สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปลดล็อคธุรกิจ จ้างงานคนพิการ ทำงานเพื่อสังคม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

การจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานใน ชุมชน เป็นมิติใหม่ในการจ้างงานผู้พิการของภาคธุรกิจที่ได้ทั้งปฏิบัติตามกฎหมาย สร้างผลกระทบด้านการตลาดและสังคม

แม้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 จะกำหนดให้สถานประกอบการต้องจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ในอัตราส่วน 100 คน ต่อ 1 คน ซึ่งส่งผลให้มีโควต้าผู้พิการที่ต้องได้รับการว่าจ้างงานตามกฏหมายทั้งสิ้น ราว 47,000 คน แต่จากข้อมูลล่าสุดปี 2557 ปรากฏตัวเลขการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการเพียง 24,604 คน

หากวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้สถานประกอบการส่วนใหญ่เลือกที่จะส่งเงินเข้า กองทุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 แทนการว่าจ้างผู้พิการ (ในกรณีหากสถานประกอบการใดไม่สามารถจ้างคนพิการได้) จนทำให้ปัจจุบันมีเงินนอนอยู่ในกองทุนกว่า 8 พันล้านบาท มีที่มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความไม่พร้อมของสถานประกอบการ ที่ตามกฎหมายระบุว่า ต้องเตรียมจัดพื้นที่อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการในด้านต่างๆ

นอกจากนี้ สถานการณ์ฟากฝั่งของผู้พิการเองก็น่าเป็นห่วง เนื่องจากพบว่าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 เป็นผู้พิการที่มีการศึกษาระดับต่ำกว่าประถม และมีเพียงร้อยละ 7.42 และ 0.91 เท่านั้นที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับประถมและระดับอุดมศึกษาตามลำดับ เหล่านี้สะท้อนความจริงให้เห็นว่าแรงงานผู้พิการเหล่านี้ ยังมีศักยภาพเทียบเท่ากับ “แรงงานไร้ฝีมือ” ขณะคนพิการจำนวนมาก แม้จะมีศักยภาพทำงานได้ แต่ไม่พร้อมจะย้ายถิ่นฐานไปทำงานห่างไกลภูมิลำเนา

ทำให้ปัจจุบันผู้พิการที่อยู่ในวัยทำงานหรืออายุต่ำกว่า 60 ปีทั่วประเทศ ที่มีศักยภาพ แต่ไม่มีงานทำ มีมากถึง 22,396 คน ที่ต้องอาศัยรายได้หลักจากเบี้ยยังชีพคนพิการที่ภาครัฐจ่ายให้เดือนละ 800 บาท

เพื่อให้คนพิการมีโอกาสเข้าถึงงานและสามารถดำรงชีวิตได้ทัดเทียมกับบุคคล ทั่วไปได้มากขึ้น มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม จึงได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) กระทรวงแรงงาน กรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และภาคธุรกิจ ร่วมหาแนวทางพัฒนาและสนับสนุนการจ้างงานที่เอื้อต่อการเข้าถึงโอกาสมีงานทำ ของคนพิการ ด้วยแนวทางการดำเนิน โครงการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานในชุมชนหรือองค์กรสาธารณะประโยชน์

ซึ่งการจ้างงานคนพิการในมิติใหม่ดังกล่าวนี้ จะเปิดโอกาสให้คนพิการเป็นพนักงานเพื่อทำงานบริการชุมชนหรือสาธารณะ ในพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของคนพิการ ซึ่งเป็นหนึ่งในเนื้องานตามภารกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของสถานประกอบ การ ข้อดีคือเป็นการนำงานไปถึงคนพิการแทนที่จะดึงคนพิการออกจากชุมชน ทำให้คนพิการได้อยู่ในภูมิลำเนาที่ตนเองคุ้นเคย ที่ยังสะดวกต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ

ปี พ.ศ.2557 มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมและภาคีจึงได้จัดโครงการนำร่องจ้างงานคนพิการใน ชุมชนจำนวน 229 คนเข้าร่วมโครงการ และมีสถานประกอบการ 20 แห่ง ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ อาทิ บริษัท เบทาโกร จำกัด, บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, กลุ่มพรีเมียร์ และบริษัท อาปีโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

โดยการว่าจ้างรูปแบบนี้ เป็นการจ้างคนพิการมาเป็นพนักงานเพื่อปฏิบัติภารกิจตามนโยบายความรับผิดชอบ ต่อสังคมของสถานประกอบการ และเป็นผู้สั่งการและมอบหมายให้คนพิการเข้าปฏิบัติงานสนับสนุนองค์กรในท้อง ถิ่นหรือสาธารณะประโยชน์ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องมีสามเงื่อนไขหลักคือ มีการปฏิบัติงานจริง จ่ายผลตอบแทนถูกต้องตามกฏหมาย บริษัทมีอำนาจบังคับบัญชาผู้พิการได้ตามสิทธิ

“ในความเป็นจริงคนพิการไม่ได้ต้องการสร้างภาระอะไรให้สังคม แต่มีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือตัวเองให้ได้”

