สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลิกคำวินิจฉัย กกต. ต้นตอตัดสิทธิการเมือง นักเลือกตั้ง

จากประชาชาติธุรกิจ

รายงาน

ปมการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนักการเมือง ที่ปัจจุบันบัญญัติศัพท์ใหม่ใช้เรียกแทนคือ "แช่แข็ง" นักการเมือง

ผ่านมากว่า 8 ปี ที่คำว่า "เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" บัญญัติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2550 คนบ้านเลขที่ 111 และคนบ้านเลขที่ 109 ต่างรู้ดีว่าผลของการถูกแช่แข็งขมขื่นเพียงใด

แต่การร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ยังหยิบยกการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกับการเพิกถอนสิทธิลงสมัคร ส.ส.มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

แม้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 มาตรา 97 กำหนดเพียงว่า บุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น จะจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ไม่ได้เท่านั้น

แต่พิษของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปไกลกว่าลายลักษณ์อักษรที่บัญญัติในกฎหมาย อันทำให้นักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนับจากนั้นไม่กล้ากระดิกตัว



กระทั่งคำว่า "เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" ถูกแปลงไปเป็นคำว่า "ตัดสิทธิการเมือง"


ที่มาของการตีความสภาพบังคับ ให้ไปไกลเกินกว่าเนื้อหากฎหมายมีที่มาจากการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในยุคที่ อภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2550 ก่อนการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 เดือนเศษ

ในช่วงเวลาที่อำนาจสูงสุดทางการเมืองยังเป็นของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ภายใต้ผลการยุบพรรคไทยรักไทย และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้งยวง

เมื่อมีคนการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแตกตัวหนีตายออกจากไทยรักไทย ไปอยู่เบื้องหลังปั้นพรรคการเมืองใหม่หลายพรรค สงสัยว่ากรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสามารถช่วยหาเสียงเลือกตั้งได้หรือไม่

กกต.ได้หารือกับบรรดานักกฎหมาย ทีมกฎหมายของ กกต.แล้วสรุปโดย "อภิชาต" ซึ่งตอบคำถามถึงขอบเขตของคำว่า "เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" ไว้อย่างชัดเจน และกลายเป็นกฎเหล็ก "แช่แข็ง" นับแต่นั้น

"อภิชาต" กล่าวภายหลังการประชุม กกต. เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2550 หลังจากได้พิจารณาหนังสือของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ แกนนำพรรคพลังประชาชน ที่ขอหารือเกี่ยวกับการปราศรัยหาเสียงของผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และที่ประชุมมีมติว่า

"บุคคลซึ่งเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งร่วมกับพรรคพลังประชาชน หรือเป็นวิทยากรขึ้นกล่าวเวทีปราศรัยหาเสียงได้ โดย กกต.เห็นว่าบุคคลที่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคจะใช้อำนาจหรือกระทำการเช่นเดียวกับกรรมการบริหารพรรคไม่ได้ และตามข้อบังคับพรรคพลังประชาชนข้อ 12 (3) ก็ระบุว่า กรรมการบริหารพรรคมีอำนาจหน้าที่รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไป รวมทั้งการปราศรัยหาเสียงก็ถือเป็นการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งด้วย"


"ส่วนกรณีการแต่งตั้งที่ปรึกษานโยบายและยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อแผ่นดิน กกต.มีมติว่าบุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของพรรคที่ถูกยุบตามมาตรา 94 ไม่สามารถรับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานโยบายและยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อแผ่นดิน เพราะตามมาตรา 17, 18 และ 44 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไว้เป็นการเฉพาะ"

"ดังนั้น หากบุคคลใดที่ไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือมีตำแหน่งที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นในพรรคการเมือง ได้เข้าไปใช้อำนาจหน้าที่หรือกระทำการอันมีลักษณะเช่นเดียวกับกรรมการบริหารพรรค ก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำดังเช่นกรรมการบริหารพรรค ซึ่งอาจถือได้ว่าขัดมาตรา 97 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ห้ามกรรมการบริหารพรรคที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค"

"ส่วนกรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ปรึกษาพรรคมัชฌิมาธิปไตย ถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตนของผู้ที่อยู่ระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งว่า จะสามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นแล้ว หรือตั้งขึ้นใหม่ โดยไม่มีตำแหน่งในการบริหารพรรคการเมืองได้หรือไม่ ซึ่ง กกต.ได้มีมติในเรื่องนี้ว่า ไม่สามารถกระทำได้ รวมทั้งที่มีการหารือว่า ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสามารถที่จะถ่ายรูปคู่กับผู้สมัครเพื่อใช้ในการหาเสียงได้หรือไม่ กกต.ได้มีมติในเรื่องนี้ว่า ไม่สามารถทำได้"


แม้ว่าในเวลาต่อมาจะมีคนการเมืองหลายรายพยายามลองของ ลองวิชากับ กกต. ก็มักจะถูกโยนกลับไปว่า ถ้าอยากลองก็ทำดู

แต่ก็ไม่มีใครกล้าฝืนกฎเหล็กดังกล่าวอีกเลย และปมการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิการสมัคร ส.ส. กำลังจะหวนกลับมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง และพิษของมันกำลังจะร้ายแรงกว่าเดิม


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พลิกคำวินิจฉัย กกต. ต้นตอ ตัดสิทธิการเมือง นักเลือกตั้ง

view