สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

TPP...จะทำอย่างไร วันที่ไทยยังไม่ควรเข้าร่วม

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผอ.ฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ

ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) ที่ 12 ชาติ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บรูไน ชิลี เปรู ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ลงนามร่วมกันไปเรียบร้อยโรงเรียนสหรัฐเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กระทั่งแต่ละประเทศเริ่มทยอยเผยแพร่ข้อบท (Text) ฉบับจริงออกมาแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน หากแต่ยังคงต้องใช้เวลาร่วมเดือนในการแปล ด้วยมีเนื้อหาละเอียดและมีจำนวนมากนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความตกลงนี้ก็ได้สร้างกระแสความกังวลว่า ไทยจะตกขบวนรถไฟสายทีพีพีที่มีขนาดเศรษฐกิจของ 12 ประเทศสมาชิกถึง 40% ของเศรษฐกิจโลก และความกังวลที่เกิดนี้ก็พอเข้าใจได้ เพราะไทยเคยเจ็บตัวมาก่อนจากประสบการณ์ในทำนองเดียวกันนี้

ดังเช่น เรื่องเขตการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-เกาหลี ที่ในรอบแรก 9 ประเทศอาเซียน ยกเว้นแต่ไทยที่ไม่ได้ลงนาม เนื่องจากต้องการให้เกาหลีเปิดตลาดข้าวให้ไทย แต่เกาหลีไม่ยอม ทำให้ไทยเสียโอกาสในการขายข้าวเข้าเกาหลีเหมือนเดิม พ่วงด้วยการเสียตลาดกุ้งให้เวียดนาม ที่สามารถส่งออกไปเกาหลีด้วยอัตราภาษีศุลกากร 0%




สำหรับเรื่องนี้ก่อนจะตัดสินใจว่าควรร่วมหรือไม่ควรร่วมกลุ่มทีพีพี คงต้องตั้งคำถามก่อนว่า "ไทยจำเป็นเพียงใดที่จะต้องกระโดดขึ้นรถไฟขบวนนี้" และปลายทางที่ขบวนรถไฟกำลังมุ่งหน้าไปนั้นอยู่ในทิศทางที่มั่งคั่งหรือดิ่งเหว

กะแรกต้องพิเคราะห์จากเป้าประสงค์ในการผลักดันทีพีพีของนายบารัก โอบามา ก่อน ว่าไม่ได้มีเหตุผลเพียงผลักดันการเติบโตด้านเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่าง 12 ประเทศเท่านั้น หากแต่ยังมีเหตุผล ด้านเศรษฐกิจการเมือง (Political Economy) จากความต้องการให้สหรัฐสามารถพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนผ่านการบังคับใช้กฎหมายของตนในประเทศอื่น ๆ และต้องการวางตำแหน่งให้สหรัฐกลายเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าของโลกผ่านข้อตกลง 2 ฉบับ คือ ทีพีพี (Trans-Pacific Partnership : TPP) และทีทีไอพี (Trans-Atlantic Trade and Investment Partnership : TTIP) เพื่อคานอำนาจกับ กระแสบูรพาภิวัตน์ คือ มีจีน อินเดีย และอาเซียนเป็นแกนกลาง

จึงไม่แปลกที่การเจรจาที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความไม่โปร่งใสและเป็นไปในลักษณะเร่งรัดกระบวนการทำให้ก่อนนี้ชาวเยอรมันกว่า 2.5 แสนคน ได้ออกมาคัดค้านการเจรจาทีทีไอพี ขณะที่ชาวนาญี่ปุ่นก็ออกโรงคัดค้านทีพีพีด้วยว่า ญี่ปุ่นไม่เคยเปิดตลาดข้าวให้ประเทศใดมาก่อน

แต่ทีพีพีทำให้ญี่ปุ่นยอมให้ต่างชาติส่งข้าวเข้ามาตีตลาดได้ นอกจากนี้ สมาชิกทีพีพียังต้องเปิดตลาดสินค้าเกษตรอื่น ๆ เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม หรือแม้แต่ความกังวลเกี่ยวกับการดัมพ์ตลาดของสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมูและไก่จากผู้ผลิตรายใหญ่อย่างสหรัฐ ซึ่งสินค้าเกษตรเหล่านี้ไทยเราพยายามปกป้องมาตลอด

คำถามสำคัญคือ วันนี้ไทยเราพร้อมแล้วหรือที่จะต้องเปิดตลาดข้าว นมและผลิตภัณฑ์นม หรือแม้แต่สินค้าปศุสัตว์ให้ต่างชาติเข้ามาตีตลาดไทย

ขณะที่เมื่อมองถึงกลุ่มสินค้าที่บางฝ่ายกังวลว่าจะสูญเสียตลาดหากไทยไม่เข้าร่วมทีพีพีคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยระยะสั้นมีความกังวลว่ารถยนต์ที่ผลิตในไทยจะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ เนื่องจากรถของไทยที่จะส่งออกไปสหรัฐจะโดนจัดเก็บภาษี ขณะที่รถยนต์ที่มีถิ่นกำเนิดในเวียดนามจะไม่เสียภาษีดังกล่าว

และด้วยกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ที่กำหนดว่าสินค้าต้องผลิตในประเทศสมาชิกทีพีพี 45-55% ของมูลค่ารถยนต์จึงจะได้สิทธิ์ภาษี 0% จึงเกิดเป็นข้อกังวลว่าระยะยาวแล้วผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในไทยจะย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม

