สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความรักของหม่อมศรีพรหมมา ปฏิเสธเป็นเจ้าจอม ร.๕ ขอแค่ชายาชาวไร่

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย โรม บุนนาค

ความรักของหม่อมศรีพรหมมา ปฏิเสธเป็นเจ้าจอม ร.๕ ขอแค่ชายาชาวไร่!!!

       เจ้าศรีพรหมมา เป็นธิดา พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (เจ้าสุริยะ ณ น่าน) ผู้ครองนครน่าน ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศราชของไทย และมีความจงรักภักดีกับไทยอย่างมั่นคง ทำความดีความชอบหลายครั้ง จึงได้รับโปรดเกล้าฯเป็น “พระเจ้า” ซึ่งเจ้าประเทศราชน้อยองค์นักที่จะได้รับสถาปนาถึงระดับนี้
       
       เมื่อครั้งเกิดกบฏเจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์ พระเจ้าสุริยพงษ์ฯได้ตามเสด็จกรมหลวงวงศาธิราชสนิทไปปราบปรามด้วย และได้รับส่วนแบ่งเชลยที่กวาดต้อนมาพันคน ในจำนวนนี้มี แม่เจ้าศรีคำ ร่วมมาด้วย ต่อมาพระเจ้าน่านได้ยกแม่เจ้าศรีคำขึ้นเป็นหม่อมน้อย มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน เจ้าศรีพรหมมาเป็นคนสุดท้อง
       
       เมื่อจัดรูปแบบการปกครองใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ รัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯได้ส่ง พระยามหิบาลบริรักษ์ (สวัสดิ์ ภูมิรัตน์) เมื่อครั้งยังเป็นพระพรหมสุรินทร์ ขึ้นไปเป็นข้าหลวงกำกับราชการ คุณหญิงอุ๊น ภรรยาเจ้าคุณมหิบาลฯ เป็นสตรีหัวก้าวหน้า รับการศึกษามาจากประเทศฝรั่งเศส พูดภาษาทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษได้คล่อง จึงช่วยราชการเจ้าคุณสามีได้มาก เนื่องจากขณะนั้นทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในย่านนี้ ประกอบกับทั้งสองท่านเป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารี จึงมีความสนิทสนมรักใคร่กับครอบครัวพระเจ้าน่านมาก เมื่อได้เห็นเจ้าศรีพรหมมาในวัย ๓ ขวบก็เกิดรักใคร่เมตตา จึงเอ่ยกับพระเจ้าสุริยพงษ์ฯขอเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งพระเจ้าน่านก็ยกให้ตามประสงค์
       
       ในวันที่รับตัวเจ้าศรีศรีพรหมมาไปนั้น สาวใช้สองคนช่วยกันจับแบกขึ้นบ่า วิ่งจากคุ้มไปจวนข้าหลวง โดยเจ้าศรีพรหมมาร้องไห้สุดเสียงไปตลอดทาง พ่อแม่ใหม่รู้ใจว่าเจ้าศรีพรหมมาชอบดูลิเกมาก จึงจ้างลิเกมาแสดง แต่เจ้าศรีพรหมมาไม่ยอมดู เรียกหาแต่ “อีแม่คำเอ๊ย มาเอาเฮาจี่ม” ตั้งแต่ย่ำคำจนฟ้าสางจึงหมดแรงหลับไป
       
       พระเจ้าน่านยอมยกลูกสาวให้เจ้าคุณมหิบาลฯ ก็เพราะมองการไกล อยากให้ลูกได้รับการศึกษาและเปิดหูเปิดตา แต่แม่เจ้าศรีคำทำใจไม่ได้ วิ่งเข้าป่าเหมือนคนบ้า เจ้าหลวงต้องตามไปปลอบโยนว่า
       
       “อย่าเศร้าโศกไปเลย เราคนธรรมะธัมโม ให้ทานลูกได้บุญเหมือนพระเวสสันดรให้กัณหาชาลีไปกับชูชก”
       
       เจ้าหลวงต้องพาแม่เจ้าศรีคำขึ้นช้างออกเที่ยวป่าไป จนคลายคิดถึงลูก
       
       เจ้าคุณมหิบาลฯและคุณหญิงให้ความรักเจ้าศรีพรหมมาเหมือนลูกที่ให้ กำเนิด คุณหญิงอุ๊นล่อใจเจ้าศรีพรหมมาด้วยเครื่องแต่งตัว มีทั้งสายสร้อยและจี้ระย้า เจ้าศรีพรหมมาชอบใจเลยยอมเป็นแม่ลูกกัน เรียกคุณหญิงอุ๊นว่า “คุณแม่” และเรียกเจ้าคุณมหิบาลฯว่า “คุณพระ” แต่พูดไม่ชัดเลยเป็น “คุณป๊ะ” และติดปากไปจนโต
       
