สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สะพานมิตรภาพไทย-พม่า : สะพานแห่งประวัติศาสตร์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ช่วยกันคิด โดย อุดร ตันติสุนทร

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมถึง 7 พฤศจิกายน 2558 ผมและคณะอีก 18 คนได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่เมืองสิบสองปันนาและเมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองคุนหมิงเป็นเมืองหลวงของมณฑลยูนนาน

มูลเหตุของการเดินทางในครั้งนี้เกิดจากความสงสัยว่า เส้นทางจาก จ.ตาก ไป อ.แม่สอด ซึ่งมีภูเขาสูงลาดชัน ทำให้เกิดรถคว่ำตกเหวหลายต่อหลายครั้ง ต่อมาทราบว่าทางการจีนได้มาสำรวจเส้นทางเพื่อจะสร้างอุโมงค์ 4 จุด จะเป็นไปได้อย่างไร ?

จึงเกิดการอยากรู้ว่าจีนทำได้จริงหรือไม่ ?

คณะเราเดินทางจากเมืองตาก วันแรกไปค้างคืน อ.เชียงของ จ.เชียงราย พักที่ โรงแรมน้ำโขงริเวอร์ไซด์ วันรุ่งขึ้นออกเดินทางแต่เช้าเพื่อไปทำพิธีผ่านด่านลาว โดยข้าม สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ข้ามแม่น้ำโขงไปที่บ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เสร็จแล้วนั่งรถบัสของลาวขนาด 35 ที่นั่ง ไปเมืองสิบสองปันนา (เชียงรุ่ง) โดยผ่านด่านลาว ที่บ้านบ่อเต็น และเข้าเขตแดนจีน โดยทำวีซ่าหน้าด่าน ที่ด่านบ่อหาน

ทางการจีนสร้างถนนลาดยาง 4 เลน โดยการ เจาะภูเขา จากด่านบ่อหานถึงสิบสองปันนา (เชียงรุ่ง) มีอุโมงค์ 28 อุโมงค์ และจากสิบสองปันนา ถึงเมืองคุนหมิง มี 49 อุโมงค์ ยาวบ้างสั้นบ้าง บางอุโมงค์ยาว 3,170 เมตร สะพานข้ามเหวเชื่อมต่อจากภูเขาลูกหนึ่งไปยังภูเขาอีกลูกหนึ่ง ทำให้ถนนไม่ลาดชันและคดเคี้ยวมากนัก สะพานหงเหอ (Honghe Bridge) มีความสูงมาก คือ จากตอม่อถึงกลางสะพานสูงถึง 265 เมตร



การพัฒนาประเทศนั้นเป้าหมายหลักก็คือ ทำอย่างไรถึงจะให้มีถนนเชื่อมถึงกันทุกตำบลได้ ทั้งนี้เพื่อที่จะให้เกษตรกรสามารถนำผลผลิตการเกษตรทุกชนิดไปขายในเมือง และสินค้าอุปโภคบริโภคจากในเมืองไปขายในเขตชนบทได้อย่างสะดวกสบาย การที่ประชาชนจะอยู่ดี กินดีได้หรือไม่นั้น ตัวชี้วัดอยู่ที่ "ซื้อง่าย ขายคล่อง" นั่นเอง

เมื่อผมได้รับเลือกเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดตากครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 นั้น ผมมาทำหน้าที่ ส.ส.อยู่ในสภาได้สักพักหนึ่ง รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาได้เชิญผมไปศึกษาดูงานระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 30 วัน นอกจากศึกษาดูงานสภา Congress และระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกาแล้ว ผมยังได้ขอศึกษาดูงานขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Organization) ที่นิวยอร์กด้วย และมีความประทับใจที่ UNO (ต่อมาเรียก UN) ได้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่รวมของรัฐบาลทั่วโลก มีวัตถุประสงค์ให้รัฐบาลต่าง ๆ ช่วยกันรักษาสันติภาพ ช่วยกันป้องกันอย่าให้เกิดสงครามโลกขึ้นอีก

สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้และพบเห็นคือ การเชื่อมเส้นทางให้ถึงกันได้ทุกแห่ง ทุกสถานที่ เพื่อความสะดวกสบาย และประชาชนจะได้ซื้อง่าย ขายคล่อง ผมได้พบว่าประเทศต่าง ๆ ได้พยายามสร้างแล้วตามกำลังเงินงบประมาณของแต่ละประเทศ ไทยก็สร้างแล้วแต่ยังขาดช่วงรอยต่อพม่า-ไทย ที่เมืองเมียวดีของพม่า กับที่อำเภอแม่สอดของไทย ซึ่งมีแม่น้ำเมยคั่นกลางอยู่ ผมคิดว่าประเทศทั้งสองควรจะได้ร่วมกันก่อสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้นเพื่อเชื่อมโยง ถนน A-1 ของ Asian Highway ให้สำเร็จ

เมื่อผมมีโอกาสเป็นที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา) ผมได้ทำหนังสือเสนอโครงการก่อสร้างสะพานนี้ต่อท่าน เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2529 โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1.เพื่อเสริมสร้างสัมพันธไมตรีอันดีของประชาชนไทยกับพม่า 2.เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศทั้งสอง และ 3.เพื่อสนองตอบนโยบายขององค์การสหประชาชาติที่ต้องการสร้างการเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย (Asian Highway A-1) ซึ่ง พล.อ.อ.สิทธิเห็นชอบในหลักการ และจะได้ดำเนินการต่อไป

