สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตัวเลขจีดีพี กับการลงทุน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เติมความคิด พิชิตการลงทุน โดย พรเทพ ชูพันธุ์ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

สำหรับนักลงทุนที่เกิดแก่เจ็บฟื้นอยู่ในตลาดหุ้นมานานคงรู้ว่าดัชนีหุ้นกับ GDP นั้นแทบจะไม่มีความสัมพันธ์กันเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะส่วนประกอบของหุ้นในตลาดกับส่วนประกอบของตัวเลข GDP นั้นมีความแตกต่างกันมาก เช่น ตลาดหุ้นไทยหนักไปด้วยกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี (19% ของ SET Index) ซึ่งกำไรและราคาหุ้นมักขยับขึ้นลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยแทบไม่ได้เคลื่อนไหวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเลย ส่วนกลุ่มธนาคารและการเงิน (18% ของ SET Index) และกลุ่ม ICT และคมนาคม (รวมกันเท่ากับ 18% ของ SET Index) ก็คิดเป็นเพียง 7% ของ GDP ทั้งคู่

ดังนั้นตัวเลข GDP รวม ๆ มักมีผลต่อกำลังใจนักลงทุนมากกว่าจะมีผลต่อผลประกอบการรวม ๆ ของบริษัทในตลาดหุ้น

ภาคธุรกิจจริงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีเท่าไรนัก รวมถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3 ก็ไม่ค่อยดี จริงอยู่ที่ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ออกมาขยายตัวถึง 2.9% สูงกว่าค่าเฉลี่ยผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ แต่ทำไมผู้ประกอบการกลับบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี สอดคล้องกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3 ที่ล่าสุดพบว่า กำไรสุทธิของทุกบริษัทจดทะเบียนรวมกันอยู่ที่เพียง 2.7 หมื่นล้านบาท เทียบกับ 2.1 แสนล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า และ 2.0 แสนล้านบาทในไตรมาส 3/57 นับว่าร่วงลงมาถึงกว่า 80% เลยทีเดียว เรามองว่าสาเหตุหลัก ๆ ที่เป็นเช่นนี้อาจมาจาก 2 ปัจจัยคือ

ประการแรก ผู้ประกอบการทั่วไป รับรู้ยอดขายที่ถูกกระทบจากทั้งปริมาณสินค้าที่ผลิตและราคาสินค้าที่เพิ่ม (หรือลดลง) แตกต่างจากตัวเลข GDP พาดหัวข่าวที่เน้นการวัดปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยตัดผลของราคาทิ้งไป (นับชิ้น นับกิจกรรม ไม่สนใจราคา หรือเรียกว่า Real GDP)

พบว่าใน 9 เดือนแรก Real GDP ของไทยขยายตัวราว 2.9% ตามข่าว แต่ในมุมมองของผู้ประกอบการ รายได้บริษัทขึ้นกับทั้งจำนวนชิ้นที่ผลิตและราคาสินค้าที่ขายได้ ซึ่งมูลค่าผลผลิตของเศรษฐกิจไทย (Nominal GDP) 9 เดือนแรกขยายตัวเพียง 2.2% คือต่ำกว่าการคิดแบบแรกถึง 0.7% ซึ่งก็พอเดาได้ว่าส่วนต่างดังกล่าวน่าจะมาจากราคาสินค้าที่ลดลง สอดคล้องกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบนั่นเอง ผลของราคาที่ลดลงนี้กระทบยอดขายของผู้ประกอบการตรง ๆ แต่ไม่กระทบตัวเลข GDP ที่พาดหัวข่าว (เพราะการคำนวณตัดผลของราคาทิ้งไป)