       เจ้าคุณมหิบาลฯและคุณหญิงนำเจ้าศรีพรหมมาติดตามไปราชการเดินทางขึ้น ล่องตลอด เมื่อเจ้าคุณย้ายไปเป็นข้าหลวงจังหวัดชลบุรี เจ้าศรีพรหมมาก็ตามไปอยู่ด้วยบางครั้ง เพราะเข้าเป็นนักเรียนประจำที่ ร.ร.สุนันทาลัย ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนกินนอนสตรีแห่งแรกของรัฐบาล มีแหม่มอังกฤษและครูไทยที่ศึกษามาจากอังกฤษเป็นครู ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ฝึกกิริยามารยาทแบบผู้ดีชาววัง แต่เรียนได้ ๕ เดือนโรงเรียนก็ล้ม ต้องย้ายไปเรียนที่โรงเรียนวังหลังของแหม่มโคลด์ มิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งต่อมาก็คือ ร.ร.วัฒนาวิทยาลัย เรียนอยู่ ๘ เดือนก็ต้องลาออกอีก เพราะเจ้าคุณและคุณหญิงต้องไปรับราชการต่างประเทศ
       
       แม้เจ้าศรีพรหมมาจะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนน้อย แต่คุณหญิงมารดาก็ให้การศึกษานอกโรงเรียนมาตลอด ตั้งแต่อยู่เมืองน่านก็สอนให้เขียนให้อ่านมูลบทบรรพกิจ ตอนมาอยู่เมืองชลก็ให้เสมียนอ่านพงศาวดารจีนให้ฟัง
       
       เจ้าศรีพรหมมาฉายแววเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่เด็ก ครั้งหนึ่งตอนเข้ามาอยู่กรุงเทพฯแถวเสาชิงช้า เจ้าคุณและคุณหญิงพาไปเที่ยวงานที่สนามหลวงแล้วเกิดหลง เจ้าศรีพรหมมาซึ่งตอนนั้นอายุยังไม่กี่ขวบก็มีไหวพริบ ถอดทองหยองเครื่องประดับ ทั้งกำไลข้อมือข้อเท้าห่อผ้า แล้วเรียกรถรับจ้างให้ไปส่งเอาค่ารถที่บ้าน
       
       ในปี พ.ศ.๒๔๔๒ เจ้าคุณมหิบาลฯต้องไปรับหน้าที่เป็นอัครราชทูตประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เพื่อจะเป็นพระอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งเสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารที่นั่น ครั้นจะเอาเจ้าศรีพรหมมาไปด้วยก็กลัวว่าจะทนหนาวไม่ได้ อาศัยที่คุณหญิงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๕ จึงนำเจ้าศรีพรหมมาไปถวายไว้ในพระอุปการะ และโดยพระมหากรุณาธิคุณ เจ้าศรีพรหมมาในวัย ๙ ขวบจึงได้เข้าไปอยู่ในราชสำนัก ได้คุ้นเคยเป็นเพื่อนเล่นกับพระบรมวงศานุวงศ์รุ่นราวคราวเดียวกันหลาย พระองค์ รวมทั้ง “ทูลกระหม่อมเอียดน้อย” ซึ่งต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
       
       เมื่อเจ้าคุณและคุณหญิงไปรับราชการอยู่ที่รัสเซียได้ ๓ ปี ใกล้จะครบวาระ มีความคิดถึงลูกสาวมาก จึงขอพระบรมราชานุญาตสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ขอรับตัวลูกออกไปอยู่ด้วย เจ้าศรีพรหมมาจึงออกเดินทางไปคนเดียวในวัย ๑๒ขวบ โดยฝากที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการชาวอังกฤษซึ่งได้ลาพักกลับไปเยี่ยมบ้าน ให้ช่วยดูแลระหว่างทาง โดยคุณหญิงอุ๊นมารอรับที่ท่าเรือในฝรั่งเศส
       
       เมื่ออยู่รัสเซียได้เพียง ๑ เดือน คุณหญิงอุ๊นเกิดป่วย จนต้องหนีหนาวมาอยู่อังกฤษ เจ้าศรีพรหมมาจึงได้ศึกษาภาษาอังกฤษเพิ่มอีก ๖ เดือนก่อนกลับกรุงเทพฯ และได้เข้ารับราชการในสำนักสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีหน้าที่ตามเสด็จและเป็นล่ามในบางครั้ง
       
