้ว ถ้ารอดชีวิตอยู่ก็จะกลับบวชอีกตามเดิม”
       
        กรมพระยาดำรงฯได้ฟังแล้วก็รู้สึกรักน้ำใจพระทิม รับสั่งให้คอยอยู่ที่วัง จะนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวก่อน เพราะเป็นนาคหลวง
       
        พระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงชอบพระราชหฤทัย ออกพระโอษฐ์ว่า
       
        “มนุษย์เรานี้ ถึงตกต่ำจนเป็นโจรผู้ร้ายแล้ว ถ้ากลับใจได้จริงๆ ก็ยังเป็นคนดีได้”
       
        มีพระราชกระแสรับสั่งทรงขอบใจพระทิมที่มีความกตัญญู คิดจะสนองพระเดชพระคุณ แต่การรบพุ่งนั้นใช้คนฉกรรจ์ที่มีกำลังมาก พระทิมอายุมากเกินไปแล้ว ให้บวชเอาบุญต่อไปเถิด พระทิมจึงกลับไปอยู่ที่วัดเมืองอินทบุรีตามเดิม
       
        ต่อมาอีกหลายปี พระทิมก็อาพาธถึงมรณภาพ ทางกรมการเมืองเห็นว่าเป็นพระที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบวชให้ และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ดูแลอุปการะ จึงปรึกษาญาติให้รอการปลงศพไว้ก่อน แล้วแจ้งมายังกรมพระยาดำรงฯให้ทรงทราบ
       
        เมื่อกรมพระยาดำรงฯนำความขึ้นกราบทูลว่าพระทิมถึงมรณภาพแล้ว พระพุทธเจ้าหลวงยังทรงจำได้ ดำรัสว่าพระทิมเป็นคนซื่อสัตย์ ถึงไม่ทรงรู้จักตัวก็ทรงอุปการะมาก่อน โปรดให้เบิกศิลาหน้าเพลิงกับผ้าสำหรับชักบังสุกุลเป็นของหลวง ส่งไปพระราชทานเพลิงศพพระทิม
       
        งานพระราชทานเพลิงศพพระทิม หรืออดีตโจรทิม จึงเป็นงานศพที่ยิ่งใหญ่ของเมืองอินทบุรี มีข้าหลวงพระราชทานเพลิงศพ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับกรมการเมือง มาเป็นเกียรติกันพร้อมหน้า
       
        สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสรุปเรื่องราวของพระ“โจรทิม” สมกับภาษิตโบราณที่ว่า “ไม้ต้นคด ปลายยังดัดเอาดีได้ ถ้าปลายคด ถึงต้นจะตรงก็ใช้ไม่ได้”.


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โจรทิม โจรวาสนาดี พระพุทธเจ้าหลวงราชรับสั่ง มันพูดจริง เห็นผลความจริง

view