หลังจากนั้นได้มีการลงนามกับรัฐบาลพม่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2532 ที่กรุงย่างกุ้ง แล้วงานจึงเริ่มต้น ต่อมาผมได้ไปติดต่อกับเลขาธิการ ESCAP (Economic and Social Commission for Asia and Pacific) เพื่อขอความช่วยเหลือ ท่านเลขาธิการ (Mr.S.A.M.s. Kibria) ได้ขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นส่งผู้เชี่ยวชาญการก่อสร้างสะพานของรัฐบาลญี่ปุ่นมา 3 คน คือ Dr.S.Yoshida, Mr.K. Kawaji และ Mr.H. Nakayama มาทำการสำรวจและออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ก็สำรวจออกแบบเสร็จ เป็นสะพานใหญ่ 4 ช่องจราจร และมีวงเวียนที่คอสะพานด้วย ค่าก่อสร้าง 200 ล้านบาท

ระหว่างที่แผนงานต่าง ๆ กำลังดำเนินอยู่นั้นก็มีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้น กล่าวคือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้จับกุมตัว นายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และล้มรัฐบาล โครงการก่อสร้างจึงหยุดชะงัก

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป ผมได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกครั้งหนึ่ง และสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกผมเป็น ประธานกรรมาธิการการเศรษฐกิจของสภาผู้แทนราษฎร ผมก็ได้อาศัยตำแหน่งนี้ฟื้นฟูโครงการนี้เพื่อสานต่อให้สำเร็จ และได้เดินทางไปพบรัฐมนตรีก่อสร้างของพม่า (U Khin Maung Yin) เพื่อร่วมกันวางแผนสานต่อโครงการดังกล่าวให้สำเร็จ เมื่อถึงสนามบินย่างกุ้ง ท่านเอกอัครราชทูต วีระศักดิ์ ฟูตระกูล ได้กรุณามารับที่สนามบิน และระหว่างนั่งรถไปโรงแรม ท่านทูตได้บอกกับผมว่า ท่านทราบรายละเอียดโครงการก่อสร้างสะพานนี้แล้ว และจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลมีนโยบายให้ถือว่า "พม่าเป็นเพื่อนบ้านข้างเคียง" และควรส่งเสริมให้มีมิตรไมตรีต่อกัน ผมรับทราบด้วยความยินดี และนับว่าเป็นกำลังใจอันสำคัญยิ่งที่จะฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงซึ่งมีอยู่มากมายให้ลุล่วง และทำให้สำเร็จให้จงได้

หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (พ.อ.วินัย สมพงษ์) ได้บอกกับผมว่าสะพานแห่งนี้จะมอบให้กรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้างให้โดยเร็วที่สุด ต่อมาผมได้พาคณะอนุกรรมการไปลงนามกับฝ่ายพม่า เพื่อรับทราบแบบสะพานและงบประมาณ มีพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานแห่งนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2537 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย (พ.อ.วินัย สมพงษ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงก่อสร้างของพม่า (U Khin Maung Yin) เป็นประธานร่วมกัน

มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานที่ปรึกษา ได้บันทึกสะพานมิตรภาพไทย-พม่าไว้ในสารานุกรมดังกล่าว ในเล่มที่ 11 ลำดับที่ 4996 ดังนี้

มิตรภาพไทย-พม่า, สะพาน สะพานมิตรภาพไทย-พม่า เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเมย ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ใกล้บริเวณชายแดนไทย-พม่า เพื่อเชื่อมเมืองเมียวดีของพม่ากับอำเภอแม่สอด วัตถุประสงค์หลักในการสร้างสะพาน คือ เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีอันดีของประชาชนไทยกับพม่า เสริมสร้างเศรษฐกิจและการค้าขายบริเวณชายแดนของสองประเทศ และเพื่อสนองตอบนโยบายขององค์การสหประชาชาติ ที่มุ่งหวังเชื่อมโยงเส้นทางส่วนที่ยังขาดอยู่ทางตอนใต้ของทางหลวงเอเชีย ผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ริเริ่มความคิดในการดำเนินงาน ตลอดจนดูแลการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ให้เป็นผลสำเร็จ คือ นายอุดร ตันติสุนทร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สะพานนี้มีความยาว 420 เมตร ความกว้าง 8 เมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 79.2 ล้านบาท ก่อสร้างโดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม โดยเริ่มจากปลายถนนสายเอเชีย หมายเลข 105 เริ่มก่อสร้างในปี 2537 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 18 เดือน สะพานมิตรภาพไทย-พม่าเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2540

จึงถือเป็นสะพานประวัติศาสตร์แห่งแรก ที่เริ่มเชื่อมประสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับเมียนมา และต่อมาจึงมีสะพานมิตรภาพระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายแห่ง ซึ่งล้วนแต่นำมาซึ่งประโยชน์ของประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นเรื่องสำคัญ สะพานเชื่อมประสานการเดินทางไปมาหาสู่ก็เป็นเรื่องสำคัญ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สะพานมิตรภาพไทย-พม่า สะพานแห่งประวัติศาสตร์

view