สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลมหายใจค้าปลีก เครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่น (2)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ viratts.worldpress.com

เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกมาอีกระลอก ผนึกพลังกับธุรกิจใหญ่ไทย ผู้ส่งโมเดลค้าปลีกขนาดเล็ก ช่วยขยายเครือข่ายอย่างรวดเร็ว รุนแรง ส่งผลสะเทือนต่อสังคมไทยวงกว้าง

ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Stores) แห่งญี่ปุ่นรายใหญ่ เข้ามาเมืองไทยอย่างพร้อมหน้า ว่าไปแล้วความเคลื่อนไหวอันคึกคักเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

7-Eleven
เครือข่ายร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่สุดของโลกเข้ามาเมืองไทยก่อนใคร ๆ ตั้งแต่ปี 2531 มิใช่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ธุรกิจญี่ปุ่น เวลานั้น 7-Eleven ถือว่าเครือข่ายธุรกิจสหรัฐอเมริกา กำลังดำเนินแผนการขยายธุรกิจมาสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างแข่งขัน จากไต้หวัน (2523) สิงคโปร์ (2526) ฟิลิปปินส์ (2527) มาเลเซีย (2527) และในปี (2532) ที่มาเปิดกิจการในไทย นับเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ 7-Eleven ขยายกิจการสู่ฮ่องกงและเกาหลีใต้ด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่าเป็นแผนการเชิงรุกอ้างอิงมาจากความสำเร็จในญี่ปุ่นที่เริ่มร้าน 7-Eleven ครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2517

แต่แล้วในปี 2533 Southland Corporation บริษัทแม่ที่ Dallas, Texas สหรัฐอเมริกา ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก ถึงขั้นล้มละลาย ในที่สุดบริษัทผู้ถือแฟรนไชส์ 7-Eleven ในญี่ปุ่นเข้ามาถือหุ้นข้างมาก จากนั้น Southland Corporation เปลี่ยนชื่อเป็น 7-Eleven Inc. ในปี 2542 จึงถือว่า 7-Eleven เป็นเครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่นในที่สุด

ในช่วงทศวรรษแรก 7-Eleven ในประเทศไทย ภายใต้การบริหารของกลุ่มซีพี ด้วย "สัญญาได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Right)" จากประกอบธุรกิจภายใต้เครื่องหมายการค้า "7-Eleven" ในประเทศไทย ภายใต้สัญญา "Area License Agreement" แม้อยู่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดี ทั้งถือว่าแทบไม่มีคู่แข่ง แต่กลับกลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่เติบโตอย่างเงียบ ๆ โดยแทบไม่ได้อยู่ในความสนใจของสังคมธุรกิจไทยวงกว้าง อาจจะเรียกว่า 7-Eleven โมเดลร้านสะดวกซื้อที่ได้รับความสนใจน้อยกว่า Jiffy ในสถานีบริการน้ำมันของ ConocoPhillips ด้วยซ้ำ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกจังหวะเวลาหนึ่ง เครือข่ายธุรกิจอเมริกันมาจุดประกาย ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในมุมมองใหม่

ConocoPhillips
กิจการพลังงานครบวงจรรายใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก มีฐานอยู่ที่ Houston สหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญธุรกิจค้าปลีกน้ำมันพอสมควร เข้ามาดำเนินธุรกิจสถานีบริการในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2536 เปิดสถานีบริการน้ำมัน Jet โดยมีร้านสะดวกซื้อ Jiffy รวมอยู่ด้วยอย่างโดดเด่น ถือเป็นโมเดลสถานีบริการน้ำมันทันสมัย กลายเป็นผู้กำหนดทิศทางใหม่ ทั้งโมเดลสถานีบริการน้ำมัน และเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ

เป็นไปได้ว่า ช่วงเวลานั้นซีพีกำลังจับตามองด้วยความไม่แน่ใจ ในความเปลี่ยนแปลง 7-Eleven ในภาพใหญ่ จากสหรัฐมาสู่ญี่ปุ่น เมื่อความเป็นไปได้ลงตัวแล้ว เครือข่าย 7-Eleven ในประเทศไทยได้เปิดฉากธุรกิจเชิงรุกครั้งใหญ่

มีดีลสำคัญหลายกรณี เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน แน่นอน...ที่สำคัญที่สุดคือแผนการสร้างสายสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับ 7-Eleven ยุคใหม่แห่งญี่ปุ่น "ในวันที่ 20 สิงหาคม 2546 7-Eleven, Inc. ได้เข้าทำสัญญาให้ความยินยอม ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัท และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (CPG) กับ 7-Eleven, Inc. โดย 7-Eleven, Inc. ได้ตกลงให้ความยินยอมต่อการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน รวมถึงการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ" (http://www.cpall.co.th)

ในเวลาเดียวกันก็สร้างพันธมิตรธุรกิจที่สำคัญมาก ๆ กับ ปตท.เพื่อสร้างสถานีบริการน้ำมันโมเดลใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ว่าด้วยการขยายเครือข่ายร้านสะดวกซื้ออย่างก้าวกระโดด

จากทศวรรษแรก 7-Eleven มีเครือข่ายประมาณ 1,000 สาขา ได้ขยายตัวก้าวกระโดดอย่างมหัศจรรย์ อีกเพียงทศวรรษต่อมา 7-Eleven มีเครือข่ายเพิ่มขึ้นกว่า6 เท่า โมเดลร้านสะดวกซื้อ จึงได้รับกระแสความสนใจพุ่งขึ้นแรงที่สุดในบรรดาธุรกิจค้าปลีก