หากแต่ข้อเท็จจริงคือปัจจุบันรถยนต์ส่งออกส่วนใหญ่ของเราคือรถกระบะ ขณะที่ตลาดที่เรากลัวจะสูญเสียไปคือตลาดสหรัฐ เขาไม่ได้ขับรถกระบะที่เราผลิต เพราะคนอเมริกันนิยมขับรถยนต์อเนกประสงค์ เช่น ฮอนด้า โอดิสซีย์ ส่วนกระบะคันใหญ่นิยมขับ เช่น โตโยต้า ทุนดร้า สำหรับรถตู้ขนาดใหญ่นิยมฟอร์ด ทรานสปอร์ตเตอร์ ซึ่งที่กล่าวมานั้นส่วนใหญ่ไทยเราไม่ได้ผลิต ที่สำคัญสหรัฐเองก็ป้องกันการสูญเสียตลาดไว้แล้ว โดยปัจจุบันภาษีนำเข้ารถกลุ่มนี้ของสหรัฐอยู่ที่ 14.5-25% และสหรัฐจะขอจัดเก็บภาษีในรายการนี้ต่อไปอีก 30 ปี

นอกจากนี้ จากข้อตกลงทำให้เวียดนามต้องมีมาตรฐานต่าง ๆ เช่น มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนสูงตามไปด้วย แต้มต่อที่เวียดนามได้จากการส่งออกอีโคคาร์ไปสหรัฐ ภายใต้ภาษี 0% ดีกว่าไทย 2.5% ก็อาจไม่คุ้มค่าให้ผู้ประกอบการเสียต้นทุนจากการย้ายฐาน เห็นความจริงทั้งหมดแล้ว เรื่องรถยนต์จึงยังไม่ต้องกังวลจนเกินไปนัก

ส่วนที่ผมมองว่าเราน่าจะเสียประโยชน์จริง ๆ คือ "สิ่งทอ" เพราะปัจจุบันสหรัฐจัดเก็บภาษีขาเข้าที่ 17-21% และจะลดลงมาเป็น 0% ให้สมาชิกทีพีพี แต่ก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า สิ่งทอคืออุตสาหกรรมที่ไทยไม่ได้มีความสามารถทางการแข่งขันในฐานะผู้ผลิตอีกต่อไป หากแต่เจ้าของกิจการชาวไทยเริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน อาทิ กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งได้สิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐและสหภาพยุโรปอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งคือ "กุ้ง" เพราะปัจจุบันภาษีอยู่ที่ 6.4-7.2% ถ้าหากไทยไม่เข้าร่วม TPP เราอาจเสียส่วนแบ่งทั้งสองตลาด (สหรัฐและยุโรป) ให้กับคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม

สำหรับปัญหาของการเข้าร่วมทีพีพีที่หลายประเทศกังวลอย่างมากคือเรื่องการผูกขาดสิทธิบัตรยา การเปิดเสรีให้กับพืช GMOs รวมถึงกฎเกณฑ์ด้าน ทรัพย์สินทางปัญญา ในระดับรุนแรงอย่างสุดขั้ว ซึ่งมูลค่าความเสียหายจากประเด็นทางด้านสังคมเหล่านี้จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกร และประชาชนทั่วไปทุกภาคส่วน ในขณะที่ต้องยอมรับกันว่าผลประโยชน์จาก TPP ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการซึ่งเป็นคนเพียงจำนวนน้อยที่มีฐานะดีอยู่แล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผมมองว่าไทยต้องทำเรื่องสำคัญ 4 เรื่อง อันได้แก่ 1.หาลู่ทางไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ซึ่งได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) และเวียดนามที่ได้สิทธิประโยชน์จากทีพีพี 2.ต้องศึกษาข้อดี-ข้อเสียของการทำข้อตกลงทางการค้าอย่างละเอียด ไม่เฉพาะแต่ทีพีพีทั้งเชิงเศรษฐกิจ-ธุรกิจ-สังคมคุณภาพชีวิต และวางยุทธศาสตร์การเจรจาที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม 3.วางตำแหน่งประเทศให้ดีทั้งในเกมภูมิ-รัฐศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างมหาอำนาจใหม่อย่างจีนและพันธมิตร และมหาอำนาจเก่าอย่างสหรัฐ

4.ปรับโครงสร้างภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจของประเทศใหม่ เราไม่สามารถพึ่งพาการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่บนการส่งออก โดยใช้แต่สิทธิประโยชน์ทางการค้าและแรงงานต่างด้าวราคาถูก แต่ไทยต้องมีมาตรฐานสูงขึ้น มีเทคโนโลยีดีขึ้น สิ่งแวดล้อมสะอาดขึ้น และระบบเศรษฐกิจที่พอเพียงและพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ รวมทั้งต้องพยายามปรับปรุงมาตรฐานและการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ให้ได้ในระดับเดียวกันกับ TPP เพราะต้องยอมรับเช่นกันว่าในอนาคตมาตรฐานของ TPP จะเกิดขึ้นและเราต้องปรับตัวให้ได้ แม้จะไม่ได้เข้าร่วม TPP ก็ตาม

หากทำได้ทั้งหมดนี้ เชื่อว่าไม่ว่าไทยจะขึ้นหรือไม่ขึ้นไปบนขบวนรถไฟสายทีพีพีก็ตาม แต่ไทยจะมีความเข้มแข็งและแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจได้มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : TPP ทำอย่างไร ไทยยังไม่ควรเข้าร่วม

view