       ในปลายรัชกาลที่ ๕ เจ้าศรีพรหมมาเป็นสาวเต็มตัว มีทั้งความงามและความรู้ กับมีความเป็นตัวของตัวเอง ผิดกับสาวชาววังทั่วๆไป จึงเป็นที่พอพระราชหฤทัยสมเด็จพระปิยมหาราช ถึงกับรับสั่งกับเจ้าศรีพรหมมาว่า โปรดจะให้รับราชการเป็นเจ้าจอม เจ้าศรีพรหมาปฏิเสธในบัดนั้น โดยกราบบังคมทูลเป็นภาษาอังกฤษให้สะดวกใจกว่าภาษาไทยว่า เคารพพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ แต่มิได้รักใคร่พระองค์ในทางชู้สาว
       
       คำปฏิเสธตำแหน่งสนมของเจ้าศรีพรหมมามานี้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของชาววังทั่วไป และเห็นว่าเป็นความกล้าหาญอย่างมากที่กล้ากราบทูลกับพระองค์โดยตรง ซึ่งสมเด็จพระปิยมหาราชก็ทรงพระเมตตาให้เป็นไปตามอัธยาศัย และทรงมีพระกรุณาต่อเจ้าศรีพรหมาตลอดมา ทรงฉายรูปเจ้าศรีพรหมมาด้วยพระหัตถ์รูปหนึ่ง ตั้งไว้ในห้องบรรทมบนพระที่นั่งอัมพรสถานตลอดจนสวรรคต
       
       ตอนที่เจ้าศรีพรหมมากลับมาจากอังกฤษเมื่ออายุ ๑๕ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร ได้เคยขอให้หม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา พระมารดา ซึ่งชอบพอกับคุณหญิงอุ๊น มาสู่ขอเจ้าศรีพรหมมา คุณหญิงอุ๊นเห็นว่าท่านสิทธิพรสำเร็จวิชาวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัย ลอนดอนมา ยังไม่เคยทำการทำงาน จึงเกี่ยงว่าถ้าท่านชายจะมาเป็นเขย ก็ขอให้ไปทำมาหากินสร้างเนื้อสร้างตัวเสียก่อน จึงจะเลี้ยงลูกสาวท่านได้ ท่านสิทธิพรก็อุตส่าห์ไปลงทุนทำการค้ากับหม่อมมารดา แต่ปรากฏว่าขาดทุน จึงเข้ารับราชการ
       
       ระหว่างนี้ ม.จ.สิทธิพรก็ไปมีหม่อม มีบุตร แต่หม่อมเกิดเสียชีวิต ทำให้ตกพุ่มพ่ายในวัยหนุ่ม จึงกลับมาป้วนเปี้ยนเลียบเคียงเจ้าศรีพรหมมาที่ผูกใจรักมาแต่แรกอีก จนสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงคุ้นเคยกับ ม.จ.สิทธิพรตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทั้งยังทรงศึกษาที่อังกฤษด้วยกัน เล่นละครมาด้วยกัน ได้ตรัสขอเจ้าศรีพรหมมากับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระพันปีหลวง พระราชมารดา ให้กับ ม.จ.สิทธิพร และจัดงานสมรสพระราชทานเมื่อปี ๒๔๕๙ ขณะที่เจ้าศรีพรหมมามีอายุได้ ๒๗ ปี ส่วนท่านสิทธิพรอยู่ในวัย ๓๒ ซึ่งหม่อมศรีพรหมมาได้ให้สัมภาษณ์ในวัย ๖๐ ปีว่า ผู้หญิงไทยในสมัยนั้น ส่วนใหญ่แต่งงานในวัย ๑๔ ปีเท่านั้น
       
       ม.จ.สิทธิพรก้าวหน้าในหน้าที่ราชการอย่างมาก เริ่มแรกเข้ารับตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ต่อมาเป็นอธิบดีกรมกษาปณ์สิทธิการ ซึ่งก็คือกรมธนารักษ์ในปัจจุบัน ได้ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมผลิตเหรียญบาทและเงินตราอื่นๆออกมา เมื่อมาเป็นอธิบดีกรมฝิ่น ในกระทรวงการคลัง กรมใหญ่ซึ่งทำรายได้ให้ประเทศมากกว่าทุกกรม ซึ่งต่อมาก็คือกรมสรรพสามิต ท่านสิทธิพรก็ปฏิรูประบบราชการต่างๆให้รัดกุมยิ่งขึ้น และชักชวนให้ข้าราชการเล่นดนตรีและกีฬา ท่านเองก็ทรงจัดฟุตบอลทีมชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ลงแข่งกับทีมต่างประเทศที่มาเยือน
       
       แรกๆ ม.จ.สิทธิพร กฤดากรทรงสนุกกับการทำงานมาก แต่มาระยะหลังก็เกิดความเบื่อหน่าย ซึ่งหม่อมศรีพรหมมาได้เล่าไว้ในหนังสือ “อัตชีวประวัติ หม่อมศรีพรหมมา กฤดากร” เรียบเรียงโดย ส.ศิวรักษ์ และมูลนิธิ จิม ทอมป์สัน จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์เจ้าศรีพรหมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ ตอนหนึ่งว่า
       
