สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พื้นฐานการสร้างนวัตกรรมของธุรกิจ

พื้นฐานการสร้างนวัตกรรมของธุรกิจพื้นฐานการสร้างนวัตกรรมของธุรกิจ
โดย : เรวัต ตันตยานนท์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เมื่อธุรกิจต้องการสร้างนวัตกรรมหรือปรับปรุงขีดความสามารถด้วยการนำเสนอสิ่งใหม่ออกสู่ตลาด สิ่งแรกหนีไม่พ้นการกำหนดนโยบายและประกาศนโยบายนั้น

เพื่อให้บุคลากรทั้งหมดในธุรกิจได้ทราบถึงนโยบายและเจตนารมณ์นี้อย่างทั่วถึง

ส่วนในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้จริง จะต้องขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่ธุรกิจจะนำมาใช้

การกำหนดกลยุทธ์นวัตกรรม เป็นศาสตร์อีกสาขาหนึ่งซึ่งในโรงเรียนธุรกิจหลายๆ แห่งยังไม่มีการนำมาบรรจุลงในหลักสูตร ทำให้มุมมองและแนวคิดเรื่องการทำนวัตกรรมของผู้บริหารธุรกิจรุ่นใหม่ ยังขาดพื้นฐานหรือองค์ความรู้ที่สำคัญในการสร้าง การบริหาร และการจัดการนวัตกรรม ภายในธุรกิจของตนเอง

ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมเชิงธุรกิจ จะเกิดขึ้นมาจากความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทต่างๆ ของนวัตกรรม และพฤติกรรมหรือธรรมชาติของนวัตกรรมที่ถูกแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ เหล่านี้

การเลือกประเภทของนวัตกรรมให้ตรงกับธรรมชาติ ความชำนาญ และความเชี่ยวชาญ ของธุรกิจ จะทำให้ธุรกิจสามารถพัฒนาแนวคิดนวัตกรรม ลงมือสร้าง และบริหารนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ไปได้อย่างประสบความสำเร็จ

นักวิชาการในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายกลุ่ม ที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจที่ได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจนวัตกรรมเพื่อหาข้อมูลที่จะนำมาสรุปและแยกประเภทว่า ความสำเร็จด้านนวัตกรรมที่เกิดขึ้นนั้น มีลักษณะเป็นเช่นใด และจะสามารถนำมาเป็นพื้นฐานให้ธุรกิจอื่นๆ นำมาเป็นแบบอย่างได้หรือไม่

ทำให้เกิดการแบ่งประเภทย่อยของคำว่า “นวัตกรรม” เพื่อแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จทางนวัตกรรมในประเภทที่ต่างกัน อาจไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิงเลยก็ได้

ดังนั้น หากผู้บริหารที่ต้องการสร้าง “นวัตกรรม” ให้กับธุรกิจของตน โดยไม่สามารถอธิบายความหมายได้ว่า นวัตกรรมที่ต้องการสร้างนั้น จะมีลักษณะเช่นใด มีระดับของความใหม่เป็นอย่างไร จุดเริ่มต้นของการพัฒนาควรจะอยู่ที่ไหน จะต้องใช้บุคลากรหรือองค์ความรู้ใหม่ด้านใดมาสนับสนุน ฯลฯ

หรือมองคำว่า “นวัตกรรม” ในรูปแบบขององค์รวม ไม่ได้แยกแยะในรายละเอียด ก็คงจะทำให้ความต้องการในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความเป็นธุรกิจนวัตกรรม ต้องใช้เวลายาวนานเกินไป

มีนักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเสส หรือ MIT และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ร่วมกันศึกษาวิจัยลักษณะขององค์กรธุรกิจนวัตกรรมในอุตสาหกรรมต่างๆ แล้วนำมาสรุปรูปแบบของการทำนวัตกรรมออกได้เป็น 4 ประเภท

ได้แก่นวัตกรรมแบบต่อยอด (Incremental Innovation) นวัตกรรมจากองค์ประกอบหรือชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ (Modular Innovation) นวัตกรรมเชิงสถาปัตยกรรมของผลิตภัณฑ์ (Architectural Innovation) และนวัตกรรมแบบพลิกโฉม หรือนวัตกรรมแบบเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง (Radical Innovation)

โดยดูจากมิติของ การออกแบบแนวคิดหลัก (Core Concept) ของการทำงานของชิ้นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ และแนวคิดใหม่ในการนำชิ้นส่วนอุปกรณ์มาต่อเชื่อมกัน (Linkage) เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพหรือรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นหรือใหม่กว่า ซึ่งนำไปสู่การแบ่งประเภทของนวัตกรรมได้ดังกล่าว