“สมชาย เจริญอำนวยสุข” อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาในเวทีเสวนา “มาตรา 33 กับการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานในชุมชน” พร้อมยังกล่าวว่า ความมุ่งหวังแท้จริงของมาตรา 33 คือการส่งเสริมศักยภาพผู้พิการในสังคม ซึ่งรัฐไม่ได้ต้องการใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือเพื่อบีบบังคับสถานประกอบการ

“เราไม่ได้ต้องการเงินเข้ากองทุนมากๆ แต่ปรารถนาให้ผู้พิการได้รับเงินจากการจ้างงานโดยตรงจากสถานประกอบการ”

ด้าน “จินตนา จันทร์บำรุง” ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการคนพิการ พก. ชี้แจงเสริมว่า ในทางกฏหมายการจ้างงานคนพิการสามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า หากส่งเงินเข้ากองทุนฯ ลดหย่อนได้ 1 เท่า

“ธิติพัทธ์ เจียมรุจีกุล” ผู้อำนวยการงานพัฒนาทรัพยากรบุคคลและธุรการ บริษัท พรีเมียร์ จำกัด หนึ่งใน 20 สถานประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการนำร่องการจ้างงานคนพิการในชุมชน เล่าว่า บริษัทมีนโยบายว่าจ้างพนักงานผู้พิการเป็นพนักงาน แต่อุปสรรคที่เกิดคือการหาผู้พิการที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานยาก และเมื่อเข้ามาทำงานไม่นานก็ลาออก จึงได้ร่วมโครงการโดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมที่เป็น สื่อกลางในการจัดหาผู้พิการและพื้นที่ทำงานให้ ทางบริษัทมีการออกสัญญาว่าจ้างพนักงาน ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายซีเอสอาร์ของบริษัท โดยให้สิทธิและสวัสดิการเทียบเท่าพนักงานคนอื่นในบริษัท ซึ่งมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมได้ช่วยติดตามรายงานการปฏิบัติงานเป็นระยะ

เขาบอกอีกว่า โครงการนี้เป็นโอกาสที่ดีของฝ่ายบุคคลในการนำเสนอแก่ผู้บริหารว่า การจ้างงานคนพิการดังกล่าวไม่เพียงปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ยังช่วยสร้างอิมแพคทางการตลาดให้กับองค์กรได้ด้วย เพราะเป็นเสมือนการสร้างภาพลักษณ์ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งบริษัทมีงบประมาณดังกล่าวอยู่แล้ว วิธีนี้จึงเป็นซีเอสอาร์ที่แท้จริง

“สิ่งที่เราทำ ไม่ใช่เพราะความสงสาร แต่มองว่าเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของบริษัทในการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม” เขากล่าว

ด้าน “ระวิวรรณ พานิชขจรกุล” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังจันทร์ จ.ระยอง ร่วมเป็นผู้คัดเลือกคนพิการในชุมชน มาเข้าโครงการและเป็นพนักงานของโรงพยาบาลฯ บอกว่า เดิมคนพิการในชุมชนถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการพัฒนาตนเอง ผู้พิการก็มีปัญหาไม่กล้าเข้าสังคม แต่หลังการดำเนินโครงการ 3 เดือนแรก พบว่า เห็นความเปลี่ยนแปลงคือ ผู้พิการมีการปรับตัว จากเดิมที่ไม่มั่นใจ กลับมีความมุ่งมั่นในการทำงาน และพยายามพัฒนาตนเองมากขึ้น

ส่วน “สายหยุด ชาวนา” นักวิชาการสาธารณสุข รพ.สต.วังจันทร์ กล่าวว่า การจ้างคนพิการ 1 คนก็เหมือนเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนทั้งชุมชน

“เพราะคนในหมู่บ้านสี่พันกว่าคน ทุกคนรู้จักคนพิการหมด ซึ่งการจ้างงานครั้งนี้ทุกคนในหมู่บ้านจึงรับรู้ไปด้วย ก็รู้สึกชื่นชมที่โครงการนี้เกิดขึ้น”

ปิดท้ายกับ “มุกริน สุทธิจินดาวงษ์” ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาระบบการคุ้มครองแรงงาน สำนักคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้ข้อเสนอแนะว่า การว่าจ้างคนพิการในรูปแบบนี้ สถานประกอบการควรให้สิทธิ์พนักงานที่เป็นคนพิการเท่าเทียมคนปกติ ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้างงาน การประเมินผลงานเหมือนกับทุกคนในบริษัท และควรมีการขึ้นทะเบียนลูกจ้าง มีที่อยู่จริงเพื่อความสะดวกในการติดต่อ โดยผู้ว่าจ้างต้องไม่ทอดทิ้งเขาไว้ในชุมชน แต่ควรเดินทางไปเยี่ยมเยียนติดตามบ้าง และปฏิบัติต่อผู้พิการเสมือนเป็นพนักงานคนหนึ่งขององค์กร เพื่อศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจ

หากสถานประกอบการ องค์กรท้องถิ่น องค์กรสาธารณประโยชน์ คนพิการที่ทำงานได้ ต้องการทำงาน สามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการได้ที่ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม โทร.02-279-9385 หรือ www.sif.or.th

เพื่อร่วมสร้างโอกาสใหม่ให้ผู้พิการ ได้เติบโตในโลกการทำงานอย่างเท่าเทียม


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปลดล็อคธุรกิจ จ้างงานคนพิการ ทำงานเพื่อสังคม

view