       “...เพราะว่าอะไรท่านก็เสร็จหมดแล้ว กษาปณ์ก็ทำแล้ว ท่านไปดูงานที่ชวามาก็ดัดแปลงเรื่องฝิ่นให้เป็นสมัยใหม่ หยอดด้วยเครื่องจักร ทีแรกเขาห่อกัน เหมือนยังกับฝิ่นสูบธรรมดานี้ ทำเป็นเครื่องท่านก็ทำสำเร็จ กษาปณ์ก็เสร็จ แล้วท่านก็ไม่มีงานแปลกที่จะทำ นอกจากนั่งออฟฟิศไปวันๆ ท่านไม่ชอบ”
       
       ท่านสิทธิพรจึงทรงหารือกับชายา และเห็นพ้องต้องกันว่า อนาคตของชาติบ้านเมืองอยู่ที่การกสิกรรม เวลานั้นวิชาการเกษตรเริ่มปรากฏขึ้นแล้วในนานาประเทศ ถ้าคนมีความรู้หันมาสนใจการทำกสิกรรม ทำให้เห็นตัวอย่างในด้านนี้แล้ว ก็อาจทำให้คนหันมายึดอาชีพกสิกรรมกันมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองในวงกว้าง
       
       หม่อมศรีพรหมมามีที่ดินมรดกอยู่แปลงหนึ่ง ซึ่งเจ้าคุณพ่อและคุณหญิงแม่มอบให้ อยู่ที่ตำบลบางเบิด อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขตติดต่อจังหวัดชุมพร ซึ่งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เจ้าพี่ของ ม.จ.สิทธิพรรับสั่งว่า “อยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์” เพราะรถไฟไม่มีสถานีจอด ต้องต่อเกวียนอีกไกล หรือไม่ก็ต้องไปทางเรือ แต่แม้จะไกลแสนไกล เดินทางไปลำบาก ตอนที่แต่งงานกัน ท่านสิทธิพรและหม่อมศรีพรหมมาก็ไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กันที่นั่น
       
       “เพราะเป็นที่ของเรา ฉันเห็นว่ามันงามก็ชอบใจ แต่เวลานั้นยังไม่ได้คิด” หม่อมศรีพรหมมาเล่า “ทีนี้พูดกันไปพูดกันมาปรารภกันอย่างนี้นะ ว่าเด็กต่อไปนี้ชั้นลูกหลานของเราจะไม่มีหน้าที่ดีเท่าพ่อ เพราะว่าการแข่งขันก็จะมาก แล้วคนที่เหลือจะไปทำอะไรกัน ก็นึกถึงลูกก่อนละ จริงไหม ลูกที่จะโตต่อไป เด็กๆมันยังเล็กอยู่ แล้วท่านก็ชอบเลี้ยงไก่ เมื่อออกมาแต่งงานก็มีไก่เล็กฮอร์น แต่ว่าเลี้ยงกรง ท่านชอบไก่อยู่แล้ว ก็บอกว่าหนทางเดียวที่จะทำกันได้มากๆ ก็คือการกสิกรรม ไม่มีใครแย่ง ฉันบอกว่าฉันก็ชอบ เพราะว่าชีวิตบ้านนอกสบาย เมืองฉันก็เป็นป่าดง ฉันไม่รังเกียจจะไปอยู่ป่าอยู่ดง เมื่อเราตัดสินใจเช่นนั้นแล้ว ท่านก็เริ่มหาหนังสืออ่าน หนังสือต่างๆเรื่องไก่ก่อนเพื่อน ถัดไปก็เรื่องหมู ถัดไปก็เรื่องไร่นา”
       
       สมัยเมื่อเป็นอธิบดีกรมฝิ่นอยู่นั้น ท่านสิทธิพรทรงเลี้ยงไก่ไข่โดยไม่ต้องผสมพันธุ์กับตัวผู้ ซึ่งเป็นวิธีใหม่มากสำหรับเมืองไทย ตอนนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ทรงประชวร แพทย์แนะนำให้เสวยไข่ไก่บำรุงกำลัง แต่ท่านไม่ยอมเสวย เพราะไข่ก็เป็นตัวจะมีชีวิตต่อไป อันจะเป็นปาณาติบาต เมื่อข้าในกรมของพระองค์ท่านทราบเรื่องไข่ไก่ของท่านสิทธิพรไม่มีเชื่อ จึงไปเอาไข่จากกรมฝิ่นมาถวายเป็นประจำ สมเด็จพระสังฆราชก็หายประชวร
       
       เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะทิ้งเมืองหลวงไปอยู่ “นอกฟ้าป่าหิมพานต์” หม่อมศรีพรหมาได้เล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติว่า
       
       “เราต้องหาที่อยู่ คือบนที่ดอนนั่นเป็นที่ว่างเปล่า มีต้นไม้ใหญ่ๆโตๆตั้งอ้อมสองอ้อม ที่จะสร้างบ้านอยู่ให้เหมาะสมเป็นที่ทึบ เราต้องก่น ต้องสร้างก่อน แต่ว่ามีบ้านคุณแม่ไปปลูกไว้ เราก็ไปพักบ้านชายทะเล เรียกว่าบ้านชายทะเล เดินสัก ๕ นาทีก็ถึงที่ดอน และขึ้นไปหน่อย ที่ที่เราสร้างบ้านน่ะมันสูง ท่านเคยบอกว่าตั้งแต่พื้นทะเลจนถึงที่ดอนนั่นราว ๑๕๐ เมตร ก็เดินน่องเมื่อยแหละกว่าจะไปถึงได้ ระหว่างนั้นมันก็กินเวลา ถอนต้นตอไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้นไม้ใหญ่ๆตั้งอ้อมสองอ้อม กินเวลาเหมือนกัน ต้องจ้างพวกขมุแล้วก็พวกอีสาน มีไปทำงาน ๔ คน...”
       
       ไปๆมาๆอยู่พักหนึ่งจนสร้างบ้านเสร็จ ในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๖๓ ม.จ.สิทธิพรจึงละทิ้งลาภยศและตำแหน่งการงานอันรุ่งโรจน์ ลาออกจากราชการ พาหม่อมศรีพรหมมาไปอยู่ไร่บางเบิดหลังแต่งงานกันมา ๔ ปี ขณะที่ ม.ร.ว.อนุพร บุตรชายคนโตอายุ ๓ ขวบ ม.ร.ว.เพ็ญศรี บุตรสาวคนเล็กอายุเพียง ๗ เดือน
       
       หม่อมศรีพรหมมาเล่าถึงการเป็นชายาเจ้าชายาวไร่ตอนบุกเบิกไร่บางเบิดไว้ว่า
       
       “ก็เริ่มสวนครัวก่อนอื่น พริก มะเขือ หัวผักกาด มะเขือยาว ผักกาด แตงกวา อย่างชาวบ้านแกปลูก ที่สักนิดหน่อย ๒๐ เมตรคูณ ๒๐ เมตร เล็กนิดเดียวนะ ก็พอปลูกรับทานไป ในระหว่างนั้นก็ต้องขุดตอ ต้องระเบิดเอามั่ง อะไรมั่ง ทำอยู่นาน และในระหว่างนั้นก็ไปหาที่นอกที่ของเราเพื่อจับจอง เป็นที่โล่ง เป็นทุ่งหญ้า เป็นที่ว่างที่ราษฎรเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เราก็ไปกั้นลวดหนามเข้า ปลูกกระต๊อบ เอาแตงโมที่เรียกว่าแตงโมบางเบิด ชื่อว่า Tom Watson ปลูกเป็นชนิดแรก ลองปลูกประมาณ ๒๐ หลุม แล้วให้ยายแก่คนเก่าแก่ของคุณแม่คนหนึ่งแกเฝ้าดูและรดน้ำท่า เราขนน้ำไปให้แกรด เพราะมันเป็นที่ดอนไม่มีน้ำ แล้วก็อาศัยฝนด้วย ที่บ้านก็สูบน้ำขึ้นมาใส่ถัง ๔๐๐ แกลลอน แล้วก็ถ่ายใส่ปี๊บน้ำมันเบนซินเอาขึ้นไปสักเที่ยวสองเที่ยว มันไม่ไกลเท่าไหร่ แล้วฝนก็ตกลงมาช่วยบ้าง แตงก็โต ลูกโตเร็ว เราเผลอๆมันก็คลุมอยู่ ไม่มีใครรู้ว่าเป็นแตงโม ใบก็เขียวลูกก็เขียว พอเปิดดู โอ้โฮ้ลูกโต...”
       
