สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อดุลย์ โชตินิสากรณ์ 12 สินค้าต้องห้ามเข้าข่ายห้ามนำผ่าน

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์

"นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์" รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และการตลาดของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงผลสะท้อนหลังจากการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.การส่งออกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 เรื่องนิยามการนำผ่านซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 ธันวาคม 2558 และแนวทางในการผลักดันการค้าชายแดนให้ล้อกับนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะช่วยใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2559

- แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ผ่านมา

ในปีที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการได้จัดทำคู่มือประชาสัมพันธ์โดยอาศัยข้อมูลจากหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องและท่านประธานคณะอนุกรรมการได้ลงพื้นที่หลายจังหวัดเพื่อแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นกับการค้า และการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งทางจังหวัดได้เริ่มเตรียมความพร้อม เช่น ด่านแม่สอด จ.ตาก ได้พัฒนาเป็นแม่สอดโมเดลการพัฒนาระบบการค้าชายแดนควบคู่กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น หากแต่ละจังหวัดจัดสรรพื้นที่เรียบร้อยจะทำการประชาสัมพันธ์โดยแจกคู่มือ เพื่อให้รายละเอียดว่าจังหวัดที่เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษครอบคลุมพื้นที่ ใดบ้าง มีอุตสาหกรรมเป้าหมายอะไร อัตราค่าเช่าพื้นที่ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และขอให้ทูตพาณิชย์ประเทศต่าง ๆ เร่งประชาสัมพันธ์ด้วย ขณะนี้มีนักลงทุนให้ความสนใจและสอบถามข้อมูลเข้ามาแล้ว

- แผนโปรโมตเขตเศรษฐกิจพิเศษปี59

เตรียมจัดโครงการเปิดตัวเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ "Open House" ภายในปลายปีนี้ โดยจะเชิญทูต กงสุล หอการค้าต่างประเทศ และนักธุรกิจต่างชาติที่ลงทุนในไทย ให้เข้ามาร่วมงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการจัดทำเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และนำข้อมูลไปแจ้งกับนักลงทุนในประเทศของตัวเอง พร้อมกันนี้กรมจะจัดทริปในลักษณะวันเดย์ ทริป เพื่อนำคณะไปดูพื้นที่จริง ใครสนใจแจ้งความประสงค์เข้ามาได้

นอกจากนี้ จะจัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนลงพื้นที่ไปดูพื้นที่จริงใน 7 จังหวัดที่เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปด้วย หากสามารถแก้ไขปัญหาได้ก็ทำทันที หรือจัดส่งไม้ต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไป

- ปลดล็อกปัญหาข้อโต้แย้งเรื่องนำผ่าน

จากการแก้ไขร่างกฎหมายใหม่ กำหนดให้นำผ่าน หมายถึง การนำเข้าแล้วส่งออก ฉะนั้นอะไรที่เป็นสินค้าต้องห้ามเข้า ก็เข้าข่ายห้ามนำผ่านอยู่แล้ว คือเข้าไม่ได้ แต่ไม่ได้กระทบกับการค้าผ่านแดน เพราะการขนส่งสินค้าปกติ ทั้งหมด 6,000-7,000 รายการยังสามารถผ่านได้ ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวที่สกรีนออกมาเหลือ 11 รายการ เช่น ตู้เกม บารากู่ มันสำปะหลัง เป็นต้น ยกตัวอย่าง บารากู่ เป็นสินค้าต้องห้ามฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงการนำผ่านเลย เมื่อเข้าไม่ได้ก็นำผ่านไม่ได้

ส่วนสินค้าที่มีเอกชนร้องคัดค้านจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเฉพาะของแต่ละสินค้า เช่น มันสำปะหลัง จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังแห่งชาติว่าจะพิจารณายกเว้นหรือไม่ ตอนนี้กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้

แต่ก่อนจะมีการพิจารณายกร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการหารือขอความเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ามันสำปะหลังมีสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการค้ามันสำปะหลังต่างก็เห็นด้วย ส่วนกลุ่มผู้ร้องเรียนในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจด้านโลจิสติกส์มากกว่า

- กระทบต่อความเป็นฮับโลจิสติกส์อาเซียน


ไม่น่าจะกระทบกับนโยบาย Hub Logistics อาเซียน เพราะการค้ายังเป็นไปปกติ สินค้ายังไหลผ่านได้เช่นเดิม ยกเว้นสินค้าที่ห้ามนำเข้าอยู่แล้ว เช่น ตู้พนัน หรือยาเสพติดที่ห้ามเข้า เจอกฎหมายนี้จบหมดคือเข้าไม่ได้อยู่แล้ว