FamilyMart ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่อันดับ 3 ก่อตั้งขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อปี 2524 ในช่วงใกล้เคียงกับ 7-Eleven เปิดบริการครั้งแรกในญี่ปุ่น "FamilyMart เป็นบริษัทย่อยของบริษัท อิโตชู จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ได้ขยายเครือข่ายไปยังต่างประเทศตั้งแต่ปี 2531 โดยการเปิดสาขาในไต้หวัน เกาหลีใต้ ไทย และเมืองเซี่ยงไฮ้" (http://www.familymart.co.th/) เข้ามาปักหลักในสังคมไทยนานพอสมควรแล้ว ตั้งแต่ปี 2536 ถือเป็นธุรกิจแขนงหนึ่งของ Itochu บริษัทการค้าแห่งญี่ปุ่น ก่อตั้งมากว่า 150 ปี ปักหลักในสังคมไทยมานาน ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบันมีกิจการในเครือข่ายการค้าหลากหลายแขนง (โปรดพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.itochu.co.th/)

ด้วยอ้างอิงความสำเร็จ 7-Eleven กับซีพี ในปลายปี 2555 FamilyMart ได้ปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ จากแผนการค่อนข้างอนุรักษ์ จึงเติบโตค่อนข้างช้า ใช้เวลา 2 ทศวรรษ (จนถึงปี 2555) ในสังคมไทยมีสาขาเพียงกว่า 700 แห่ง โดยร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกท้องถิ่นของไทย ซึ่งยังไม่มีเครือข่ายร้านสะดวกซื้อของตนเอง ประกาศแผนการธุรกิจเชิงรุก FamilyMart ยุคใหม่มีแผนขยายสาขาให้มากกว่า 1,500 สาขา ภายใน 5 ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 สาขา ภายในปี 2564

Lawson
เครือข่ายร้านสะดวกซื้ออันดับ 2 แห่งญี่ปุ่น มีตำนานคล้าย ๆ 7-Eleven เริ่มต้นมาจากสหรัฐ เช่นเดียวกัน ขณะที่ 7-Eleven อยู่มลรัฐทางใต้ แต่ Lawson อยู่มลรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือ (Akron, Ohio) ตำนาน Lawson เป็นเรื่องราวไม่ค่อยอยากเอ่ยถึง คงเนื่องมาจากกรณีอื้อฉาวในช่วงต้น ๆ ก่อนมาเริ่มต้นดำเนินกิจการในญี่ปุ่น ตามกระแสโมเดล พัฒนาการของ 7-Eleven และร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น เปิดร้านครั้งแรกที่โอซากาในปี 2528 พัฒนาจากกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัทอเมริกันกับญี่ปุ่น กลายมาเป็นบริษัทญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว ไม่นานจากนั้น เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น-Mitsubishi ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่

Lawson ให้ความสำคัญการขยายตัวในประเทศญี่ปุ่นมากเป็นพิเศษ เพิ่งจะขยายไปต่างประเทศครั้งแรกที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อปี 2539 จากนั้นใช้เวลาอีกพอสมควร ก่อนมีแผนการขยายเครือข่ายต่างประเทศอย่างจริงจัง ขยายสาขาเพิ่มขึ้นในจีน (ปี 2553 ที่ Chongqing และปี 2554 ที่ Dalian) มายังอินโดนีเซีย (2554) และฮาวาย (2555)

ในปี 2556 Lawson ตัดสินใจเข้ามาเปิดเครือข่ายในประเทศไทย ร่วมมือกับสหกรุ๊ป "Lawson ในไทยเปิดตัวร้านค้า 3 แห่งพร้อมกัน ภายใต้ชื่อ "LAWSON 108" ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 LAWSON ในไทยดำเนินงานโดย SAHA Lawson CO., LTD. ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้าที่ก่อตั้งโดยบริษัทสหกรุ๊ป อันเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ชื่อ "LAWSON 108" มาจากแบรนด์ "108 SHOP" ร้านค้าเล็ก ๆ ที่พัฒนาขึ้นโดยสหกรุ๊ป ผสมผสานกับแบรนด์ "Lawson" ของญี่ปุ่น ด้วยการนำความสามารถในการพัฒนาสินค้าออริจินอล และ Know How ในการบริหารร้านค้าที่ Lawson ในญี่ปุ่น มีผนวกกับศักยภาพของสินค้าและการให้บริการที่ฝังแน่นกับการดำรงชีวิตของคนไทยที่สหกรุ๊ป" (http://www.lawson108.com/)

จากถ้อยแถลงในวันเปิดตัวต่อสื่อมวลชนไทย (30 สิงหาคม 2556) ผู้บริหาร LAWSON 108 อ้างแผนการขยายสาขาให้ได้ 50 แห่งภายใน 1 ปี และเพิ่มเป็น 1,000 แห่งภายใน 5 ปีนั้น เท่าที่ติดตามจนถึงปัจจุบัน LAWSON 108 เพิ่งมีเครือข่ายขายเพียงกว่า 30 สาขาเท่านั้น

ว่าด้วยโครงสร้างธุรกิจที่พึ่งพิง Brand และ Know How ธุรกิจญี่ปุ่น และอ้างอิงยุทธศาสตร์เครือข่ายการค้าระดับโลกแห่งญี่ปุ่น ความเป็นไปร้านสะดวกซื้อในสังคมไทย ไม่ว่า 7-Eleven Lawson และ FamilyMart จึงดูซับซ้อนกว่าธุรกิจค้าปลีกโมเดลอื่น


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลมหายใจค้าปลีก เครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่น (2)

view