       แม้จะเริ่มต้นอย่างลำบากลำบน แต่ด้วยความมุ่งมั่นอย่างจริงจังของท่านชาย โดยมีหม่อมศรีพรหมมาเป็นกำลังสำคัญ ไม่นานฟาร์มบางเบิดก็ประสบความสำเร็จ มีผลิตผลที่สำคัญคือ แตงโมบางเบิดที่โด่งดังมานาน ไข่ไก่พันธุ์เล็กฮอร์นที่เป็นแบบฉบับของการเลี้ยงไก่ทั่วประเทศ ยาสูบพันธุ์เวอร์ยิเนียซึ่งเป็นครั้งแรกที่นำมาปลูกในเมืองไทย แต่ก่อนต้องสั่งซื้อมาจากสหรัฐเพื่อป้อนโรงงานยาสูบ สินค้าของฟาร์มบางเบิดนี้ส่งไปขายที่กรุงเทพฯและปีนัง
       
       ยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างของฟาร์มบางเบิดในความมุ่งมั่นของท่านทั้งสอง ซึ่งหม่อมศรีพรหมมาเล่าว่า
       
       “ไม่ได้คิดถึงว่าเราจะทำให้ได้กำไร ขาดทุนก็ทำ คือแปลงหนึ่งทดลองไม่เสร็จ ขาดทุน ฉันก็ทำ ให้รู้ว่ามันขาดทุนเพราะอะไร เรียกว่าเป็นสถานีทดลองของเราก็ได้นะ”
       
       ด้วยเหตุนี้ ท่านทั้งสองจึงได้ชวนกันออกหนังสือพิมพ์ในชื่อ “กสิกร” โดยมี ม.จ.สิทธิพร กฤดากร เป็นบรรณาธิการ สำนักงานอยู่ที่ฟาร์มบางเบิด มีพระช่วงเกษตรศิลปาการ และเพื่อนอาจารย์จากโรงเรียนกสิกรรมบางสะพาน เป็นผู้ร่วมมืออย่างใกล้ชิด กสิกร ฉบับที่ ๑ ปีที่ ๑ ออกเมื่อเดือนเมษายน ๒๔๗๐ มีนักวิชาการด้านเกษตรเขียนบทความร่วมด้วยมาก หม่อมศรีพรหมมามีคอลัมน์ประจำอยู่ในนิตยสารฉบับนี้ด้วย เกี่ยวกับการแนะนำเรื่องถนอมอาหาร ในชื่อ “ชีวิตและหน้าที่ของสตรีที่ฟาร์มสมัยใหม่”
       
       ม.จ.สิทธิพรได้เขียนความเห็นลงในกสิกรว่า รัฐบาลควรมีนโยบายสนับสนุนการกสิกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะพืชบนที่ดอน ไม่ใช่คิดจะพึ่งแต่ข้าวอย่างเดียว ทั้งยังนำความเห็นนี้ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ซึ่งได้พระราชทานต่อไปยังสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต อภิรัฐมนตรีและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งพอพระทัยในความเห็นดังกล่าว จึงโปรดให้ ม.จ.สิทธิพรกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตรฯ แต่ท่านชายว่าไม่มีเวลาบริหารราชการได้ ขอรับเพียงตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม ซึ่งจะทรงทำหน้าที่ทดลองการเกษตรแผนใหม่ขึ้นตามที่ต่างๆ ให้มีการทำไร่นาสวนผสมประกอบการเลี้ยงสัตว์ขึ้น โดยเปิดสถานีขึ้นที่แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ที่สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และที่ควนเนียง จังหวัดสงขลา ทั้งเหนือ อีสาน ใต้ เช่นเดียวกับบางเบิด มีผู้ช่วยบรรณาธิการ กสิกร ๓ นาย คือ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ หลวงอิงคกสิการ และพระช่วงเกษตรศิลปาการ แยกย้ายกันไปเป็นหัวหน้าสถานี นสพ.กสิกร เลยโอนเป็นของราชการตั้งแต่บัดนั้น
       
       ปัจจุบันหนังสือกสิกรก็ยังออกวางตลาดอยู่เป็นปีที่ ๘๘ ในสังกัดกรมวิชาการเกษตร
       
       ในระหว่างที่ ม.จ.สิทธิพรรับตำแหน่งอธิบดีตรวจกสิกรรมในช่วงสั้นๆนี้ ไทยก็สามารถส่งข้าวไปประกวดได้รับรางวัลเป็นที่ ๑ ของโลก และยาสูบพันธุ์เวอร์ยิเนียที่โอนจากฟาร์มบางเบิดมาให้รัฐจัดการ ก็ได้รับการรับรองเป็นที่เชื่อถือของตลาดโลกด้วย
       
       ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร “เจ้าพี่”ได้ก่อกบฏขึ้น แต่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ “เจ้าน้อง” ม.จ.สิทธิพรจึงติดร่างแหไปด้วย ซึ่งหม่อมศรีพรหมมาเล่าว่า
       
       “เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชมาทรงชวนท่านให้ร่วมงานด้วยนั้น ท่านทรงปรึกษาฉัน ฉันทูลท่านว่า ถ้าท่านจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองแล้ว แม้จะเสี่ยงเพียงไร ฉันก็เห็นด้วยและสนับสนุนท่านเต็มที่”
       