- เป้าหมายค้าชายแดนปี 2559

การเปิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีส่วนช่วยส่งเสริมการค้าชายแดนให้ขยายตัวใกล้เคียงกับเป้าหมาย 1.5 ล้านล้านบาท ทั้งยังจะมีการเชื่อมโยงการลงทุน เช่น การสนับสนุนให้บางด่าน เช่น จ.สระแก้ว เหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางในการแปรรูปสินค้าเกษตร หรือหากเอกชนสนใจจะไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (GSP) ส่งไปตลาดอียู หรือการใช้แรงงานจากเพื่อนบ้าน ทางกรมพร้อมจะสนับสนุนตามนโยบายการสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียน


ห้ามนำผ่าน แต่ให้นำเข้า ?

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรฯ จะมีผลบังคับใช้แต่ข้อเรียกร้องของผู้ผลิตและส่งออกมันสำปะหลังของกัมพูชา 2 ราย ที่ขอให้มีการทบทวนการห้ามนำผ่านตามกฎหมายดังกล่าว เพราะได้รับผลกระทบหนัก กลับไม่มีหน่วยงานใดออกมาหาทางออกในการแก้ปัญหา

นายอัง ชอ เฮียง ผู้จัดการฝ่ายการค้าต่างประเทศ บริษัท เอวิค เอ็นจิเนียริ่ง(กัมพูชา) จำกัด โรงงานผลิตมันเส้นในกัมพูชา กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจมา 3 ปี ช่วงแรกขายผ่านเทรดเดอร์ไทยซึ่งได้มีการเปลี่ยนเอกสารแหล่งกำเนิดสินค้าจาก กัมพูชาไปเป็นของไทยและส่งออกไปยังลูกค้าของบริษัทที่จีนและออสเตรเลียและ บริษัทได้เริ่มส่งออกโดยตรงเมื่อเดือนที่ผ่านมาซึ่งขายได้ราคาสูงกว่าผ่าน พ่อค้าไทย 30-40% แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเทรดเดอร์ไทยแจ้งว่า ไทยกำลังจะมีกฎหมายห้ามนำผ่าน ต่อไปจะส่งออกเองไม่ได้ ต้องขายผ่านพ่อค้าไทยส่งออกต่อให้ สงสัยว่าไทยมีเหตุผลอะไรต้องทำเช่นนี้ การที่ไทยทำอย่างนี้ผิดหวังมาก ถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นายมัยฤทธิ์ ทวีผลเจริญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พระตะบอง อะโกร อินดัสตรี้ จำกัดโรงงานผลิตแป้งมันในกัมพูชา กล่าวว่าบริษัททำธุรกิจมาเกือบ 3 ปี กำลังการผลิต40,000-50,000 ตันต่อปี และเริ่มส่งออกผ่านแดนโดยตรงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และได้ราคาดี เพราะกัมพูชาได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร และเพิ่งทราบว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการแก้ไขกฎหมายห้ามนำผ่าน แต่ให้นำเข้าได้ ถ้าทำเช่นนี้ได้เกษตรกรไทยได้รับผลกระทบแน่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางบริษัทได้ร้องเรียนผ่านทางสถานทูตไทยในกัมพูชา ซึ่งได้แจ้งว่าให้ติดต่อเรื่องนี้กับทางกระทรวงพาณิชย์ของไทยเอง

"ผมเป็นคนไทยไปทำงานที่เขมร การแก้กฎหมาย โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้เกษตรกรเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เมื่อสัปดาห์ก่อนผมขับรถกลับไทย ที่ชายแดนฝั่งเขมรมีไซโลขายมันอยู่ที่ราคา 1.70 บาทต่อ กก. พอข้ามมาฝั่งจันทบุรีโรงงานแป้งมันไทยรับซื้อที่ 2.50 บาทต่อ กก. มันเขมรจะทะลักเข้ามาเมืองไทยแน่ ให้บวกค่าขนส่งต่าง ๆ แล้วยังถูกกว่ามันไทย ดังนั้นการแก้กฎหมายให้นำเข้าได้ แต่นำผ่านไม่ได้ ไม่ได้ช่วยเกษตรกรไทยเลย และการนำเข้าแต่ละด่านให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนกำหนด ซึ่งบางจังหวัดไม่มีการควบคุม รถพ่วงวิ่งเข้ามากันได้เต็มที่ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ประจำด่าน การทำเช่นนี้ผลประโยชน์ตกอยู่กับใครกันแน่"


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อดุลย์ โชตินิสากรณ์ 12 สินค้าต้องห้าม เข้าข่ายห้ามนำผ่าน

view