ประการที่สอง ตัวเลข GDP รวม ๆ ที่พาดหัวข่าว ไม่สะท้อนผลประกอบการธุรกิจแต่ละประเภท (ต้องเจาะลึกลงไปดูไส้ในของ GDP จะดีกว่า) แรงขับเคลื่อนหลักของ GDP คราวนี้ ดูจากตัวเลขรายละเอียดลึก ๆ ลงไปพบว่า มาจากภาคการส่งออกบริการ (หรือก็คือภาคการท่องเที่ยว) ซึ่งมีผลต่อผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยในประเทศชะลอลงเกือบทุกตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (การบริโภคภาคครัวเรือนทรง ๆ การลงทุนภาคเอกชนหดตัวหนักขึ้น การใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง) ทำให้ภาคธุรกิจในประเทศส่วนใหญ่สัมผัสได้ถึงการชะลอตัวมากกว่าการเร่งตัว จึงเป็นที่มาของความมึนงงที่ว่าตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด แต่ตัวเลขผลประกอบการกลับปรับลดลง

ตัวเลข GDP ของสภาพัฒน์ไม่ได้ผิด แต่เราต้องใช้ให้ถูก โดยดูรายละเอียดภายใน ไม่ใช่แค่พาดหัวข่าว โดยถ้าถามว่าตัวเลข GDP ไตรมาส 3/58 ที่ขยายตัว 2.9% ได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากอะไรบ้าง คำตอบคือ การส่งออกภาคบริการ (ซึ่งก็คือภาคท่องเที่ยว) ให้แรงขับเคลื่อน 1.2% การใช้จ่ายบริโภคภาคเอกชนให้แรงขับเคลื่อน 0.9% และการลงทุนภาครัฐให้แรงขับเคลื่อน 0.9% (รวมสามส่วนนี้ช่วยให้ GDP ขยายตัวได้ถึง 3.0% แต่ถูกส่วนอื่น ๆ ฉุดลงมาเล็กน้อย เลยเหลือขยายตัว 2.9% ตามที่เป็นข่าว)

แล้วหากมองในด้านภาคการผลิตพบว่า ภาคการผลิตที่ขยายตัวดี ได้แก่ ภาคโรงแรมร้านอาหาร (10.9%) ภาคก่อสร้าง (7.7%) ภาคขนส่งและสื่อสาร (7.1%) ภาคบริการสุขภาพ (6.8%) ภาคการธนาคาร (6.5%)

แนวการลงทุนที่เราแนะนำก็สอดคล้องใกล้เคียงกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเน้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว ภาคขนส่ง และสื่อสาร (Top-pick ไตรมาส 4 ที่เข้าแนวนี้ได้แก่ AOT, TRUE) กลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้จ่ายบริโภคภาคเอกชน (CPALL, GLOBAL) กลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการกระตุ้นอสังหาฯ (Analyst top-pick ล่าสุด คือ LH) ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารที่ราคาปรับลงมาค่อนข้างเยอะและมีโอกาสฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่ KBANK

ทั้งนี้ ตามสถิติ ช่วงกลางเดือน พ.ย. เป็นจังหวะที่เหมาะแก่การลงทุน จากบทวิเคราะห์ล่าสุดของฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน SCBS ที่ศึกษาข้อมูลสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่าดัชนี SET มักปรับตัวลดลงในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. (เกิดขึ้น 7 ปีใน 10 ปีที่ศึกษา) เนื่องจากเป็นฤดูกาลประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งตามสถิติมักเป็นช่วงที่นักวิเคราะห์ปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนของปีนั้น ๆ และปีต่อไปลง (ปรับลด 8 ปี ใน 10 ปีที่ศึกษา)

อีกทั้งยังพบด้วยว่าดัชนี SET มักฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของเดือน พ.ย. ต่อเนื่องไปสัปดาห์แรกของเดือน ธ.ค. (เกิดขึ้น 10 ปี ใน 10 ปีที่ศึกษา) ซึ่งน่าจะเกิดจากเงินไหลเข้าจาก LTF ดังนั้นสำหรับผู้ที่มองหาโอกาสลงทุน LTF ในปีนี้ ช่วงจังหวะนี้อาจเป็นเวลาที่เหมาะกว่าการรอจนปลายปีที่มักมีการแย่งกันซื้อ LTF ในเดือนสุดท้ายของปีจนอาจดันดัชนีให้สูงขึ้นได้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตัวเลขจีดีพี การลงทุน

view