       ผลจากงานนี้ พระองค์เจ้าบวรเดชต้องหลบไปลี้ภัยในอินโดจีน ท่านสิทธิพรถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ถูกคุมขังที่บางขวาง เกาะตะรุเตา เกาะเต่า รวมถึง ๑๑ ปี จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ
       
       ในระหว่าง ๑๑ ปีนั้น หม่อมศรีพรหมมาต้องรับเลี้ยงดูบุตรธิดาและฟาร์มบางเบิด แต่ท่านสิทธิพรก็ทำโปรแกรมให้ไว้ ว่าแปลงไหนจะปลูกอะไร พร้อมกับสั่งเสียไว้ว่า
       “keep the farm going มันเป็นที่รักของเราที่สุด”
       
       แม้จะบัญชาการงานฟาร์มบางเบิดแต่ผู้เดียว หม่อมศรีพรหมมาก็ทดลองปลูกกะหล่ำปลีตลอดปีได้สำเร็จตามโปรแกรมของท่านชาย ซึ่งก่อนหน้านั้นปลูกกันได้เฉพาะเมืองเหนือในฤดูหนาวเท่านั้น
       
       ชีวิตของหม่อมศรีพรหมมาในช่วงนี้ต้องขมขื่นไม่แพ้ท่านชาย ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองใช้วิธีฉ้อฉลบีบคั้นต่างๆ ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ท่านก็สู้อย่างทรหด เดชะบุญความยุติธรรมยังเหลืออยู่ในศาล ท่านจึงชนะคดี ส่วน ม.ร.ว.อนุพรสำเร็จจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศกลับมาก็หางานทำไม่ได้ เพราะเป็น “ลูกกบฏ”
       เมื่อพ้นโทษออกมาท่านสิทธิพรอยู่ในวัย ๖๐ แล้ว ควรจะหาความสงบสุขในชีวิตได้ แต่ท่านยังคิดที่จะช่วยชาวนาชาวไร่ต่อไปจึงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรให้กับรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ถึง ๒ สมัย และเมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามที่จับท่านเข้าคุก ท่านสิทธิพรก็ยังได้รับเชิญให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรอีก แต่ท่านปฏิเสธ ยอมช่วยงานในฐานะเอกชน ระหว่างนี้ท่านช่วยผลิตเซรุมป้องกันโรคระบาดสัตว์ รับเป็นผู้แทนรัฐบาลไปร่วมประชุมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และได้รับเลือกเป็นประธานของที่ประชุมติดต่อกันหลายสมัย
       
       เมื่อออกจากราชการครั้งหลังนี้ ทั้งท่านชายและหม่อมต่างก็มีอายุกันมากแล้ว ฟาร์มบางเบิดก็ถูกทอดทิ้ง อีกทั้งทุนทรัพย์ก็ร่อยหรอ เพราะไม่ว่าจะติดคุกหรือเป็นรัฐมนตรี ท่านก็ต้องชักเนื้อส่วนตัวทั้งนั้น ทั้งยังต้องไปช่วยดูแลสวนของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีที่จันทบุรีด้วย จึงได้ตัดสินใจขายฟาร์มบางเบิดให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ไป แล้วไปทำสวนเล็กๆเพียง ๑๐ ไร่ที่เขาเต่า หัวหิน โดยปลูกผักส่งตลาดกรุงเทพฯทั้งยังปลูก องุ่น หม่อน และอโวคาโดด้วย ซึ่งเป็นงานทดลองทั้งสิ้น
       
       ปัจจุบันฟาร์มบางเบิดเป็น “สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร” สังกัดสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย
       
       แม้ในบั้นปลายชีวิต ท่านทั้งสองก็มิได้ทอดทิ้งปัญหาของชาวไร่ ชาวนา ท่านสิทธิพรทรงต่อสู้เรื่องพรีเมี่ยมข้าว เรื่องการใช้ควายธรรมชาติแทนควายเหล็ก การใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักทำเองจากเศษพืชและมูลวัวควาย แทนปุ๋ยวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะแพงแล้ว ยังทำให้ดินเสียในระยะยาวด้วยซึ่งก็ล้วนแต่เป็นปัญหาที่เพิ่งมาเรียกร้องกัน ในวันนี้ทั้งนั้น
       
