สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เผยผลสำรวจคนไทยกว่า 45% ไม่ระวังการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคล

จากประชาชาติธุรกิจ

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จับมือสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งเอเชีย (AsianSIL) จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ความเป็นส่วนตัว” (Privacy) ระหว่างการประชุมนานาชาติของสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งเอเชีย ครั้งที่ 5 (The 5th Biennial Conference of the AsianSIL 2015) 

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธาน AsianSIL 2014-2015 กล่าวในการเปิดงานว่า ด้วยปริมาณของอุปกรณ์ดิจิทัลและแอปพลิเคชันรูปแบบใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น จำนวนข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) ที่มีการเรียกร้องให้ป้อนเข้าระบบก็ยิ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น  นำไปสู่ปัญหาความเป็นส่วนตัว (Privacy) ได้ง่าย ยิ่งมีการใช้วิธีเลี่ยงปัญหาด้วยการสร้างซอฟต์แวร์และบริการเพื่อปิดบังตัว ตน (Anonymity) ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  ยิ่งเปิดโอกาสให้เครื่องมือเหล่านี้ถูกอาชญากรไซเบอร์นำมาใช้เพื่ออำพรางตัว เองด้วยเช่นเดียวกัน

ดังนั้น สิ่งที่เป็นความท้าทายอย่างที่สุดในเวลานี้อย่างหนึ่งคือ เราจะสร้างสมดุลของการรักษาความเป็นส่วนตัว และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ไปพร้อมกันได้อย่างไร

ด้านนาง สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวว่า  ด้วยความก้าวหน้าของระบบอินเทอร์เน็ต การเติบโตของโซเชียลมีเดีย การใช้งานไอทีในการบริหารจัดการ ทำให้เกิดปริมาณของข้อมูล (Data) และสารสนเทศ (Information) ที่เป็นทั้งข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลทางธุรกิจเกิดขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกละเมิดและนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือ ThaiCERT (ไทยเซิร์ต) รายงานว่า ในช่วง  6 เดือนที่ผ่านมาได้มีการรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ ทั้งหมด 2,534 รายงาน แบ่งออกเป็น การโจมตีจากโปรแกรมไม่พึงประสงค์ (Malicious Code) 900 รายงาน คิดเป็น 35.52% ตามด้วย การบุกรุกหรือเจาะระบบได้สำเร็จ (Intrusion) 663 รายงาน คิดเป็น 26.16% การฉ้อฉลฉ้อโกงหรือหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ (Fraud) 638 รายงาน หรือ 25.18% และความพยายามบุกรุกเข้าระบบ (Intrusion Attempt) 329 รายงาน หรือ 12.98%

“แม้คนไทยส่วนมากจะตระหนักถึงความสำคัญ ของ Privacy ความเป็นส่วนตัว  แต่ก็พบว่า ยังมีผู้ใช้เทคโนโลยีหรือผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอีกเป็นจำนวนไม่น้อย ที่ขาดความระวังในการให้ข้อมูลส่วนบุคคลบนออนไลน์ จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในปีนี้ พบว่า 45.8% ของผู้ตอบแบบสอบถามแสดงข้อมูลส่วนบุคคลบนออนไลน์อย่างเปิดเผย ขณะที่ 36.4% ไม่ได้สร้างข้อกำหนดในการขออนุญาตในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว และ 70.7% ที่ยอมรับว่าได้แชร์รูปและข้อมูลส่วนตัวกับคนทั่วไป หรือ Public” สุรางคณา กล่าวและว่า

ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอยู่ในร่างกฎหมาย “ชุดเศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้ว ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและแก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนเพื่อเตรียมส่งเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อการพิจารณาก่อน เสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติในลำดับต่อไป


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เผยผลสำรวจ คนไทยกว่า 45% ไม่ระวัง การแชร์ข้อมูลส่วนบุคคล

view