สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ก่อการร้าย สะเทือนท่องเที่ยว

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พีรดา ปราศรีวงศ์, โชคชัย สีนิลแท้, นันทิยา วรเพชรายุทธ

ก่อการร้าย สะเทือนท่องเที่ยว

ความปลอดภัย คือปัจจัยสำคัญที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึงเมื่อต้องตัดสินใจเดินทาง ดังนั้นการข่มขู่หรือถึงขั้นลงมือโจมตีที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ตั้งแต่ยุโรปที่เสี่ยงต่อการเป็นเป้าหมายโจมตีอันดับถัดไป เช่น เยอรมนี กรุงลอนดอน ของอังกฤษ เบลเยียม อิตาลี เดนมาร์ก กรีซ ไปจนถึงเหตุระเบิดในญี่ปุ่น ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในบัญชีเป้าหมายของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างเลี่ยงไม่พ้น 

จึงไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศแรกที่ออกประกาศเตือนการเดินทางของพลเมืองอเมริกัน ที่ไม่ได้จำกัดแค่ฝรั่งเศสหรือในยุโรป แต่ขยายขอบเขตการเตือนไป “ทั่วโลก” โดยขอให้ชาวอเมริกันหลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศที่ไม่จำเป็นออกไป จนกว่าจะมีการประเมินสถานการณ์ใหม่ๆ ออกมา

แม้ประเทศอื่นๆ จะยังไม่มีการประเมินสถานการณ์ที่ชัดเจนได้ว่า ผลทางจิตวิทยากระทบต่อยอดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของตัวเองไปแล้วมากน้อยแค่ไหน แต่ในเบื้องต้น ดูเหมือนว่าฝรั่งเศสจะได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้ว

จากข้อมูลของบริษัทด้านการท่องเที่ยว ฟอร์เวิร์ดคีย์ พบว่า ยอดจองเที่ยวบินจากทั่วโลกไปยังกรุงปารีสในช่วงสัปดาห์แรกหลังเหตุระเบิด ลดลงถึง 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยพอสันนิษฐานได้ว่าเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย ขณะที่ยอดนักช็อปลดลงถึง 50% เลยทีเดียวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าการก่อการร้าย

ผลสำรวจของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อปี 2556 พบว่า 67% ของนักท่องเที่ยวต่างคำนึงถึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับ 1 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงคาดว่าจะส่งผลกระทบไม่น้อยต่อโรงแรมถึง 1,600 แห่งในกรุงปารีส เมืองหลวงที่มีการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวถึงราว 5 แสนอัตรา

อินชัวร์มายทริป เว็บไซต์ด้านประกันภัยการท่องเที่ยว ระบุว่า ความต้องการประกันภัยเพิ่มขึ้นถึง 20% ภายหลังจากการก่อการร้ายในกรุงปารีส และจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีกหลังสหรัฐประกาศแจ้งเตือนภัยดังที่กล่าวเอาไว้ข้างต้น

ความตึงเครียดต่อความมั่นคงโลกยิ่งเพิ่มขึ้นมากเข้าไปอีก ภายหลังจากตุรกียิงเครื่องบินรบของรัสเซียตกที่ชายแดนฝั่งที่ติดกับซีเรีย เรียกความไม่พอใจจากประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และอาจกลายเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งลุกลามบานปลาย

นอกจากความวิตกต่อการก่อการร้ายแล้ว ความตึงเครียดทางการเมืองล่าสุดในรัสเซียและตุรกี จากกรณีที่ตุรกียิงเครื่องบินรบของรัสเซียร่วงลงจนมีนักบินเสียชีวิต 1 นาย ก็ส่งผลให้การท่องเที่ยวระหว่าง 2 ชาติใหญ่นี้ต้องชะงักงันไปด้วย

เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย แนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปตุรกีทันที ซึ่งนักท่องเที่ยวรัสเซียในตุรกีมีมากถึง 4.48 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน และใช้จ่ายเกือบ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.42 แสนล้านบาท)

ในขณะเดียวกัน ตุรกีก็เผชิญกับการก่อการร้ายหนักๆ ในกรุงอังการามาแล้วในช่วงเดือน ต.ค. ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 100 คน และเมื่อเดือน ส.ค. มีมือปืน 2 คน บุกโจมตีสถานกงสุลของสหรัฐในอิสตันบูล ซึ่งเหตุร้ายเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวอย่างแน่นอน