การแบ่งประเภทของนวัตกรรมแบบนี้ รู้จักกันดีในหมู่ของนวัตกรหรือผู้บริหารนวัตกรรมเชิงผลิตภัณฑ์ว่า “Henderson and Clark Matrix” ตามชื่อของนักวิจัยทั้ง 2 ที่เป็นผู้นำเสนอแนวคิดนี้ไว้ตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งแสดงการแบ่งประเภทนวัตกรรมออกเป็นรูปตาราง 4 ช่อง

การทำ นวัตกรรมแบบต่อยอด เป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพียงเล็กน้อย โดยใช้ประโยชน์จากรูปแบบของผลิตภัณฑ์เดิมที่ได้รับการยอมรับในตลาดอยู่แล้ว และมักจะนำการสร้างนวัตกรรมแบบนี้มาใช้เพื่อเสริมการเป็นผู้นำของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว แม้ว่าการสร้างนวัตกรรมแบบนี้จะไม่ต้องใช้วิทยาการใหม่ แต่ต้องอาศัยทักษะและความคิดสร้างสรรค์มาสนับสนุน เมื่อทำอย่างต่อเนื่องระยะยาว ก็จะสร้างผลตอบแทนให้ธุรกิจได้อย่างดี

นวัตกรรมแบบพลิกโฉม หรือ นวัตกรรมแบบเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง จะถือว่าอยูในมิติที่สุดขั้วหนึ่งของประเภทนวัตกรรมที่ตรงข้ามกับนวัตกรรมแบบต่อยอด โดยมักจะเป็นการอาศัยหลักการใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดตลาดใหม่และการประยุกต์ใช้งานที่มีศักยภาพ การสร้างนวัตกรรมแบบนี้ มักจะเป็นเรื่องยากสำหรับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แล้ว เพราะต้องมีการเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนประกอบที่คุ้นเคยอยู่แล้ว และต้องใช้วิธีการประกอบหรือเชื่อมต่อชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันด้วยวิธีใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน

ในการทำ นวัตกรรมชิ้นส่วนประกอบ จะมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนประกอบเดิม ไปใช้ชิ้นส่วนประกอบที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ แต่ระบบในการทำงานยังคงเหมือนเดิม เช่น ในเครื่องโทรศัพท์ที่เปลี่ยนจากระบบอนาล็อกไปเป็นดิจิทัล โดยเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ใช้หมุนตัวเลขไปเป็นแบบปุ่มกด แสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบชิ้นส่วนหลัก แต่สถาปัตยกรรมภายในของเครื่องโทรศัพท์ยังเป็นแบบเดิม

ส่วนแนวคิดการทำ นวัตกรรมเชิงสถาปัตยกรรมผลิตภัณฑ์ คือ การเปลี่ยนแปลงระบบภายในของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เพื่อเชื่อมต่อชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ในรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าชิ้นส่วนต่างๆ จะไม่ถูกกระทบกระเทือนจากการทำนวัตกรรมเชิงสถาปัตยกรรมเลย จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมนี้ มักเกิดจากความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนประกอบ ซึ่งอาจเป็นเป็นเรื่องของขนาด หรือการเปลี่ยนองค์ประกอบย่อยของรูปแบบเดิม ที่ทำให้ต้องเปลี่ยนระบบความสัมพันธ์และการเชื่อมต่อระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ในผลิตภัณฑ์เดิม ประเด็นที่สำคัญคือ การออกแบบหลักของแต่ละชิ้นส่วน รวมถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในแง่วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของชิ้นส่วนจะยังคงเดิม

จะเห็นได้ว่า ธุรกิจอาจจะเลือกกลยุทธ์ในการสร้างนวัตกรรมได้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างและแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาใช้ในธุรกิจและการยอมรับที่จะละทิ้งองค์ความรู้เก่าที่สะสมไว้ในธุรกิจเดิมออกไป

ไม่ว่าจะใช้กลยุทธ์เพื่อสร้างนวัตกรรมประเภทใดก็ตาม ธุรกิจควรศึกษาและพิจารณาให้รอบคอบก่อนว่านวัตกรรมใดจะเหมาะสมที่สุดกับลักษณะ องค์ความรู้ และวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมที่มีอยู่ในองค์กร


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พื้นฐาน การสร้างนวัตกรรมของธุรกิจ

view