สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จะมี 11 ปีอีกกี่ครั้ง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Market-Think โดย สรกล อดุลยานนท์

กรณีการยุบ GTH ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากในทางธุรกิจ

เพราะเป็นการยุบบริษัทในช่วงเวลาที่กำลังประสบความสำเร็จสูงสุด

ระดับที่ปั๊มชื่อ GTH บนหนังเรื่องไหน

หนังเรื่องนั้นต้องทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท

ในวันที่ GTH ครบรอบ 11 ปี พลังของแบรนด์ GTH แรงถึงจุดสูงสุด

แล้วทำไม "ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม-วิสูตร พูลวรลักษณ์-จิระ มะลิกุล" จึงตัดสินใจยุบ GTH

เพียงแค่ความขัดแย้งเรื่องการเข้าหรือไม่เข้าตลาดหุ้นแค่นั้นเองหรือ ?

เมื่อเจาะลึกไปในปมปัญหาที่แท้จริง จะพบว่าเป็นความขัดแย้งทางความคิดของ "นักลงทุน" กับ "คนลงแรง"

เป็นเรื่อง "ใจ" กับ "กติกา"

เมื่อคนที่ลงแรง กับสัดส่วนการถือหุ้นไม่สอดคล้องกัน

ต้องยอมรับว่า ถ้าเอ่ยชื่อ GTH คนส่วนใหญ่จะนึกถึง "พี่เก้ง" จิระ มะลิกุล และทีมงานผู้กำกับรุ่นใหม่

ไม่มีใครนึกถึงชื่อ "วิสูตร" หรือ "ไพบูลย์"

และเมื่อเจาะลึกเข้าไปสู่การทำงาน "พี่เก้ง" ก็เป็น "ตัวหลัก" ของ GTH

ตั้งแต่ไอเดียการทำหนังแต่ละเรื่อง บทภาพยนตร์ การดึงตัวผู้กำกับฯ และอื่น ๆ อีกมากมาย

"วิสูตร" อาจมีบทบาทบ้างในเรื่องการตั้งชื่อหนัง หรือการตลาด

แต่ "ตัวหลัก" คือ "พี่เก้ง" จิระ

ในอีกมุมหนึ่ง สัดส่วนการถือหุ้นกลับตรงข้าม

แกรมมี่ถือหุ้นอยู่ 51%

"วิสูตร" 30%

ส่วน "พี่เก้ง" ถือแค่ 19%

ประวัติศาสตร์ของ GTH เริ่มต้นจาก "ไพบูลย์" อยากทำหนัง แต่ "แกรมมี่ฟิล์ม" ไม่ประสบความสำเร็จ

เขาจึงชวน "พี่เก้ง" รุ่นน้องนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ มาตั้งบริษัทใหม่

ตอนนั้น "พี่เก้ง" และบริษัทหับ โห้ หิ้น ยังผลิตหนังให้กับ "ไท เอ็นเตอร์เทนเม้นท์" ของ "วิสูตร" อยู่

"พี่เก้ง" จึงชวน "วิสูตร" มาร่วมในบริษัทใหม่นี้ด้วย

เมื่อเป็นความประสงค์ของรุ่นน้อง "ไพบูลย์" ก็ยอมตาม

และด้วยกำลังทุนและฝีมือการต่อรองของแต่ละฝ่าย

สัดส่วนหุ้นจึงออกมาในลักษณะนี้

ว่ากันว่าบางกลุ่มไม่ได้ลงเงิน แต่เป็นลักษณะ "หุ้นลม"

ปมปัญหาเรื่อง "แรง" กับ "เงิน" ที่ไม่สอดคล้องกัน มาปะทุขึ้นเมื่อทางฝั่งของ "พี่เก้ง" ต้องการให้ผู้กำกับฯรุ่นใหม่เข้ามาถือหุ้นในบริษัท

ด้านหนึ่ง เป็นการตอบแทนที่ช่วยสร้าง GTH จนประสบความสำเร็จ

ด้านหนึ่ง เป็นการรักษา "คนทำงาน" ไม่ให้เกิดสภาพ "มันสมองไหล"

เป็นการขอให้ "น้อง" ไม่ใช่ "ตัวเอง"

เมื่อฝ่ายหนึ่งมองความเป็นธรรมจากมุมของ "คนทำงาน"

แต่อีกฝั่งหนึ่งมองในมุมของ "นักลงทุน"

ถ้าจะขอสัดส่วนหุ้นเพิ่มขึ้นก็ต้องจ่ายเพิ่มตามหลักเกณฑ์คำนวณการตีราคามูลค่าหุ้น

บริษัทประสบความสำเร็จขนาดนี้ ราคาหุ้นก็ต้องสูง

เกมนี้ถ้าคิดภายใต้กรอบของบริษัท GTH

"ผู้ถือหุ้น" มากกว่าย่อมได้เปรียบ

เพราะตามกฎหมาย หุ้นเป็นของเขา

แต่ถ้าเกมนี้คิดในกรอบใหม่

กรอบที่ "ไม่มี GTH"

"อำนาจต่อรอง" จะเปลี่ยนไปทันที

เพราะถ้า GTH ไม่มี "พี่เก้ง" ก็จะเหลือแต่ "ชื่อ"

แต่ไม่มี "ตัวหลัก" และทีมทำงาน

วันนี้ผู้กำกับฯและดาราไม่ได้อยู่ด้วยแบรนด์ GTH

แต่อยู่เพราะ "คน"

คนที่ชื่อ "จิระ มะลิกุล"

นี่คือ "อำนาจต่อรอง" ของ "คนทำงาน"

เมื่อเจรจากันภายใต้กรอบ "GTH" ไม่ได้ผล

การทลายกรอบจึงเกิดขึ้น

ตอนแรกน้องผู้กำกับฯ ยังเสียดายแบรนด์ GTH ถึงขั้นจะยอมกู้เงินเพื่อมาซื้อหุ้น

จนมีคนหนึ่งเอ่ยประโยคคำถามง่าย ๆ ขึ้นมา

"พวกเราจะมี 11 ปีอีกกี่ครั้ง"

ทุกคนเริ่มคิดถึงอายุของตัวเอง แล้วตอบตัวเองว่าคงเหลือได้อีกครั้งเดียว

11 ปีครั้งสุดท้าย จะทำให้คนอื่น

หรือทำให้ตัวเอง

นั่นคือ ที่มาของการแถลงข่าวยุบ GTH

ถ้าเกมนี้ไม่มีอะไรผิดพลาด

"แกรมมี่" กับ "หับ โห้ หิ้น" คงจับมือกันทำค่ายหนังใหม่

ส่วน "วิสูตร" ก็แยกตัวไปทำอีกค่ายหนึ่ง

แม่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ

ต่างค่ายต่างสร้างตำนานบทใหม่

11 ปี ครั้งต่อไป


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จะมี 11 ปีอีกกี่ครั้ง

view