เพราะไม่ว่าอย่างไร ความปลอดภัยก็เป็นปัจจัยสำคัญที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึงเป็นอันดับหนึ่ง

ในมุมมองของผู้ที่คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวไทย ต่างมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ภัยก่อการร้ายปะทุขึ้นในฝรั่งเศสจะเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของการท่องเที่ยวไทย แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มีใครแย่งความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวจาก “ฝรั่งเศส” ไปได้

อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ประเมินว่า ขณะนี้ทั่วโลกจับตามองความเคลื่อนไหวของฝรั่งเศส ว่าจะมีมาตรการตอบโต้อย่างไร โดยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นเกิดสงครามขึ้น ซึ่งมีผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาพรวม แต่จะส่งผลอย่างไรต่อบ้าง ผู้ประกอบการไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องวิเคราะห์รายตลาด

“หากมีการข่มขู่ก่อการร้ายสายการบิน อาจทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปหวาดกลัวไม่กล้าเดินทางไกล ขณะเดียวกันความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและตุรกีในขณะนี้อาจทำให้ชาวรัสเซียยกเลิกการเดินทางไปตุรกี และมาเที่ยวไทยแทน”

มิ่งขวัญ เมธเมาลี อุปนายกด้านการตลาดสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวถึงตลาดท่องเที่ยวฝรั่งเศสว่า ทางฝรั่งเศสยอมรับว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวฝรั่งเศสลดลงกว่า 90% หลังเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 13 พ.ย. แต่ส่วนตัวเชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นระยะสั้นเพียง 3 เดือน หรือจนกว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะมีทิศทางการดำเนินการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภัยก่อการร้ายที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การท่องเที่ยวโลกของฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศสมีการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวครบ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.ด้านวัฒนธรรม 2.ด้านประวัติศาสตร์ 3.ด้านสถาปัตยกรรม 4.ด้านคุณภาพสินค้าและบริการ และ 5.มาตรฐานความปลอดภัยในทุกๆ เมืองของประเทศ ซึ่งความครบเครื่องด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยวของฝรั่งเศสจึงถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่ภาคการท่องเที่ยวไทยควรนำมาปรับใช้

ขณะเดียวกัน ภัยก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในยุโรป อาจจะเป็นอีกแรงจูงใจให้ชาวยุโรปเดินทางออกนอกภูมิภาคเพิ่มขึ้น และจะเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวเลือก เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีความคุ้มค่าเงิน ดังนั้นรัฐบาลและเอกชนต้องเร่งหารือวางแผนรับนักท่องเที่ยวแถบยุโรป ที่เชื่อว่านับจากนี้อีก 3 เดือน อาจเดินทางมาพำนัก (ลองสเตย์) ในไทยเพิ่มขึ้น

มิ่งขวัญแนะนำว่า สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งวางแผนคือ วิเคราะห์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวในแต่ละตลาดแถบยุโรป เกี่ยวกับความชื่นชอบด้านการท่องเที่ยว เพื่อปรับวิธีการนำเสนอให้ตรงต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว เช่น คนฝรั่งเศสชื่นชอบการท่องเที่ยวที่เน้นการค้นหา ชาวอังกฤษชื่นชอบความหรูหรา ชาวสวิสให้ความสำคัญกับความสะอาดสูงสุด เป็นต้น แทนที่จะทำโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือการตลาดที่มุ่งจับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป ไม่เจาะจงตลาดใดตลาดหนึ่งโดยเฉพาะ

ด้าน อภิชาติ สังฆอารี อดีตนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) มองว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นจะเติบโตหรือตกต่ำขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักคือ 1.ความปลอดภัย และ 2.ภาวะเศรษฐกิจ โดยในกรณีภัยก่อการร้ายที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในยุโรปนั้น หากปัญหาไม่บานปลายจนต้องเปลี่ยนโปรแกรมท่องเที่ยว ก็เชื่อว่าประเทศในยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี จะยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ รวมถึงคนไทยไม่อยากพลาดแน่นอน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ก่อการร้ายมสะเทือนท่องเที่ยว

view