       แม้ฟาร์มบางเบิดจะประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบของการเกษตรไทยในปัจจุบัน แต่ก็เป็นไปตามจุดประสงค์ของท่านทั้งสอง ที่ทำเพื่อหาความรู้ให้กสิกรชาวไร่ชาวนา ไม่ได้หวังผลกำไร ในที่สุดที่ดินไร่นา เพชรพลอย เครื่องประดับทั้งหลาย รวมทั้งเงินรางวัล ๒๐๐,๐๐๐ บาท ที่ท่านชายได้รับจากมูลนิธิแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ เมื่อปี ๒๕๑๐ ก็ไม่มีเหลือ หมดไปกับการอุปถัมภ์ค้ำจุนชาวไร่ชาวนา และเป็นทุนการศึกษาของลูกหลานเกษตรกร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณารับซื้อที่เขาเต่าไว้ และพระราชทานให้พอซื้อที่ดินติดกับธิดาของท่านที่จังหวัดนนทบุรี ปลูกตำหนักหลังย่อมๆในราคาเพียง ๓๐,๐๐๐ บาท เป็นรังรักหลังสุดท้าย
       
       ม.จ.สิทธิพร กฤดากร สิ้นชีพิตักษัยในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๔ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงหม่อมศรีพรหมมา แสดงความเสียพระทัย และทรงยกย่องท่านสิทธิพรในฐานะ “บุรุษชาติอาชาไนยอันหาได้โดยยาก”
       
       ม.จ.สิทธิพรยังได้รับการยกย่องจากวงการเกษตรว่า เป็น “พระบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่” และทิ้งคำพูดให้คิดกันว่า
       
       “เงินทองเป็นของมารยา ข้าวปลาเป็นของจริง”
       
       เมื่อหม่อมศรีพรหมาหักห้ามความเศร้าโศกลงได้แล้ว ท่านก็ดำเนินรอยตามท่านสิทธิพรต่อไป ในอันที่จะเกื้อกูลลูกหลานชาวไร่ชาวนา เพื่อหาทางใช้ปุ๋ยหมักกันอย่างแพร่หลาย อีกท่านยังเชื่อมั่นว่าท่านชายได้เสด็จมาเยี่ยมท่านบ่อยๆ ถึงกับจดบันทึกวันที่เสด็จมา และเล่าให้คนใกล้ชิดฟังเสมอ ท่านยืนยันว่าท่านชายรอท่านอยู่ จนอายุใกล้ ๙๐ ปี หม่อมศรีพรหมมามีการหลงลืมและอ่อนกำลังลง จนอนิจกรรมในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๒๑ สิริรวมอายุ ๙๐ ปี ๖ เดือน ๖ วัน
       
       ความรักของท่านทั้งสอง นอกจากจะเป็นแบบฉบับการร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นแบบฉบับของการยึดมั่นในอุดมคติที่มุ่งมั่นจะสร้างแบบแผนใหม่ให้การ เกษตรของชาติร่วมกัน ไม่ว่าท่านจะทุกข์หรือสุขก็มุ่งมั่นในแนวทางนี้ไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับความรักของท่าน แม้คนหนึ่งจะสิ้นอิสรภาพถูกคุมขังและถูกปล่อยเกาะ แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการทำงานเพื่อสังคมต่อไปได้ เป็นแบบฉบับของชายชาติอาชาไนยและยอดหญิงอย่างแท้จริง

ความรักของหม่อมศรีพรหมมา ปฏิเสธเป็นเจ้าจอม ร.๕ ขอแค่ชายาชาวไร่!!!

ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ในวัยหนุ่ม

ความรักของหม่อมศรีพรหมมา ปฏิเสธเป็นเจ้าจอม ร.๕ ขอแค่ชายาชาวไร่!!!

พระยามหิบาลบริรักษ์กับคุณหญิงอุ๊น

ความรักของหม่อมศรีพรหมมา ปฏิเสธเป็นเจ้าจอม ร.๕ ขอแค่ชายาชาวไร่!!!

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช

ความรักของหม่อมศรีพรหมมา ปฏิเสธเป็นเจ้าจอม ร.๕ ขอแค่ชายาชาวไร่!!!

ครอบครัวอันอบอุ่น ยุคบุกเบิกไร่บางเบิด

ความรักของหม่อมศรีพรหมมา ปฏิเสธเป็นเจ้าจอม ร.๕ ขอแค่ชายาชาวไร่!!!

ม.จ.สิทธิพรกับแตงโมบางเบิด

ความรักของหม่อมศรีพรหมมา ปฏิเสธเป็นเจ้าจอม ร.๕ ขอแค่ชายาชาวไร่!!!

คู่ทุกข์คู่สุขในวัยชรา

ความรักของหม่อมศรีพรหมมา ปฏิเสธเป็นเจ้าจอม ร.๕ ขอแค่ชายาชาวไร่!!!

ตำราชวนให้ทำไร่เพิ่มจากทำนา



สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความรัก #หม่อมศรีพรหมมา ปฏิเสธ เจ้าจอม ร.๕ ขอแค่ ชายาชาวไร่

view