สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถึงเวลา...คนไทย วิ่งตามโลก 4G

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ oilday@yahoo.com

ใกล้หมดปี 2558 นี้แล้ว สัญญาณเศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ด้วยข่าวใหญ่ข่าวฮอตที่สะท้านแวดวงธุรกิจในปีนี้คงต้องยกให้ "การประมูล 2 ใบอนุญาต คลื่น 4G" ที่มีระยะเวลา 18 ปี ซึ่งมีผู้ร่วมประมูล 4 รายสู้ราคาแข่งกันแบบข้ามวันข้ามคืนกว่า 33 ชั่วโมงทีเดียว ดันมูลค่า 2 ใบอนุญาตคลื่น 4G พุ่งกระฉูดไปได้ถึง 8.07 หมื่นล้านบาท ซึ่งผู้ชนะประมูล คือ 2 ค่ายมือถือ"เอไอเอส-ทรู"

และในวันที่ 15 ธ.ค.นี้จะมีการประมูลคลื่น 900 MHz อีกครั้ง จำนวน 2 ใบอนุญาตมีระยะเวลา 15 ปี ซึ่งมีการประเมินว่า ราคาจะสู้แข่งกันแรงกว่ารอบแรกด้วยซ้ำ โดยผู้เข้าประมูลยังเป็น 4 รายเช่นเดียวกับรอบแรก คือ นอกจากเอไอเอสและทรูแล้ว จะมีดีแทคและบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS

ถ้าประเมินมูลค่าที่จะเกิดขึ้นและหมุนรอบเศรษฐกิจ ที่มาจากภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ใน 2 ปีหน้า (ปี 2559-2560) จะมียอดเงินสะพัดจากการลงทุนขยายโครงข่าย 3G/4G ถึง 1.58 แสนล้านบาท และจะตามมาด้วยห่วงโซ่การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เยอะขึ้นด้วย เพราะทุกวันนี้โลกการซื้อขายสินค้าและบริโภคข้อมูลบนออนไลน์มีปริมาณพุ่งขึ้นสูงมากและรวดเร็ว

ยิ่ง ทุกวันนี้กลุ่มผู้บริโภคไทยที่นิยมใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารกันมากขึ้นมี การคาดการณ์ตัวเลขจำนวนผู้ใช้งานโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตปีนี้จะพุ่งแตะ ระดับ 34.6 ล้านคน ขยายตัวราว 23% จากปีที่แล้ว และประเมินเป็นมูลค่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวมปี 2558 อยู่ที่ 212,816 ล้านบาท ซึ่งหลัก ๆ มาจากการใช้บริการข้อมูลที่เติบโตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าสูงถึง 109,121 ล้านบาท และมูลค่าตลาดด้านบริการเสียงอยู่ที่ 103,695 ล้านบาท จะเห็นว่า มูลค่าการบริโภคว่ากันที่ระดับหลักแสนล้านบาทขึ้นไปทั้งนั้น และคาดอีกว่าในปี 2559 ก็ยังโตไปได้อีก เพราะมีความต้องการบริโภคข้อมูลออนไลน์สูง 20-22% จากปีนี้ แต่ด้านบริการเสียงจะหดตัวราว 15% ได้

ถ้าได้ดูข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ที่ได้คาดการณ์ว่า ปี 2558 มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย (อีคอมเมิร์ซ) มีมูลค่ารวม 2,107,692 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากมูลค่าขายที่ธุรกิจขายให้กับธุรกิจ (บีทูบี) จำนวน 1,234,226 ล้านบาท มูลค่าขายที่ธุรกิจขายให้กับผู้บริโภค (บีทูซี) จำนวน 411,715 ล้านบาท และมูลค่าขายที่ธุรกิจขายให้กับภาครัฐ (บีทูจี) ซึ่งเกิดจากขายออนไลน์กับภาครัฐโดยตรง ไม่ผ่านวิธีการประมูลงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของภาครัฐ และหมวดที่มีการซื้อขายมากสุด 3 อันดับแรก คือ หมวดอุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก 38% หมวดอุตสาหกรรมการผลิต 26.6% และหมวดอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 16.02%

และอีกหมวดธุรกิจที่กำลังจะมาแรงล้อกระแสอีคอมเมิร์ซ และโมบายคอมเมิร์ซ คือ หมวดสถาบันการเงิน ซึ่งในช่วงปีนี้จะเห็นการให้บริการทำธุรกรรมผ่านทางมือถือมากยิ่งขึ้น ซึ่งธนาคารพาณิชย์หลายค่าย ผนึกกำลังกับค่ายมือถือกันเพิ่มขึ้น และที่มาแรงเขย่าวงการอีมันนี่ในเมืองไทย คือ 3 ค่ายมือถือ "เอไอเอส-ดีแทค-ทรูมูฟ เอช" รวมพลังกันขยายตลาดอีมันนี่ในเมืองไทย โดยทั้ง 3 ค่าย เชื่อมต่อระบบกระเป๋าเงินออนไลน์บนมือถือ (อีวอลเลต) ซึ่งเป็นการเปิดให้บริการโอนเงินข้ามแอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินออนไลน์ ระหว่าง AIS mPAY, Jaew Wallet และ Wallet by TrueMoney ไม่จำกัดค่ายและทำได้ทุกที่ทุกเวลา เพียงแค่รู้เบอร์มือถือ ก็จะทำให้ลูกค้าโอนเงินและจ่ายค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้ โดยจะมีมาสเตอร์การ์ดและธนาคารธนชาต เป็นพันธมิตรหลักที่ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยหลายชั้นในการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

ขณะ ที่เทรนด์และพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคไทยทางวีซ่าได้เปิดผลวิจัย ว่ายอดการทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือและแท็บเลตของคนไทยสูงขึ้น ชี้ให้เห็นได้ระดับหนึ่งว่า พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป และสมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือใช้ชำระเงินอันดับแรก ๆ และยังพบว่า คนซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เดือนละครั้ง และมีการใช้เวลาในการช็อปปิ้งออนไลน์ต่อครั้งนานราว 46 นาที ซึ่งเหตุผลที่ซื้อผ่านออนไลน์เพราะจัดส่งสินค้าโดยตรง สะดวกสบาย ราคาสินค้าที่ดีกว่า และมีให้เลือกหลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะช็อปปิ้งพวกซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชั่นและอื่น ๆ อีเวนต์และบัตรคอนเสิร์ต บริการด้านท่องเที่ยว เนื้อหาดิจิทัล เช่น เกม เพลง วิดีโอ

ขณะเดียวกัน ร้านค้าออนไลน์ก็สูญเสียรายได้จากการยกเลิกการซื้อระหว่างขั้นตอนทำธุรกรรมการเงินออนไลน์เช่นกัน สาเหตุหลักมาจากหน้าเพจโหลดช้า หน้าเว็บไซต์ยากต่อการใช้งาน และกระบวนการซื้อไม่ชัดเจน และกังวลความปลอดภัยข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้

จากความต้องการของคนเสพโลกออนไลน์ที่มีมากมาย จึงทำให้ 3 ค่ายมือถือใหญ่ มองเห็นโอกาสทองของตลาดที่ยังขยายตัวได้อีกมาก การทุ่มสุดตัวเพื่อประมูลชิงใบอนุญาตมาให้ได้ ก็คำนวณกันว่าผลตอบแทนที่จะได้กลับมาแต่ละปีจนครบอายุสัญญา น่าจะคุ้มค่าแน่นอน เพราะภาคธุรกิจเดินหน้านำ

และยิ่งภาครัฐมีนโยบายทำ "เนชั่นแนลอีเพย์เมนต์" อีก เพียงใช้เลขที่บัตรประชาชนในการซื้อสินค้า แทนการใช้เงินสด ซึ่งตั้งเป้าหมายจะเริ่มในกลางปี 2559 ยิ่งเป็นอีกแรงส่งก้าวเข้าสู่มิติเศรษฐกิจดิจิทัลก่อน คนไทยคงต้องวิ่งปรับตัวกันทีเดียว


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถึงเวลา คนไทย วิ่งตามโลก 4G

view